เปิดฟังเสียงประชาชน! เสนอแนวคิดพัฒนาอาคารสูงใน กทม. ให้ปลอดภัย รองรับผู้สูงวัยและภัยพิบัติ

ชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเชิงนโยบาย เพื่อออกแบบแนวทางพัฒนาอาคารสูงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ และรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต ผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ภายในงาน Bangkok Expo 2025

วันนี้ (13 พ.ค. 2568) นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามใหญ่ต่อความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะในชุมชนอาคารสูงที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และกำลังกลายเป็นกลุ่มเปราะบางเมื่อสังคมเข้าสู่ภาวะสูงวัย

“สิ่งที่เห็นชัดคือ อาคารสูงจำนวนมากใน กทม. ยังไม่มีแผนเผชิญเหตุที่ชัดเจน ไม่มีระบบเตือนภัย ไม่มีคนกลางประสานงานในภาวะวิกฤต ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือผู้สูงอายุ” นพ.วิรุฬ กล่าว

เพื่อตอบโจทย์นี้ กรุงเทพมหานครจึงร่วมกับเครือข่ายด้านสุขภาพและเมืองปลอดภัย จัดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ผ่านเวที “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นกรุงเทพมหานคร” ภายในงาน Bangkok Expo 2025 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 พฤษภาคม 2568 ผ่านระบบออนไลน์

ร่วมเสนอความคิดเห็น 2 ประเด็นสำคัญ

1. “สูงวัยในอาคารสูง” – นโยบายรองรับสังคมสูงวัยในคอนโดมิเนียมและอาคารสูง

แสดงความคิดเห็นได้ที่: https://forms.gle/j33hQ3dBZEi7q4ELA

(เปิดรับฟังความเห็นและระดมสมองในงานวันที่ 17 พฤษภาคม 2568)

2. “เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของชุมชนอาคารสูง” – นโยบายความปลอดภัยและระบบจัดการภาวะฉุกเฉินในคอนโด

แสดงความคิดเห็นได้ที่: https://forms.gle/evd4TSgsvEqfJLtT9

(จัดเวทีถกเถียงในงานวันที่ 18 พฤษภาคม 2568)

ผู้จัดการนิติบุคคล หัวใจความปลอดภัยในคอนโดฯ

ข้อมูลจาก  พันธ์ยศ เจนหัตถ์คุณ นักวิชาการอิสระด้านการบริหารจัดการอาคาร เผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีนิติบุคคลอาคารชุดนับ “หลักหมื่นแห่ง” ซึ่งเท่ากับว่ามี “ผู้จัดการนิติบุคคล” อย่างน้อยหมื่นคนที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนในแต่ละอาคาร

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีระบบรับรองวิชาชีพหรือมาตรฐานกลางสำหรับตำแหน่งนี้ ต่างจากหลายประเทศที่มีการสอบใบอนุญาตและหลักสูตรอบรมอย่างจริงจัง ทำให้หลายโครงการขาดความพร้อมในการรับมือเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะเมื่อผู้อยู่อาศัยมีข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง

“เราไม่สามารถมองข้ามบทบาทของผู้จัดการนิติฯ ได้เลย เพราะเขาคือคนที่ต้องรู้ว่า ถ้าไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ใครควรทำอะไร ประสานงานกับใคร และจะช่วยผู้อยู่อาศัยออกจากอาคารได้อย่างไร” พันธ์ยศ ระบุ

ประชาชนคือเจ้าของนโยบาย 

นพ.วิรุฬ ย้ำว่าเวทีสมัชชานี้ไม่ใช่แค่เวทีรับฟัง แต่เป็นกระบวนการพัฒนา นโยบายสาธารณะ ที่ภาครัฐและ กทม. จะนำไปใช้จริง โดยมีประชาชนเป็นผู้ออกแบบร่วม

“ใครที่อาศัยในคอนโด หรือแม้แต่ทำงานในอาคารสูง คุณคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ มาร่วมออกแบบอนาคตของเมืองให้ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในวันที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคผู้สูงวัยและสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน” นพ.วิรุฬ​กล่าว 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active