เตือน! ฝนภาคเหนือ ระลอกใหม่หนักกว่าเดิม – คาดอีก 10 วัน น้ำถึงอยุธยา

เผยช่วง 11 – 14 ก.ย. นี้ ร่องมรสุมเลื่อนพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคอีสาน เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

วันนี้ (10 ก.ย. 67 ) จากสถานการณ์เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองแม่สาย จ.เชียงราย ประกาศผู้ไม่เกี่ยวข้องออกนอกพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ตอนนี้ปิดถนนบริเวณ สภ.แม่สาย น้ำป่ากำลังไหลหลากท่วมสูง และเตือนประชาชน ที่อยู่ด้านล่าง บ้านสวนป่า ม.4 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายเช่น บ้านแม่ไร่ บ้านสันกอง บ้านห้วยไคร้ บ้านดงมะตื๋น ระมัดระวัง เตรียมความพร้อมรับมือน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน

น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ส่วนที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ จากกรณีฝนตกหนักเมื่อคืนวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ดังนี้ ได้แก่ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 6 ตำบลโป่งน้ำร้อน น้ำลำน้ำแม่ใจ มีน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเกิดความเสียหาย และพื้นที่ทางการเกษตร ของราษฎรในพื้นที่ใกล้ลำน้ำ ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 15 ตำบลม่อนปิ่น น้ำจากการระบายผ่านประตูระบายตะกอนท้ายเขื่อน โครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ (อ่างเก็บน้ำบ้านลาน) เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร และถนนภายในหมู่บ้านรถเล็ก ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจของหน่วยงานท้องถิ่น

สนามบินสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

‘ลาว’ น้ำท่วมหนัก

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีรายงานว่า ฝนตกหนักน้ำเอ่อล้น ประเทศลาวได้รับผลกระทบ 3 เมือง โดยแม่น้ำพาก แม่น้ำทา ล้นตลิ่ง 1-2 เมตร ด้านเขื่อนน้ำทา มีการระบายน้ำฉุกเฉิน โรงไฟฟ้า 2 แห่ง เสียหาย คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 1 แห่ง และ ถ่านหิน 1 แห่ง ส่วนสนามบินเสียหาย 1 แห่ง, สถานีรถไฟ 1 สาย เสียหาย (เขตพิเศษจีน-ลาว) ถนนขาด 3 เส้นทาง ดินถล่ม 3 แห่งโดยมีการอพยพประชาชนริมแม่น้ำ 11 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 264 หลัง ประชาชนบาดเจ็บ 2 คน

เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมกรุงเก่า

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ปธ.แผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1

ขณะที่ รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีในการติดตามสถานการณ์น้ำและร่วมประมวลน้ำร่วมกับนักวิชาการและนักวิจัย ในการเฝ้าระวังน้ำท่วมปี 2567 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดย ทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มปริมาณน้ำมากเป็นหลักที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

“โดยคาดว่าในอีก 10 ข้างหน้า จะมีปริมาณน้ำท่าเพิ่มจาก 1,476 ลบ.ม. เป็น 2,209 ลบ.ม. ไปอีกพักหนึ่ง และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครในช่วงน้ำขึ้น”

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

แนวโน้มน้ำท่าใน 10 วันข้างหน้า   

ที่ จ.กำแพงเพชร (เพิ่มจาก 153 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 276 ลบ.ม.ต่อวินาที)

จ.พิษณุโลก (เพิ่มจาก 355 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 424 ลบ.ม.ต่อวินาที)

จ.อุทัยธานี (เพิ่มจาก  45 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 63 ลบ.ม.ต่อวินาที)

จ.นครสวรรค์ (ลดลงจาก 1,441 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 1,404 ลบ.ม.ต่อวินาที)

จ.พระนราศรีอยุธยา (เพิ่มจาก 1476 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 2,209 ลบ.ม.ต่อวินาที)

ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel–1A ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ล่าสุดพบว่า พื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีขนาด 609,308 ไร่ จำนวน 12 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ พิจิตร และสุโขทัย (เกิน 100,000 ไร่)

ขณะที่ปริมาณน้ำฝนยังคงมีฝนมากบริเวณฝั่งตะวันออกของภาคเหนือตอนบน รวมถึงตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก

สำหรับสถานการณ์ของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

  • เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำเก็บกัก 49% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 6,865 ล้าน ลบ.ม.)

  • เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 80% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 1,892 ล้าน ลบ.ม.)

  • เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำเก็บกัก 50% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 466 ล้าน ลบ.ม.)

  • เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 33% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 642 ล้าน ลบ.ม.)

  • เขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 76% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 41 ล้าน ลบ.ม.)

  • เขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำเก็บกัก 53% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 52 ล้าน ลบ.ม.)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active