ย้ำ ต้องเร่งตระหนัก ให้ความสำคัญ ‘ระบบจัดการชุมชน’ ควบคู่กับระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ครอบคลุม ช่วยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 67 ในการเสวนาวิชาการ “ก้าวสู่ศตวรรษที่ 3 กับระบบการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้วยการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า” ภายในงาน “รำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย” ณ โรงแรม มาริออท เขาหลัก บ้านน้ำเค็ม มีการแบ่งห้องย่อยตามประเด็นต่าง ๆ
โดยในห้องย่อยที่ 5 พูดถึงประเด็น รู้ รับ ปรับตัว ผ่านการสร้างความตระหนัก ซึ่ง UNDRR หรือ สํานักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction) โดยจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม ผ่านสถานการณ์ซ้อมหนีภัย ผ่านการแสดงบทบาทสมมุติ สะท้อนความจำเป็นของการทำงานร่วมกันในชุมชน ควบคู่กับระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ครอบคลุม
ตัวแทนจากหน่วยงานอย่างกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการต่างประเทศ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), หอการค้าจังหวัดพังงา, เครือข่ายชุมชนบ้านน้ำเค็ม, กรุงเทพมหานคร, ครู นักเรียน จากโรงเรียนมีชัยพัฒนา มาร่วมเล่นกิจกรรมสถานการณ์จำลอง ที่ทุกคนจะได้รับบทบาทที่ต่างกันในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แสดงเป็นผู้ใหญ่บ้าน นักท่องเที่ยว ที่ต้องหนีภัยพิบัติภายใน 15 นาที
สุนิสา โฮ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แจกโจทย์ให้กับผู้เข้าร่วม นั่นคือ “มีการประกาศเตือนภัยสึนามิผ่านเสียงตามสาย ณ หมู่บ้านชาวประมงน้ำใสใจจริง ตามที่ได้มีการฝึกซ้อมแผนเมื่อปีที่แล้ว ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และ อพปร. จะต้องทำหน้าที่ช่วยอพยพชาวบ้านในหมู่บ้านไปที่ศูนย์อพยพ”
หลังจบกิจกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่รอดชีวิต และไปยังศูนย์อพยพได้ทัน แต่ภาพความวุ่นวายภายในห้องกิจกรรม เสียงการคุยกันทับซ้อน หรือภาพของคนต่างสัญชาติที่คุยกันไม่รู้เรื่อง ก็สะท้อนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของระบบการจัดการในชุมชน ประเด็นหลักของงานที่ UNDRR พยายามผลักดัน
UNDRR ทำงานภายใต้ กรอบเซนได (Sendai Framework) ที่มีเป้าหมายลดความสูญเสีย เป็นที่มาของการเจาะประเด็น “ระบบเตือนภัยที่ดีและมีประสิทธิภาพ” เพื่อลดความสูญเสียทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน โดยระบบเตือนภัยที่ดีนี้ สามารถต่อยอดมาจากโครงการของ UNDRR อย่างเช่น EW4All (ระบบเตือนภัยที่ครอบคลุมทุกคน) และ MHEWS Scorecard (เครื่องมือให้คะแนนระบบการเตือนภัยหลากหลายรูปแบบ) ทำให้เกิดเมืองที่พร้อมรับมือภัยพิบัติ (Making Cities Resilient)
สุนิสา ยังเล่าถึงโครงการ Making Cities Resilient ที่ทำงานอยู่กับ เนปาล, บังกลาเทศ, ไทย, ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศฝั่งทะเลแปซิฟิก ว่า “โครงการนี้ช่วยให้ชุมชนรู้ว่าทำอะไรได้ดี หรือมีบางอย่างที่ขาดไปอยู่ ตัว Scorecard จะช่วยให้เข้าใจว่าสิ่งที่ขาดไปคืออะไร ให้เข้าใจว่าชุมชน พื้นที่ ท้องถิ่นของเรา มีจุดไหนที่ต้องให้ความสำคัญ”
ยกตัวอย่างการใช้งาน Scorecard ที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งได้มีการลงไปใช้ร่วมกับนายกเทศมนตรีเองเลย จนได้มุมมองใหม่เรื่องภัยธรรมชาติมา ว่า จริง ๆ แล้วปัญหาของพิษณุโลกไม่ได้อยู่ที่มวลน้ำที่ไหลเข้ามาท่วม แต่กลับอยู่ที่ทรัพยากรน้ำดื่มน้ำใช้ที่ไม่เพียงพอเมื่อภัยมาต่างหาก ส่วนมัลดีฟส์ก็ได้มีความพยายามปรับนโยบายให้สอดคล้องมากขึ้น โดยที่ UNDRR ได้ร่วมงานกับชุมชนที่เข้มแข็งมาก ๆ แต่สุดท้ายก็ผลักดันให้เกิดอะไรยังไม่ได้
Marco Toscano-Rivalta หัวหน้าสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงการดำเนินงานของ UNDRR ที่ร่วมมือกับเยาวชนในพื้นที่ สะท้อนการทำงานร่วมกัน สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชน “เพราะต่อไป โลกนี้ ก็จะเป็นของเขา”
“บทบาทท้องถิ่นสำคัญมาก เราจะต้องสะท้อนเสียงของเราไปถึงระดับท้องถิ่น ระดับส่วนกลาง เพราะการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน รัฐหรือเอกชน จะสามารถเปลี่ยนให้โลกและให้พื้นที่ของเรายืดหยุ่นต่อภัยพิบัติมากขึ้นได้”
Marco Toscano-Rivalta
นอกจากนี้ Marco ยังกล่าวถึงประเทศไทย ว่า เป็นประเทศที่มีความรู้เรื่องการรับมือภัยเยอะ และสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ประเทศอื่น ๆ ได้ แถมยังเป็นภาพตัวอย่างการร่วมกันสร้างเมือง สร้างชุมชนที่ปลอดภัยกันระหว่างหลายหน่วยงาน