เอลนีโญแผลงฤทธิ์ ปีนี้ฝนสะสมต่ำกว่าปกติ 21 %

4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์) เหลือน้ำใช้การได้ ร้อยละ 19 เขื่อนใหญ่หลายแห่ง มีน้ำใช้การน้อยกว่าปีที่แล้ว หน่วยงานด้านน้ำเร่งใช้มาตรการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และพยายามเพิ่มแหล่งกักเก็บ

แม้หลายพื้นที่จะเริ่มมีฝนตกตามฤดูกาลเข้ามาบ้างแต่ แต่ส่วนใหญ่จะตกมากบริเวณขอบประเทศไทยและฝั่งรับมรสุม ถ้าดูจากพยากรณ์ปริมาณฝนสะสมรายวันตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 5 กันยายน 2566 จะพบว่า ยังตกกระจายตัวแต่ไม่มาก ขณะที่ ทุกภาคของไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ที่มีเขื่อนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ หลายแห่ง ยังมีฝนตกเข้าเขื่อนไม่มากซึ่งเสี่ยงฤดูแล้งหน้าอาจขาดแคลนน้ำหนัก

ส่วนแนวโน้มปรากฎการณ์เอลนีโญ ปัจจุบันยังอยู่ในสภาวะกำลังอ่อน และมีแนวโน้มจะแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 โดยมีการคาดหมายฝนและอุณหภูมิ กันยายน ถึงพฤศจิกายน อุณหภูมิของไทยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ ขณะที่ปริมาณฝนของประเทศไทยยังตำกว่าค่าปกติ

แต่หากดูปริมาณฝนสะสมของประเทศไทย ในปี 2554 และ 2560-2566 พบว่า ตั้งแต่ 1 มกราคมจนถึงปัจจุบัน มีฝนสะสมต่ำกว่าปกติร้อยละ 21 โดยปี 2566 มีแนวโน้มคล้ายปี 2562 กับ 2563 โดยหลังจากนี้ไทยยังเหลือ เวลาเก็บน้ำได้เพียง ไม่เกิน 60 วัน ในเดือนกันยายน และตุลาคม ซึ่งอาจต้องลุ้นต่อว่าเอลนีโญจะทำให้ฝนตกลงมามากแต่ไหน ก่อนจะเริ่มฤดูแล้ง 1 พฤศจิกายน

แต่ถ้าดูการคาดหมายฝนในเดือน สิงหาคม 2566 -มกราคม 2567 จะพบว่า ปริมาณฝนรวมจะลดลงเรื่อย ๆ นั้นหมายความว่าโอกาสที่น้ำจะเข้าเขื่อนก็น้อยลงไปด้วย

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณฝนที่ตกยังน้อย แต่ก็ยังเหลือเวลาอีก 1-2 เดือนที่จะมีน้ำเข้าเขื่อนมาบรรเทาภัยแล้ง แต่ก็ต้องตั้งรับสำรองเพราะความเสี่ยงจากฝนในภาวะเอลนิโญอาจทำให้ ฝนตกบางแห่งตกมากก็จริงแต่อาจไม่เข้าเขื่อนมากเท่าที่ต้องการ ขณะนี้เร่งใช้มาตรการช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบ และพยายามเพิ่มแหล่งกักเก็บ ให้มากที่สุด เพื่อรองรับน้ำและพายุที่อาจเข้ามาช่วยก่อนหมดฤดูฝน

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566) สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ 41,993 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 18,055 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 34) ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ เทียบกับปี 2565 (48,832 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64) น้อยกว่าปี 2565 จํานวน 6,839 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 156.13 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้าระบาย 111.53 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 34,344 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน


สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ําขนาดใหญ่ (ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 39,266 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 (ปริมาตรน้ําใช้การได้15,729 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33) ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ เทียบกับปี 2565 (44,954 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 63 ) น้อยกว่าปี 2565 จํานวน 5,688 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ จํานวน 114.43 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบายจํานวน 83.31 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 31,660 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์) วันนี้เหลือน้ำไม่มาก มีน้ำใช้การได้รวมกัน 3,441 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 19 ขณะที่พื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัดก็เผชิญปัญหาภัยแล้งเพราะฝนตกไม่มากเช่นกัน

รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวอีกว่า ได้ปรับแผนในการรองรับปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้น 1-2 ปี ข้างหน้าโดยจะพยายาม วางแผน การกักเก็บน้ำ ชะลอน้ำ และวางแผนการเพาะปลูก เข้ามาช่วย เพื่อให้ ปี 2568 ซึ่งจะแล้งที่สุด ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วยการออกแบบพร้อมรับมือเอลนีโญเพิ่มเติมจากการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบ

มาตรการในการรองรับปรากฎการณ์เอลนีโญ

ด้าน Supply (อุปทาน)

1.การบริหารจัดการน้ำ 2 ปี

2.การกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนที่เหลือให้มากที่สุด (10 ก.ค.-15 ต.ค.66 ) ดังนี้

2.1 กรมชลประทานเน้นกักเก็บน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บ ทั้งน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ให้มากที่สุด พร้อมทั้งเก็บในแก้ลิง คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำและบ่อยืมดิน

2.2จังหวัด อำเภอ กักเก็บน้ำในห้วยหนอง คลอง บึง และแก้มลิง พร้อมทั้งบูรณะ ขุดลอก

2.3 ท้องถิ่น ชุมชน กักเก็บน้ำในแหล่งน้ำที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งบูรณะ ขุดลอกแหล่งน้ำพื้นที่รับผิดชอบ

2.4 ภาคครัวเรือน จัดหา จัดทำภาชนะเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง เช่นโอ่งขนาดใหย่ถังซีเมนต์ แท้งค์น้ำ เป็นต้น

3.ชะลอน้ำ กักเก็บน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ดังนี้

3.1 ต้นน้ำ จัดทำฝายชะลอน้ำ (Ckeck Dam)

3.2กลางน้ำ กักเก็บน้ำโดยเขื่อนทดน้ำ ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรืออาคารชลประทานต่างๆ

3.3.ปลายน้ำ กักเก็บน้ำโดยอาคารชลประทานไม่ให้แม่น้ำไหลลงแม่น้ำนานาชาติ และทะเล สำหรับทางสายน้ำใดที่ไม่มีอาคารควรพิจารณาสร้างทำนบชั่วคราว

ด้าน (Demand ) อุปสงค์

1.พิจารณาวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปีโดยพิจารณาพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง

2.ใช้มาตรการ 3R (Reduce ) มาช่วย

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า หลังเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ไทยมีแนวโน้มปริมาณฝนลดลงและตกน้อย ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่ด้านการเกษตรก็กระทบกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งแนวโน้มสภาพอากาศเช่นนี้ยังอยู่ในความเสี่ยงกับภาวะน้ำขาดแคลนอนาคต จึงเร่งวางแผนร่วมมือหน่วยงานด้านน้ำ แก้ปัญหาต่อเนื่อง เพราะแนวโน้มเอลนีโญจะกระทบไปจนถึงปี 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้ สทนช. ก็ติดตามพื้นที่ประสบภัยแล้ง หลายจังหวัด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของทุกคนที่ใช้น้ำ

ขณะที่เมื่อวานนี้ (31 ส.ค.66) สทนช. ก็จัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2565/66 และการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เอลนีโญ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ 8 กระทรวง 31 หน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ กรมการปกครอง เป็นต้น รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ภาคประชาชนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 พร้อมทั้งเปิดรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งปีถัดไป โดยรองรับสถานการณ์เอลนีโญ

ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง สทนช. โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1) ช่วงก่อนฤดูแล้ง เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยการคาดการณ์ปริมาณน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อกำหนดแผนการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืช การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมทั้งประกาศพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวังและหากเกิดภัย สามารถช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้ง กำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือเชิงป้องกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้

2) ระหว่างฤดูแล้ง จะเป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมิน พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ จะดำเนินการตลอดช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์และการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และ

3) เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้ง จะมีการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เพื่อใช้สำหรับเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาในฤดูแล้งปีถัดไป “จากการคาดการณ์พบว่าสภาวะเอลนีโญจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกน้อย รวมถึงฝนทิ้งช่วง โดยปัจจุบันภาพรวมปริมาณฝนทั่วประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งทำให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้อย และมี หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

โดยในช่วงฤดูฝนปีนี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด และ สทนช. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากทุกภาคส่วนในวันนี้ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่องจากช่วงสิ้นสุดฤดูฝน เพื่อป้องกันและแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active