เลขา สทนช.ชี้แจงพื้นที่ที่เกิดเหตุไม่มีทิศทางการไหลของน้ำมายังแม่น้ำโขง สภาพภูมิประเทศและสภาพลุ่มน้ำ อยู่กันคนละลุ่มน้ำและไม่มีความเชื่อมโยงกัน
บ่ายวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.2567 หลังมณฑลหูหนาน เพิ่งเผชิญฝนตกหนักสุดในรอบปี ส่งผลให้ส่วนหนึ่งของกำแพงเขื่อนกั้นน้ำริมทะเลสาบต้งถิงพังทลายลง ทำให้น้ำไหลบ่าท่วม แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ขณะที่ระดับน้ำที่ท่วมสูงทำให้มีการอพยพประชาชนเกือบ 6,000 คนออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่อยู่ใกล้เคียง
วันนี้ (7 ก.ค.2567) สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวคันเขื่อนกั้นน้ำของทะเลสาบต้งถิงได้แตกพังทลาย ยืนยันว่าน้ำที่ไหลจากเขื่อนออกมา จะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยแน่นอน เนื่องจากพื้นที่ที่เกิดเหตุไม่มีทิศทางการไหลของน้ำมายังแม่น้ำโขง อีกทั้งสภาพภูมิประเทศและสภาพลุ่มน้ำนั้น อยู่กันคนละลุ่มน้ำและไม่มีความเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด
สำหรับประเทศไทยนั้นสภาพลุ่มน้ำที่มีส่วนเชื่อมโยงกันทางกายภาพกับจีน ก็เฉพาะในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑล ยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่ “สำหรับประเทศไทย สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำทุกพื้นที่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างต่อเนื่อง
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า ในประเทศไทยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสภาพความมั่นคงของอาคารชลศาสตร์ ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567 โดยมีการติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง