ทั้งการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ การสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ อย่าเหมารวม ไร่เชิงเดี่ยว – ไร่หมุนเวียน
จากรณี สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความระบุว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ในปี 2566 ประมาณ 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 ถึง 171,143.04 ไร่ ตัดไม้ทำลายป่าเปลี่ยนภูเขามาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปีละเกือบ 200,000 ไร่
สาเหตุสำคัญของอุทกภัยและดินถล่มครั้งใหญ่ของ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา ในปี 2567 สาเหตุฝนตกหนักกว่าเดิมแต่พื้นที่ซับน้ำไม่มี ฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น
The Active สอบถามประเด็นนี้เพิ่มเติมกับ สนธิ คชวัฒน์ ยืนยันว่า เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำไร่หมุนเวียน รวมหมด รัฐปล่อยให้ประชาชนไปปลูกพืชบนภูเขาที่มาความลาดเอียง 35% สูงเกิน 600 เมตร ปล่อยให้ประชาชนเข้าไปบุกรุกได้อย่างไร
พร้อมเสนอว่า ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นป่าภาคเหนือก็ถูกทำลายไปทุกทีปีละ 200,000 ไร่ แล้วจะมีกฎหมายคุ้มครองไว้ทำไม ต้องปฏิรูปใหม่ เพราะปีนี้ภัยน้ำท่วม น้ำป่า หนักในรอบ 30 – 100 ปี
ด้าน ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งข้อสังเกตว่า น้ำท่วมแต่ละพื้นที่มีสาเหตุแตกต่างกันไป อย่างที่หน้า มหาวิทยาลัยพะเยา มาจากพื้นที่รับน้ำกลายเป็นเมือง และอาจบวกการสร้างทางรถไฟรางคู่ ตรงแม่สาย ก็เช่นกันที่มีการก่อสร้างอาคารขวางทางน้ำลำน้ำอิงที่ท่วมก็มาจากฝาย 18 ตัว ที่เชียงของก็มาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน ส่วนอำเภอเมืองเชียงราย แม่กกก็มีเขื่อนแม่กกขวางทางน้ำใต้เมือง
ในหลาย ๆ ที่น้ำท่วมเพราะพื้นที่ชุ่มน้ำถูกบุกรุกทำลาย แม้แต่ป่าริมน้ำก็ไม่เหลือเช่นที่ภาคกลาง นี่ยังไม่นับพนังกั้นน้ำที่ตัดระบบลำน้ำกับพื้นที่ชุ่มน้ำ
“หากชี้นิ้วไปที่ต้นน้ำอย่างเดียวมันง่ายเกินไป และเป็นวาทกรรมเก่าๆ ที่ทำให้คนต้นน้ำตกเป็นแพะรับบาป”
ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
สอดคล้องกับ จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ในรายการ Flash Talk ว่า การทำเกษตรในแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน บางจุดเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง บางจุดเป็นพื้นที่เกษตร ที่ดูแลระบบนิเวศไปด้วย เช่น ‘ไร่หมุนเวียน’ ซึ่งทำเกษตรและพักฟื้นพื้นที่ ให้ระบบนิเวศฟื้นฟู โครงสร้างการอุ้มน้ำใกล้เคียงกับระบบนิเวศในป่า
ส่วนระบบ ‘ไร่เชิงเดี่ยว’ จะต่างกัน เพราะเน้นปลูกพืชชนิดเดียว เช่น ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ทำซ้ำ ๆ การอุ้มน้ำหรือโครงสร้างของดินที่จะรับน้ำก็แตกต่างกัน
“อย่ามาเหมารวม ระบบไร่หมุนเวียน กับ ระบบพืชเชิงเดี่ยว คือความต่างของการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูง”
จตุพร เทียรมา
จตุพร เชื่อว่า สาเหตุหลักของน้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้นไม่สามารถเหมารวมได้ว่าชาวบ้านทุกพื้นที่ทำลายป่า เพราะชาวบ้านที่ห้วยหินลาดใน สร้างระบบจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างสมบูรณ์ แต่ที่เกินเงื่อนไขจะรับมือคือฝนที่ตกหนัก และแช่นานอยู่ในพื้นที่ คล้าย Rain Bomb ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนทำให้เมฆฝนไม่เคลื่อนตัวไปตกพื้นที่อื่น จนเกิดดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลาก