คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนวันละ 50 คน บาดเจ็บ 5,000 คน

นักวิชาการ ย้ำ ทางออกต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบ จากปัจจุบันที่มีข้อจำกัดจำนวนมาก พร้อมทำควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักของประชาชน

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ

นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ เปิดเผยว่า วันนี้ก็จะต้องมีคนเสียชีวิต อีก 50 คน พรุ่งนี้ก็ยังจะต้องมีคนเสียชีวิตอีกมากด้วยสาเหตุที่รู้ ๆ ที่ป้องกันได้ คือ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่ใส่หมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัด นิรภัย ฯลฯ


“ความสูญเสียนี้ เป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของครอบครัว สังคม ประเทศชาติ เป็นภัยด้านความมั่นคงของประเทศที่ร้ายแรง เนื่องจาก เราต้องสูญเสียกำลังพลในการสร้างชาติ พัฒนาประเทศ ปีละเป็นหมื่น ๆ คน ที่น่ากลัวยิ่งคือ ความสูญเสียนี้เป็นความเสี่ยงของทุก ๆ คนแต่เราก็ยังแก้ไขเพื่อลดความสูญเสียนี้ไม่ได้สักที เรื่องนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนมาก ที่จะต้องลงมือแก้ไขในทันที”


ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงส่งผลให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียของกลุ่มเยาวชน และวัยแรงงานที่เป็นอนาคตของประเทศชาติ โดยในปี 2556 ตั้งแต่เดือน เม.ย. – ต.ค. 2565 พบว่า ตัวเลขตายบนถนนมากกว่าปี 2564 ทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 10 % จึงคาดว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตปีนี้ จะมากถึง 18,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 16,000 คน ในปีที่ผ่านมา


“ในช่วงเดือน พ.ย. และ ธ.ค. เป็นช่วงไฮซีซั่นการท่องเที่ยว มีงานบุญ และปีใหม่ ซึ่งจะมีการเดินทางมากขึ้น น่าเป็นห่วงว่าอุบัติเหตุในช่วงนี้ จะมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ที่น่าสังเกตคือไทยเราเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่ติด 10 อันดับแรกของโลก ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงสุด นอกนั้นอยู่ในแถบแอฟริกาเกือบทั้งหมด กลุ่มนี้เป็นประเทศที่รายได้ต่ำ ระบบสาธารณูปโภคไม่ดี การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น ซึ่งในไทยเราเองไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ทำไมคนไทยเรายังตายกันมากมายเช่นนี้”

นายแพทย์วิทยา ยังกล่าวอีกว่า เราทราบดีถึงมาตรการต่าง ๆ ในการจัดการกับปัญหานี้แต่มาตรการเฉพาะหน้าที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะหยุดยั้งการสูญเสียนี้ได้โดยเร็ว คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก ความรับรู้ให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง การบังคับใช้กฎหมายในบ้านเราเต็มไปด้วยปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดมากมาย หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกเมื่อ

  • กว่าครึ่งหนึ่งของคนขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ใส่หมวกกันน็อก
  • คนขับขี่ที่ได้รับบาดเจ็บร้อยละ 20 ดื่มแล้วมาขับ ปีใหม่สงกรานต์ คนเมาแล้วขับเพิ่มเป็นร้อยละ 50
  • ประมาณร้อยละ 50 ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่มีใบขับขี่ และไม่ได้ทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
  • รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ชนรถบรรทุกที่จอดมืดๆข้างทาง ทุกคืน
  • ขาดแคลนงบประมาณอย่างมากในการจัดหาเทคโนโลยีที่สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย เช่นกล้องตรวจจับความเร็ว กล้องตรวจจับการฝ่าไฟแดงเครื่องตรวจแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ในการออก E ticket ทั้งที่พิสูจน์ชัดแล้วว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างมาก
  • งบประมาณในการออกใบสั่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้กระทำผิดกฎจราจร ขาดแคลนอย่างมาก
  • คนทำผิดกฎจราจร ได้รับใบสั่งทางไปรษณีย์ เพียงร้อย 10 เท่านั้นที่มาเสียค่าปรับ
  • แต่ละคดี ตำรวจ ต้องใช้งบประมาณ นับหมื่นบาทเพื่อติดตามให้ผู้กระทำผิดมาชำระค่าปรับ เพียง 500-1,000 บาท
  • คดีจราจรกว่าจะดำเนินการจนสิ้นสุดใช้เวลานาน
  • การทำความผิดตามกฎหมายจราจร หลายกรณีมีแนวโน้มจะได้รับการลงโทษทางวินัย ซึ่งผู้กระทำผิดจะได้
    รับโทษเบาลง
  • บ่อยครั้งผู้กระทำผิดได้รับการพิพากษาจำคุก แต่รอลงอาญา
  • ครั้นตำรวจจะเข้มงวด กวดขัน จริงจัง ก็ถูกโซเชียลเล่นงานหนัก ฯลฯ

ถ้าหากสภาพของมาตรการการบังคับใช้กฎหมายของเมืองไทยเรายังเป็นอย่างนี้ยากที่จะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้น้อยลงได้หากจะเปรียบเทียบก็เหมือนไฟกำลังลุกไหม้อยู่ในบ้านเราจะนั่งรอให้รถดับเพลิงมาดับไฟบ้านของเราไหม อุบัติเหตุทางถนนก็เช่นกันเราจะรอช้าไม่ได้ รัฐบาล หน่วยงานทุกหน่วยงาน และเราทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ในวันนี้เลย ว่าจะ จัดการกับข้อจำกัดทั้งหลายอย่างไรให้มาตรการสำคัญนี้ใช้งานได้ในทันที อย่างมีประสิทธิภาพในวันนี้ ถ้าพรุ่งนี้เลยเพราะช้าไปวันหนึ่ง พี่น้องคนไทยเราก็จะต้องเสียชิวิตไปอีก 50 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active