งานรำลึก “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ย้ำ ต้องไม่ลืมเพราะยังมีรอยเลื่อนอีกมากที่จะมีพลังเกิดแผ่นดินไหวได้ในอนาคต นักวิชาการ ชี้ นโยบายควบคุมอาคารสาธารณะมีความก้าวหน้า แต่บ้านเรือนประชาชนยังไม่ถูกควบคุม หวังกลไกท้องถิ่นช่วยปิดช่องว่าง
5 พ.ค. 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันรำลึก “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” สะท้อนผ่านนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราว 10 ปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่ ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และเสวนาหัวข้อ “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” จากวงเสวนาจะเห็นว่า แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ดังนั้น จึงควรศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการเกิดของแผ่นดินไหวที่แท้จริงและการซักซ้อมแผนเพื่อรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวเพื่อเป็นแนวทางในการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ประจญ ปรัชญ์สกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2557 ในขณะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว กล่าวว่า ในอดีตแผ่นดินไหวเมื่อ 10 ปีก่อนถือว่ามีความโกลาหลตื่นตระหนกกับคนในพื้นที่และประเทศไทยไม่น้อย กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศไทย แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่มีศูนย์กลางการเกิดอยู่ที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก แรงสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหวสามารถรับรู้ได้ทั้งภาคเหนือของประเทศไทย ประเทศเมียนมาและสั่นสะเทือนจิตใจของประชาชน เพราะคนไทยยังไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ ๆ มากนัก และประชาชนส่วนใหญ่ก็เพิ่งรู้จักแผ่นดินไหวที่รุนแรง การบริหารจัดการพื้นที่ในช่วงแรกก็ต้องค้นข้อมูลใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมี แต่ก็มีการประสานทุกพื้นที่ทุกอำเภอเพื่อตรวจสอบความเสียหายในเวลานั้นก็พยายามทำให้เร็วที่สุด และใช้แผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัด จากรูปแบบภัยอื่น ๆ แทน เพราะแผนรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหวไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นบทเรียนสำคัญแรก ๆ ที่เชียงรายพยามยามปรับตัว
เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่กำลังจะลืมเรื่องราวในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่ต้องไม่ลืมเพราะอนาคตยังมีรอยเลื่อนอีกมากที่จะมีพลัง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้อีก ยกตัวอย่างปัจจุบัน ในพื้นที่ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย ถูกพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมาก เพราะมีชื่อเสียงด้านกาแฟ มีความเจริญก้าวหน้าทางเศษฐกิจ ผู้คนมีรายได้เพิ่ม จากการไปทำงานต่างถิ่นและต่างประเทศ เมื่อกลับมาก็มาพัฒนาปลูกบ้านหลังใหญ่ที่มีโครงสร้างแข็งและไม่ได้ออกแบบรับแรงแผ่นดินไหวมากนัก เพราะความทรงจำแผ่นดินไหวในอดีตที่เริ่มเลือนลาง จึงทำให้รู้สึกห่วงและกังวล เพราะจากอดีตและปัจจุบันเราเห็นตัวอย่างบ้านดอยช้างอย่างที่กล่าวมา มันมีช่องว่างเรื่ององค์ความรู้ เพราะรอยเลื่อนมีพลังยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่คนต้องรับมือต่อเนื่อง
เตือนใจ กล่าวอีกว่า การตระหนักและการเตรียมตั้งรับขณะเกิดเหตุต้องรับรู้รุ่นต่อรุ่นนี่เป็นเรื่องแรก เรื่องที่สอง จะเห็นช่างสร้างบ้านต้านแผ่นดินไหวปรับตัว แต่ก็อาจยังไม่มากพอ ดังนั้น การที่นักวิชาการเริ่มเข้ามามีบทบาทการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสร้างบ้านรับแรงแผ่นดินไหวจึงจำเป็น ส่วนที่สามระบบการช่วยเหลือที่ผ่านมามองว่ายังเป้นระบบที่ค่อนข้างมีขั้นตอนในกระบวนการของรัฐ ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุ การระดมทุนช่วยเหลือช่วยได้มาก โดยเฉพาะ 10 ปีก่อน ทุกฝ่ายร่วมถึงไทยพีบีเอสถือเป็นสื่อกลางที่ช่วยเหลือสังคมได้ดีมากในเวลานั้น และสุดท้าย แผ่นดินไหว ต่อจากนี้ไม่ใช่เรื่องทำแล้วจบ แต่ต้องรับมือภัยพิบัติตลอดเวลา
ด้าน รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา และประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า ที่แผนดินไหวเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายควบคุมอาคารสาธารณะที่ปรับให้ดีขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่อาคารบ้านเรือนประชาชนยังไม่ถูกควบคุม ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดในเชิงนโยบาย ขณะที่ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มูลนิธิต่าง ๆ ก็ต้องการนโยบายท้องถิ่นเข้ามาเชื่อม มีงบประมาณ คล้ายกับเป็นจิ๊กซอว์ให้มีการปิดช่องว่าง โดยย้ำว่า เรื่องนี้ต้องเดินต่อหลังจากผ่านมา 10 ปีแล้ว โดยมูลนิธิมดชนะภัย จึงได้ร่วมจัดนิทรรศการและกิจกรรม 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว
สำหรับการจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2567 เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยนิทรรศการพิเศษ “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” แบ่งโซนนิทรรศการออกเป็น 3 โซน คือ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์ และนิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดเดือนพฤษภาคม ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ฟรี