ผู้ว่าฯ เชียงราย ชี้ ‘โคลน-ขยะ’ ปัญหาหนัก พร้อมรับทุกข้อเสนอร่วมจัดการ

เร่งระดมทีม เครื่องจักร ดูดโคลนออกจากท่อให้เร็วที่สุด หวั่นติดขัดการระบายน้ำ หากฝนตกซ้ำ ส่วนการขนย้าย กำจัดขยะ อยู่ระหว่างสำรวจที่ดินเอกชน ที่ดินว่างเปล่า รองรับ ขณะที่เทศบาลแม่สาย เผย มีขยะตกค้าง 20,000 ตัน คาด 3 เดือนจัดการหมด

วันนี้ (19 ก.ย. 67) พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับ The Active ว่า เวลานี้ขยะและโคลนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งที่แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย มีจำนวนมาก ยากที่จะระบุปริมาณได้ โดยการจัดการขยะในเวลานี้ ก็พยายามทำงานบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อขนย้ายไปกำจัด และได้มีการหาพื้นที่รองรับเพิ่มเติม โดยมีเอกชน หรือคนที่มีพื้นที่ว่างติดต่อมา ซึ่งก็ต้องลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง

พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

สำหรับปัญหาขยะนั้น ก่อนหน้านี้ วรรณศิลป์ จีระกาศ ปลัดเทศบาลตำบลแม่สาย บอกกับ The Active ว่า แม่สายมีขยะตกค้าง มากกว่า 20,000 ตัน ยอมรับอาจต้องใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะเก็บขยะหมด

ส่วนการจัดการดินโคลนนั้น ผู้ว่าฯ เชียงราย บอกว่า ที่หนักสุดอยู่ที่ อ.แม่สาย โดยลักษณะของดินโคลนที่นี่ มีจำนวนมหาศาล ปริมาณสูงที่เข้าท่วมพื้นที่ตัวบ้าน การจัดการที่ทำอยู่ คือ ใช้วิธีการตัก และขนย้ายออก โดยได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังทหาร ทั้งกำลังคน และเครื่องจักร ส่วนในตัวเมืองเทศบาลนครเชียงราย เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ จะต้องเร่งมือเคลียร์พื้นที่ให้เร็วที่สุด อีกทั้งลักษณะดินโคลนเกิดจากน้ำป่าไหลหลาก ไหลแรง ดินโคลนที่เข้าท่วมบ้าน และถนนจึงมีความต่างจากที่ อ.แม่สาย คือไม่สูงมาก และดินโคลนส่วนใหญ่ไปอุดตันท่อระบายน้ำ ซึ่งต้องเร่งจัดการให้เร็วที่สุด เพราะเกรงว่าหากฝนตกจะทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำได้ง่าย

โดยวิธีการจัดการจะใช้รถดูดโคลน ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร รวมแล้ว 4 คัน สำหรับพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงราย มีบ้านเรือนประชาชนที่ถูกน้ำท่วม 10,000 หลังคาเรือน โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือพื้นที่ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำกก

นอกจากนี้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จะนำเครื่องจักรเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการดูดโคลนออกจากท่อระบายน้ำในเขตเทศบาลนครเชียงราย รวมถึงทุกจุดที่เกิดปัญหาได้ภายในวันที่ 20 ก.ย. 67 นี้

ส่วนข้อเสนอของ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีข้อเสนอให้นำดินโคลนจากน้ำท่วมเชียงรายครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากดินตะกอนที่มาจากภูเขาเเละท้องเเม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นดินจำพวกทรายเเป้ง มีคุณสมบัติที่ดีเมื่อผสมกับปูนซีเมนต์ในอัตราส่วนที่เหมาะสม สามารถนำมาผลิต TOR Block กำแพงกันดิน ที่มีคุณภาพได้นั้น ผู้ว่าฯ เชียงราย ยินดีที่จะเปิดรับฟังทุกข้อเสนอเพื่อการจัดการดินโคลน เพราะเห็นว่า เวลานี้ทุกหน่วยต้องมาทำงานบูรณาการร่วมกัน หากทางภาควิชาการสนใจสามารถลงพื้นที่ได้เลย หรือติดต่อที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินถล่ม จ.เชียงราย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active