‘สึนามิโคลนถล่ม’ เมื่อรัฐต้องให้ความสำคัญ ภารกิจ ‘ล้างเมือง’ เป็นลำดับแรก

นักวิชาการ ย้ำ ชาวบ้าน ท้องถิ่น รับมือไม่ไหวแล้ว! แนะกลไก ศปช. ต้องเร่งฟื้นฟู จ.เชียงราย

สภาพเมืองแม่สาย เชียงรายหลังน้ำลดเต็มไปด้วยดินโคลน บางจุดสูงเป็นภูเขา หรือแทบจะจมบ้านทั้งหลัง บางจุดปิดเส้นทางสัญจร นำไปสู่การเคลื่อนไหวของผู้คนในโลกออนไลน์ พยายามสะท้อนถึงความทุกข์ร้อนอย่างหนัก เช่น เพจ ชุมชนคนแม่สาย ที่ระบุว่า “ท้อกับชีวิตมาก ๆ ขนดินโคลนไปพร้อมกับความคิดที่ว่า แขวนคอตายง่ายกว่าไหม ไปพร้อม ๆ กันกับการขนดินทิ้ง เงินจ้างคนมาช่วยก็ไม่มี ที่นอนก็ไม่มี รายได้ก็ไม่มี ข้าวได้กินวันละ1-2 กล่อง น้ำก็ไม่พอกินเกาะทรายเขารู้กัน แต่ไม่มีคนกล้าพูด” 

พร้อมตั้งคำถามต่องบฯ บริจาค ว่า ประชาชนทั่วไปจะสามารถตรวจสอบอย่างไร ทางหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับเงินบริจาคมานั้นเอาไปใช้จ่ายอะไรบ้าง พร้อมกับการตั้งคำถามและใช้คำแรงว่า การช่วยเหลือฟื้นฟู หรือปัญหาต่าง ๆ นานา ทุกอย่าง “ห่วยแตกทุกเรื่อง” ไม่สมเหตุสมผลกับยอดเงินที่มีการบริจาคเงินเข้ามา

ประเด็นที่เกิดขึ้น สืบสกุล กิจนุกร จากสำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย และเป็นผู้ติดตามสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วม และดินสไลด์ ใน จ.เชียงราย ให้ข้อมูลกับ The Active ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นย้ำให้เห็นปัญหาที่ชาวบ้าน และท้องถิ่นจะรับมือกันเองไหว โดยสถานการณ์เชียงรายตอนนี้เปรียบเทียบได้เลยว่าเหมือนโดนสึนามิโคลน  

สึนามิโคลน ถล่มเมือง อ.แม่สาย หลายพื้นที่ก็โคลนหนามาก บางจุดสูงท่วมหัวคน และตอนนี้โคลนไม่ได้เละแล้ว โคลนมีความเหนียว เพราะโดนแดดและเริ่มแห้ง มันยิ่งกำจัดยากขึ้น ต้องใช้แรงในการขุด ใช้รถเครื่องจักรเข้ามาขุด อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ๆ” 

สืบสกุล บอกด้วยว่า ในตัวเมืองเชียงราย ริมน้ำกก บ้านเรือนประชาชน ก็ยังมีโคลนอยู่เต็มพื้นที่บ้าน ชาวบ้านพยายามล้างออก แต่บางชุมชนน้ำประปายังไม่ไหล บางชุมชนไหลแล้วแต่น้อย ไม่เพียงพอในการทำความสะอาดบ้าน คนที่พอมีฐานะก็พยายามไปซื้อรถน้ำจากข้างนอกมาล้าง ส่วนบ้านประชาชนทั่วไป ยังต้องรอการล้าง

“คือตอนนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าดูในภาพรวมทำงานค่อนข้างดีในการให้การช่วยเหลือประชาชน ทำงานรวดเร็ว ในการระดมทรัพยากร งบประมาณ เครื่องมือ กำลังคน แต่ต้องย้ำว่า ที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่หน่วยงานส่วนภูมิภาคค่อนข้างเชื่องช้า เพราะติดระบบทำงานเอกสารจำนวนมาก คนก็น้อย ยิ่งทำให้การช่วยเหลือช้า ชาวบ้านก็พยายามตัก พยายามขน ช่วยเหลือตนเอง แต่มันไม่พอ ต้องใช้เครื่องจักร และการระดมคนมาช่วย  ซึ่งยังไม่เห็นการวางระบบมาตรการช่วยเหลือจัดการเรื่องนิ้ ที่ชัดเจนจากรัฐบาลส่วนกลาง”

สืบสกุล กิจนุกร 

อีกปัญหาใหญ่คือกองภูเขาขยะจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั้งหมด ที่ได้รับความเสียหาย เช่น ที่นอน, ตู้เสื้อผ้า, เครื่องใช้ไฟฟ้า, โซฟา, หนังสือ, ห้องชุด, เครื่องครัว, เครื่องใช้ทั้งหมด ซึ่งจมน้ำ จมโคลน ใช้การไม่ได้ ชาวบ้านต้องเอามากองไว้ข้างหน้าบ้านตนเอง บริเวณซอย หรือถนนใหญ่ เพื่อรอให้เทศบาลมาจัดเก็บ ซึ่งจัดเก็บค่อนข้างช้า เพราะว่ารถเก็บขยะของเทศบาล มีจำนวนจำกัด ทำตามเวลาราชการ พอหมดเวลาแล้ว ไม่ได้ทำต่อ ซึ่งอันนี้เป็นข้อจำกัดมาก ๆ

“โคลนกับขยะเรื่องใหญ่มาก เริ่มเน่าเหม็น และส่งผลเสียสุขภาพ จิตใจ สิ่งแวดล้อมตามมาด้วย ถ้าเราไม่เร่งกำจัดขยะ กำจัดโคลน มันมีปัญหาเยอะ”

สืบสกุล กิจนุกร 

สำหรับทางออกเรื่องนี้ สืบสกุล มองว่า พื้นที่หนัก ๆ คือตัวเมืองเชียงราย และ อ.แม่สาย รัฐบาลต้องลงมาสั่งการ และให้มีการทำงาน เอาหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องที่มีทรัพยากรทั้งหมด เช่น รถตัก, รถบรรทุกน้ำ, รถฉีดล้าง ต้องเอาลงมาให้หมด ทั้งจากเทศบาลใกล้เคียง หรือจากจังหวัดอื่นที่น้ำไม่ท่วม หรือภาคเอกชน หน่วยงานต่าง ๆ  รัฐบาลต้องประสานความร่วมมือ

“ตอนนี้เราปล่อยให้ องค์กรปกครองท้องถิ่น เทศบาลตำบล เทศบาลนคร ดูแลอย่างเดียวไม่ไหว ทรัพยากรมีไม่พอ เวลาก็วิกฤตมากขึ้น ต้องสู้ทำกันเต็ม ที่ 24 ชั่วโมง อาจจะทำเป็นกะ กะละ 8 ชั่วโมง เช่น กะตอนกลางคืน เป็นเวลาที่ต้องขนเอาขยะออก รถจะไม่เยอะ รถขยะซึ่งเป็นรถใหญ่ ก็เข้ามาขน กลางวันเป็นการล้าง ตัก ทำความสะอาดทั้งถนน และก็บ้านเรือนผู้คน ถ้าทำแบบนี้ มันจะทำให้การทำความสะอาดบ้านเรือนและชุมชนในเขตตัวเมืองเชียงราย แม่สาย เร็วยิ่งขึ้น คือ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่นายกฯ ตั้งขึ้น โดยมอบหมายรองนายกฯ ภูมิธรรม ต้องลงพื้นที่ ต้องลงมาสั่งการเร่งแก้ไข”

สืบสกุล กิจนุกร 
สืบสกุล กิจนุกร

สืบสกุล ยังมองว่า รัฐต้องเอาประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ หรือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญแรก ๆ จะทำให้งานล้างบ้าน ล้างชุมชน ฟื้นฟูเมือง กลับมาได้เร็วมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ชุมชนชาวบ้าน โรงแรมขนาดใหญ่ รีสอร์ทต่าง ๆ ธนาคาร ปั๊มน้ำมัน ส่วนที่สำคัญ ๆ ล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมด

อีกเรื่องที่ต้องไม่ทิ้ง คือ ข้าวกล่อง ต้องผลิตให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กันไปก่อน เพราะเขาไม่มีห้องครัว อุปกรณ์เครื่องครัวทำกับข้าว และเรียกว่าหมดตัวกับน้ำท่วมครั้งนี้     

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active