จับตา ดีเดย์กฎหมายจราจรใหม่ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายเพิ่มโทษปรับ 4 เท่า จากเดิม 1,000 บาท ปรับเป็น 4,000 บาท
หลังเหตุการณ์ ครูอภินันท์ ดำเกลี้ยง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวิชูทิศ โรงเรียนสังกัด กทม. ย่านดินแดง ถูกรถชน ขณะกำลังถือธงนำนักเรียนข้ามทางม้าลายได้รับบาดเจ็บ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 เพจ The Active และ ช่อง 3 ได้นำเสนอประเด็นนี้ออกไปไม่นาน
The Active ได้รับแจ้งจากคุณครูอภินันท์ว่า มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการศึกษา กทม./ สำนักจราจรและขนส่ง กทม./สำนักเขตดินแดง โดยผู้อำนวยการเขต /และ สสส. และ นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. ลงตรวจพื้นที่ และดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ทั้ง ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ทาสีทางม้าลายใหม่ เพิ่มลูกระนาดบริเวณด้านหน้าโรงเรียน และให้มีเทศกิจจำนวน 3 คน ช่วยอำนวยความสะดวกให้บริเวณด้านหน้าโรงเรียนทุกเช้า
ขณะเดียวกันวันนี้ยังเป็นวันแรกของการบังคับใช้ กฎหมายจราจรฉบับใหม่ ที่เพิ่มทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ
- เมาแล้วขับ ถ้าทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าใครทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี จะเพิ่มอัตราโทษเป็น จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท และศาลจะลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ 160 ตรี/3)
- ขับรถเร็วเกินกำหนด ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท จากโทษเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- ขับรถย้อนศร ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จาก โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท
- ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น โทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การแข่งรถ และข้อกำหนดเรื่องรัดเข็มขัดนิรภัย ก็จะมีการปรับอัตราโทษเพิ่มด้วย
อีกกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่คนขับรถยนต์พุ่งชนนักเรียน โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ขณะเดินข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียน บาดเจ็บ 3 คน
ภัทรพล วิริยานนท์ หรือ น้องเคนโด้ นักเรียนชั้น ม.5 1ใน 3 ของนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ เปิดเผยว่า อยากให้มีการแก้ปัญหาการอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง และประชาชนแต่ละคนก็ควรเคร่งครัดในกฎจราจร โดยเฉพาะการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายควรจะ ปลอดภัยขึ้น แม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้ คางแตก เย็บ 8 เข็ม และมีแผลฟกช้ำ แต่เชื่อว่าหากทุกคนร่วมมือกันจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุได้
ธัญจิรา โชติพงศ์กุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์ กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์นี้โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ก็พยายามวางมาตรการความปลอดภัยอยู่แล้ว ทั้งการดูแลการข้ามทางม้าลาย และมีคนโบกธงประมาณ 6-7 คน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานเขตที่กำชับมา แต่ก็พบว่าบางครั้งแม้จะมีการขอความร่วมมือหยุดรถด้วยการโบกธง ก็ยังมีกรณีขับรถผ่านอย่างไม่สนใจก็มี จึงอยากให้กฎหมายรุนแรงขึ้นเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง
คณวัฒน์ วงศ์แก้ว ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า การหารือแนวทางป้องกันแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และทางคณะกรรมการกู้ชีพวุฒิสภาฯ ได้มอบหมายให้ภาคีมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว จัดทีมทนายเข้าให้ความช่วยเหลือ และติดตามความก้าวหน้าของกรณีนี้อย่างใกล้ชิด
โดยก่อนหน้านี้ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ได้เดินทางลงติดตามกรณีนี้มาแล้ว มีการสรุปร่วมกัน กับ กทม.ทั้งส่วนสำนักงานเขตราชเทวี สำนักจราจรและขนส่ง กทม. ขอให้ แก้ไข 2 จุด คือ 1.บริเวณปากทางเข้าโรงเรียน ให้มีการติดเครื่องหมายเตือนให้ระวัง ให้ชัดเจน ก่อนเลี้ยวทางม้าลาย เพื่อให้ผู้ที่ขับรถออกจากซอย ชะลอความเร็วและขับด้วยความระมัดระวัง 2. ฟุตปาทบริเวณทางม้าลาย ซึ่งมีการก่อปูนปลูกต้นไม้กีดขวาง ทำให้เกิดความแออัดขณะนักเรียนเดินข้ามทางม้าลายขึ้นฟุตปาท ทางสำนักงานเขตราชเทวี จะทำการปรับตรงนี้ เพื่อขยายพื้นที่ให้การข้ามถนนตรงทางม้าลายสะดวกขึ้น ไม่มีสิ่งกีดขวาง คนข้ามไม่กระจุกตัวบนถนน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งจุดนี้ปัจจุบันสำนักงานเขตราชเทวีได้มาดำเนินการแก้ไขแล้ว
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทาง สสส. กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญมาก ๆ ของการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่ต้องทำให้ได้ คือ 1. การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ซึ่งจุดนี้รวมถึงการฝึกฝนให้เด็กๆ ข้ามทางม้าลายด้วยการมองขวามองซ้ายให้ดีก่อนข้าม 2. การลดความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียน หรือพื้นที่ชุมชน ควรจำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 3. การสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อน
ปี 2562 ไทยเคยทำสถิติ มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นอันดับหนึ่งของประเทศติดต่อกันถึง 6 ปีซ้อน และคำนวณว่า สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 232,000 ล้านบาท ขณะที่ 1-2 ปีที่ผ่านมามีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนใน กทม.กว่า 800 คนต่อปี