ครู กทม. ปฏิบัติภารกิจรับส่งนักเรียน ข้ามทางม้าลาย ถูกรถชนบาดเจ็บสอดคล้อง ผลสำรวจมูลนิธิไทยโรดส์ พบพฤติกรรมหยุดรถบนทางม้าลายเพียง 11%
วันนี้ (17 ส.ค.65) The Active ได้รับแจ้งอุบัติเหตุบนทางม้าลาย บริเวณด้านหน้า โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บคือ อภินันท์ ดำเกลี้ยง ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ ประสบอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนได้รับบาดเจ็บ ด้านหน้าโรงเรียน ในระหว่างปฏิบัติภารกิจเดินรับส่งเด็กนักเรียนข้ามถนนเข้าโรงเรียน
“ทุกเช้าจะมีครูผู้ชาย และภารโรง ยืนคนละฝั่งของโรงเรียน เพื่อยกธงแดงเป็นสัญลักษณ์ให้รถหยุดให้เด็ก ๆ ข้ามถนนเข้าโรงเรียน แต่ส่วนใหญ่รถไม่หยุด โดยเฉพาะ รถมอร์เตอร์ไซค์”
อภินันท์ ดำเกลี้ยง ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนวิชูทิศ ย่านดินแดง เป็นโรงเรียนสังกัด กทม. ที่ดูแลนักเรียน ตั้งแต่ชั้น อนุบาล – ม. 6 มีเด็กทั้งสิ้น 1,600 คน ครูและบุคลากร 112 คน ตั้งอยู่บน ถนนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุกับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และภารโรงมาแล้วหลายครั้ง เฉลี่ย 1-2 ครั้งต่อเดือน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ เช่น การนำธงมาวางไว้ทั้ง 2 ฝั่งของถนนให้เด็กๆ ปลอดภัยเมื่อต้องข้ามถนน แต่ก็ไม่เป็นผล รถไม่ยอมหยุดให้เช่นเดิม จึงฝากถึง การบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ควรเข้มงวด เป็นรูปธรรม รวมถึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าด้านหน้าของโรงเรียนก็ยังไม่มีสัญญาณไฟจราจร ทั้งที่เป็นจุดเสี่ยง ทีเกิดปัญหาบ่อยครั้ง
มูลนิธิไทยโรดส์ พบ พฤติกรรมหยุดรถบนทางม้าลายน้อยเพียง 11%
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับ ผลการสำรวจของมูลของมูลนิธิไทยโรดส์ (Thai Roads) ที่พบว่า พฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางข้าม ทางม้าลาย ในเขตกรุงเทพมหานคร มีเพียง 11% เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำรวจในช่วงวันที่ 25-27 มกราคม 2565 ช่วงเวลา 9.00-16.00 น. ใน 12 จุดข้ามทางม้าลาย ที่ไม่ได้อยู่ใกล้บริเวณทางแยกสัญญาณไฟจราจรในเขตกรุงเทพฯ พบว่า จากรถทั้งหมด 14,353 คัน แต่มีเพียง 11% ที่หยุดรถเมื่อเห็นคนมายืนรอบริเวณทางข้ามถนน ขณะที่ รถจักรยานยนต์ จัดเป็นกลุ่มยานพาหนะที่มีแนวโน้มจะหยุดรถเมื่อมีคนมายืนรอบริเวณทางข้าม น้อยกว่าพาหนะประเภทอื่น
นอกจกานี้ รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ช่วงปี 2561-2564 ยังพบด้วยว่า “คนเดินเท้า” ถือเป็นกลุ่มผู้ใช้ถนนที่เปราะบาง และเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น โดยสถิติข้อมูลคดีอุบัติเหตุจราจร ตั้งแต่ปี 2554-2563 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีคนเดินเท้าที่ได้รับอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,500 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 7 คน ซึ่ง 1 ใน 3 ของอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นกับคนเดินเท้าทั้งหมด เกิดขึ้นในพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ ในเขต กทม.