สทนช. หารือ อาเซียน – MRC ลดภัยพิบัติในลุ่มน้ำโขง กระชับความร่วมมือ เมียนมา สปป.ลาว เน้นบริหารจัดการน้ำ แจ้งเตือนภัย ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศ เล็งดึง สหรัฐฯ-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ผ่านกลไก ‘แม่โขง’ หนุนองค์ความรู้แก้น้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก
มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับเอกอัครราชทูต กลุ่มสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS (แอ็กเม็กส์) จำนวน 5 ประเทศประจำประเทศไทย ประกอบด้วย กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อริ่เริ่มความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ตามที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุดว่า ได้มีการพูดคุยถึงแผนระยะสั้น และระยะยาวในการแก้ปัญหาแม่น้ำโขง ทั้งจากภาวะน้ำท่วม และน้ำแล้งร่วมกัน
เน้นแผนเตือนภัย ไทย – ประเทศเพื่อนบ้าน
โดยแผนระยะสั้นนั้น จะอยู่บนพื้นฐานการวางระบบเตือนภัย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สืบเนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น และแม้แต่ละประเทศ จะมีความแตกต่างทางสภาพแวดล้อม และการพัฒนา แต่ก็จะต้องมั่นใจได้ว่า แผนการเตือนภัยนั้นจะต้องสอดรับกับทั้งประเทศไทย เมียนมา และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ใช้กลไกลองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กรที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ สถาบันแม่โขง หรือ Mekong Institute ที่ตั้อยู่ใน จ.ขอนแก่น และเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการพูดคุยถึงบทบาทเท่าใดนัก ทั้งที่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับองค์กร Mekong River Commission หรือ MRC ซึ่งมีประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และจัดการแม่น้ำโขง โดยประเทศไทย จะรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกได้ประโยชน์ร่วมกัน
ส่วนแผนในระยะยาวนั้น รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ จะรีบจัดการประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง โดยใช้กลไกที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ได้แก่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS (แอ็กเม็กส์) ที่ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ริเริ่ม และเป็นประสานงานอยู่แล่ว มาใช้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มบทบาท และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกในประเทศไทยทั้ง 4 ประเทศ ที่มาร่วมประชุมด้วยก็เห็นพ้องด้วย ซึ่งนอกจาก จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวแล้ว ยังจะต้องแก้ไขปัญหาน้ำแล้งด้วย โดยจะเรียกประชุมร่วมกันให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน
ดึงองค์ความรู้ต่างประเทศ รับมือน้ำท่วมระยะยาว
นอกจากกลไก และองค์กรทั้ง สถาบันแม่โขง, MRC และแอ็กเม็กส์ แล้ว รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ยังระบุถึงกลไกความร่วมมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง: Mekong-Lancang Cooperation หรือ MLC ซึ่งมีประเทศจีนเป็นสมาชิกด้วย และยังมีกรอบความร่วมมือ แม่โขง- สหรัฐฯ, แม่โขง-ญี่ปุ่น และแม่โขง-เกาหลีใต้ มาใช้ เพื่อรับช่วงต่อในการนำเอาองค์ความรู้ของสถาบันแม่โขง และ MRC มาบูรณาการร่วมกันในการจัดการแม่น้ำโขง เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจในการนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งทั้งสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ และจะนำไปสู่อีกจุดหนึ่ง ที่ประเทศเหล่านี้ สามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศแม่น้ำโขงในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันอุทกภัยในอนาคตในระยะยาวด้วย หรือหากยังต้องการองค์ความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติมจากกลไกความร่วมมือเหล่านี้ ประเทศไทย ก็พร้อมประสานกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในการป้องกันระบบน้ำท่วม มาสนับสนุนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ภายหลังการประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศ ACMECS (แอ็กเม็กส์) เสร็จสิ้น รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ยังเปิดเผยด้วยว่า ตนเองได้มีโอกาสโทรศัพท์พูดคุยกับ สะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เพื่อพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหา และการจัดการอุทกภัย และสถานการณ์แม่น้ำโขง ซึ่งทั้งไทย และ สปป.ลาว ต่างมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งฝ่าย สปป.ลาว ได้ตอบรับ และพร้อมส่งเสริมความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในระดับทวิภาคี และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ ในการป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
โดยในระยะสั้น สปป.ลาว พร้อมที่จะขยายการติดตั้งโทรมาตรวัดน้ำไปยังลำน้ำสาขา พร้อมซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วม ในระยะยาวนั้น ฝ่าย สปป.ลาว พร้อมที่จะประสาน และบูรณาการข้อมูลกับฝ่ายไทย เพื่อให้เกิดระบบการเตือนฉุกเฉินในภาพใหญ่ด้วย ดังนั้น จึงมั่นใจว่า ความร่วมมือในระดับทวิภาคีนี้ จะเป็นตัวเสริมให้ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคให้แข็งแรงยิ่งขึ้นด้วย
“จากนี้จะหารือกับผู้นำของเวียดนาม และกัมพูชาต่อไปด้วย ซึ่งในการพูดคุยดังกล่าวที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงแล้ว ยังได้ นำเสนอเรื่องอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาพรมแดนร่วมกันด้วย ทั้งการแก้ไขปัญหายาเสพติด, การค้ามนุษย์, แก๊งส์คอลเซ็นเตอร์ และฝุ่น PM2.5 เป็นต้น”
มาริษ เสงี่ยมพงษ์
สทนช. ถกร่วม ‘อาเซียน-ประเทศลุ่มน้ำโขง’ สร้างความมั่นคงทางน้ำ รับมือภัยพิบัติ
ขณะเดียวกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เข้าร่วมการประชุม Asean-MRC Water Security Dialogue ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ Sustainable Investment for a connected, Resilient and Water-secure Southeast Asia ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว พร้อมด้วยการเข้าร่วมประชุมทวิภาคีกับ เมียนมา และ สปป.ลาว ด้วย
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การประชุม Asean-MRC Water Security Dialogue ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์ในการรับมือกับแนวโน้ม ความท้าทาย และโอกาสในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านน้ำ
และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคแม่น้ำโขงและอาเซียน รวมถึงเสริมสร้าง
ความเข้มแข็งและความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการจัดการกับความมั่นคงด้านน้ำอย่างจริงจัง
“ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ได้ร่วมแสดงจุดยืนด้านความมั่นคงด้านน้ำของไทย โดยกล่าวถึงความท้าทายที่ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติด้านน้ำ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง”
สุรสีห์ กิตติมณฑล
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน ในรอบนี้ ประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง จำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องการการสนับสนุนจากพันธมิตรอาเซียน ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุนประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้คณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้ประชุมเพื่อหารือความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกับเมียนมา และ สปป.ลาว ตามนโยบายของรัฐบาล โดยสำหรับการประชุมทวิภาคีกับเมียนมา ได้หารือประเด็นสำคัญเร่งด่วนด้านความร่วมมือชายแดนไทย – เมียนมา ประกอบด้วย
- ความร่วมมือระหว่างประเทศ : ประเทศสมาชิกอาเซียนและลุ่มแม่น้ำโขงได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
- การแบ่งปันข้อมูล: ประเทศต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำ ปริมาณฝน และคุณภาพน้ำ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
- เทคโนโลยีและนวัตกรรม : การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เช่น ระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์และรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
- ไทย-เมียนมา : เน้นความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำตามแนวชายแดน โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำสายและน้ำรวก รวมถึงการติดตั้งสถานีวัดระดับน้ำและการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยร่วมกัน
- ไทย-ลาว : มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ และการส่งเสริมการวิจัยร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง เป้าหมายระยะยาว
- ความมั่นคงทางน้ำ : การสร้างความมั่นคงทางน้ำให้กับภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและการผลิตเพียงพอ
- การพัฒนาอย่างยั่งยืน : การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บทบาทของไทย ประเทศไทยได้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือด้านน้ำในภูมิภาคอาเซียน โดยการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและการแบ่งปันประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับการประชุม Asean-MRC Water Security Dialogue เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในภูมิภาคในการร่วมกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางน้ำ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้กับ สปป.ลาว เพื่อให้เกิดประโยชน์และครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำโขง
โดยบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทย – สปป.ลาว คาดว่าจะลงนามร่วมกันในการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Council – MRC Council) ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมทั้ง ได้มีการเสนอโครงการร่วมวิจัยชุมชน (Joint Community Research) ระหว่างไทยและ สปป.ลาว เพื่อส่งเสริมอาชีพและการปรับตัวของชุมชน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มมูลค่าและรายได้ ให้กับประชาชนริมฝั่งน้ำโขงของทั้งสองประเทศอีกด้วย