วันนี้แนวโน้มฝนลด แต่น้ำในลำน้ำกลับเพิ่มขึ้นหลังฝนตกหนักมากว่า 1 สัปดาห์ซ้ำเติมบางจุดที่เคยท่วม ขณะที่บางจังหวัดคันกั้นน้ำแตกทะลักท่วมหนักกว่าเดิม เงินเยียวยาทยอยส่งถึงมือผู้ประสบภัย นายกฯ ทำอะไรบ้างที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่วันนี้ The Active รวบรวมไว้ให้
เงินเยียวยารักษาใจผู้ประสบภัย พร้อมตั้ง ศปช.ส่วนหน้า
เงินเยียวยา “ล็อตแรก” ถึงมือประชาชน 3,623 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ-น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และรัฐบาลจะทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ครบทั้ง 57 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
หลังจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงรายวานนี้(27 ก.ย.67) ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด คือ ลำปาง พะเยา สุโขทัย เชียงใหม่ และหนองคาย ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์
นางสาวแพทองธาร ย้ำถึงการเร่งให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการจ่ายค่าเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด
พร้อมสั่งตั้ง ศปช. ปฎิบัติการส่วนหน้า เพื่อเป็นศูนย์สั่งการ และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นั่งเป็นประธาน ให้ประจำหน้างานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย
สำหรับการฟื้นฟูกิจการ กระทรวงการคลัง ได้เตรียมเรื่อง Soft Loan วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายกลุ่ม Micro SME ขึ้นไป รวมไปถึงบุคคลธรรมดา ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด และซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงสินค้าธงฟ้าในราคาประหยัด เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จะเป็นผู้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาให้เสร็จ พร้อมกับขอให้ส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนเครื่องจักร และเครื่องมือ อัตรากำลังพล เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง
เช่นเดียวกับกระทรวงกลาโหม โดย พลตรีธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยเหลือประชาชน และพื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ สำหรับดินโคลนที่ตกค้างในบ้านเรือนสูงเฉลี่ยกว่า 1 เมตร ต้องใช้กำลังคนทำความสะอาดเฉลี่ย 1 หลัง 30 คน ต่อ 1 วัน พร้อมย้ำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ได้แยกโซนกันทำงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน จึงเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชนจะเป็นระบบและรวดเร็วมากขึ้น
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย ได้โอนเงินเยียวยาล็อตแรกถึงมือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายแล้ว จำนวน 3,623 ครัวเรือน จาก 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงราย 3,305 ครัวเรือน อำเภอแม่สาย 222 ครัวเรือน และ อำเภอขุนตาล 96 ครัวเรือน
โฆษกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า นายอนุทิน กำชับให้ทุกส่วนในกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกฯ อย่างเข้มงวด
และย้ำว่า การเยียวยาจะยึดตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 โดยจะจ่ายให้กับครัวเรือนซึ่งประสบอุทกภัยตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2567 รวมพื้นที่ 57 จังหวัด
ขณะที่วันนี้ (28 ก.ย.67)นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่ เป็นที่สอง เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด พร้อมได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำขอบคุณจิตอาสา เจ้าหน้าที่กู้ภัย และเจ้าหน้าที่ อส. ซึ่งปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยความเสียสละในนามของรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี ยังได้ย้ำถึงการนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นทุกฝ่ายว่า รัฐบาลจริงจังในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเร่งขับเคลื่อนแผนงานโดยเร็ว ทั้งการเยียวยา และการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งให้กำลังใจทุกฝ่ายที่ปฏิบัติภารกิจด้วยความทุ่มเท และยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกด้าน และไม่ทอดทิ้งประชาชนอย่างแน่นอน
นายกรัฐมนตรี ได้ไปติดตามการฟื้นฟูพื้นที่ที่บ้านเกาะทราย และบ้านผาจม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก่อนจะเดินทางไปมอบสิ่งของ และ เงินเยียวยาให้ผู้ประสบอุทกภัย ที่วัดพรหมวิหาร ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายโดยได้ให้กำลังใจประชาชน และย้ำถึงความตั้งใจในการส่งความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด พร้อมระบุว่า ภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะฟื้นฟูถนนสายหลัก ชุมชนและตลาดได้สำเร็จ และคาดว่า ต้นเดือนพฤศจิกายนนี่้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ทั้งหมด
ขณะที่ในช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกระชับแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่
น้ำยังท่วมจุดไหน วันที่ 28 ก.ย. 2567
จ. เชียงใหม่ วันนี้ (28 ก.ย.2567)น้ำที่ไหลจากตัวเมืองเชียงใหม่ เริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่รับน้ำรอบนอก อย่าง อำเภอหางดง และ อำเภอสารภี ระดับน้ำยังน่าเป็นห่วง บางจุดน้ำท่วมสูง อย่างพื้นที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จะเห็นว่า แม่น้ำปิง และ ลำน้ำสาขา เอ่อล้นตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำท่วมสูง ทำให้การเข้าช่วยเหลือยากลำบาก หลายชุมชนท่วมสูงมากกว่า 1-2 เมตร อย่างชุมชนบ้านเกาะ ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง ชาวบ้านต้องอพยพมาอยู่บนถนนหลายวันแล้ว ขณะที่ น้ำในตัวเมืองเชียงใหม่ หลายจุดเริ่มเป็นนปกติแล้ว แต่ถนนช้างคลานซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ ยังมีน้ำท่วมสูง ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนยังไม่สามารถ กลับมาเปิดให้บริการได้ สร้างความเสียหายอย่างหนัก
รศ.นิสิต พันธมิตร นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผย แม้ความเสียหายจากน้ำท่วมจะเกิดขึ้นในช่วงเวลา สั้น ๆ แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการค้าขายเป็นหลัก
จ.หวัดลำปาง แม่น้ำวังล้นตลิ่งท่วมฟาร์มเลี้ยงหมู ทำให้มีหมูจมน้ำตายกว่า 300 ตัว คนงานฟาร์มหมูในตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง เร่งเคลื่อนย้ายหมูกว่า 2,700 ตัว ไปไว้ที่ปลอดภัย หลังแม่น้ำวังล้นตลิ่งท่วมนานกว่า 3 วัน ทำให้หมูกว่า 300 ตัว จมน้ำตาย เจ้าของฟาร์ม เล่าว่า แม้จะทำคันดินกั้นรอบฟาร์มแล้ว แต่น้ำจากแม่น้ำวังไหลเข้ามาทางท่อระบายน้ำ แล้วท่วมฟาร์มอย่างรวดเร็ว ทำให้ขนย้ายหมูไม่ทัน หลายตัวจมน้ำตาย รวมมูลค่าความเสียหาย กว่า 2 ล้านบาท
ส่วนแม่น้ำวังบริเวณ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ยังมีหลายชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังมีน้ำท่วมขัง ซึ่งเจ้าหน้าที่เร่งนำอาหาร และ น้ำดื่ม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
จ.พะเยา เร่งระบายน้ำออกจาก กว๊านพะเยา หลังมีปริมาณน้ำ 62 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินความจุที่ 55 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำไหลเข้าท่วม บ้านเรือน 168 หลัง ในหมู่บ้านฝั่งหมิ่น ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ เป็นรอบที่สองแล้ว ระดับน้ำท่วมสูง 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ชาวบ้านบางคนไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้
จ.ลำพูน ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ช่วยกันบรรจุกระสอบทรายเสริมแนวป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำกวง หลังระดับน้ำเพิ่มสูงเกินจุดวิกฤตแล้ว 1 เมตร จึงกังวลว่าน้ำจะเอ่อท่วมชุมชม สวนลำไย และนาข้าว ส่วนพื้นที่ที่อยู่ติดฝั่งริมน้ำปิง ก็ยังได้รับผลกระทบจาก ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดเชียงใหม่ด้วย
จ.พิษณุโลก ที่ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก คลองเนินกุ่ม ซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำน่าน ยังล้นตลิ่งไหลท่วมชุมชน เป็นวันที่ 4 บางจุดน้ำท่วมสูงชาวบ้านเข้าออกไม่ได้ เจ้าหน้าที่เร่งนำอาหาร และเครื่องดื่มเข้าช่วยเหลือขณะที่แม่น้ำน่านที่ไหลผ่านตัวเมืองพิษณุโลก ยังมีกระแสน้ำไหลแรง ชาวเรือนแพริมแม่น้ำน่านต้องคอยเฝ้าระวัง และดึงแพให้อยู่ริมตลิ่งให้มากที่สุด
จ.สุโขทัย เมื่อเดือนที่ผ่านมา ชาวบ้านยังไม่ทันจะเก็บข้าวของ และทำความสะอาดบ้าน ล่าสุด น้ำท่วมซ้ำอีก โดยเฉพาะที่ตำบลท่าทาง อำเภอสวรรคโลก พนังกั้นน้ำจุดเดิม แตกซ้ำเป็นรอบที่ 2 จำนวน 2 จุด น้ำหลากเข้าท่วมชุมชน และพื้นที่เกษตรขยายเป็นวงกว้าง พนังกั้นน้ำ หมู่ 6 ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ที่อำเภอสวรรคโลกเกิดปัญหาพนังกั้นน้ำ แตกซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือน และกำลังขยายวงกว้าง เนื่องจากมีน้ำผุด และรอยร้าว จากกระแสน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลแรงน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่บ้านท่าทอง หมู่ที่ 6 เป็นจุดเดียวกันที่ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา พนังกั้นน้ำ เกิดการทรุดตัว จากการกัดเซาะของน้ำในแม่น้ำยมและไหลทะลัก เข้าท่วมชุมชน และพื้นที่เกษตร จากน้ำท่วมใหญ่ครั้งก่อน ครั้งนั้นบางจุดน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร แต่ถ้าหากดูจากสภาพปัจจุบันก็จะเห็นว่า ตัวพนังกั้นน้ำนั้น ยังไม่ได้มีการซ่อมแซ่มตัวโครงสร้างที่เป็นคอนกรีต เป็นเพียงการท่วมดิน และแนวกระสอบทรายชั่วคราวเท่านั้น
สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา
วันนี้(28 ก.ย. 2567) ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา ต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอีกรอบ โดยวันนี้เขื่อนเจ้าพระยา ปรับอัตราการระบายน้ำ เพิ่มขึ้นอีก อัตรา 1,883 ลูกบาศ์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มจะระบายไปจนถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรับทั้งน้ำเหนือและฝนตก ตลอดสัปดาห์นี้ ภาคกลางยังไม่น่าใจวางใจ “ลุ่มน้ำพระยา” เพราะน้ำจากภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน จะไหลมาบรรจบกันที่ จ.นครสวรรค์ คาดว่าปลายเดือนกันยายนนี้ จะทำให้ สถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ คาดมีน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นไปถึง 2,500 ลบ.ม./วินาที และมีความเป็นไปได้สูงที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะเพิ่มอัตราการระบายน้ำมาก ถึง 2,000 ลบ.ม./วินาที
เนื่องจากว่าปลายเดือนนี้ มีปัจจัยของหย่อมความกดอากาศสูงพาดผ่าน ประกอบกับภาคกลางมีความชื้นมากทำให้อาจมีฝนตกหนักลงมา ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. และ 1, 2 ต.ค 67
ไทยพีบีเอส สำรวจระดับเจ้าพระยา ในพื้นที่ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พบว่า ระดับน้ำเริ่มปริ่มตลิ่ง แต่ยังไม่เอ่อเข้าท่วมชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังเช้าวันนี้ เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการ ระบายน้ำจากเมื่อวานขึ้นอีก อยู่ที่ 1,883 ลูกบาศ์เมตรต่อวินาที เพื่อช่วยระบายน้ำเหนือที่จะไหลเข้ามาเพิ่มเติมใน 2-3 วันนี้ ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน เพิ่มขึ้น 70 เซนติเมตร ในรอบ 24 ชั่วโมงนี้
เจ้าหน้าที่ อบต.โผงเผง และชาวบ้าน ช่วยกันกรอกกระสอบทราย เพื่อทำแนวป้องกันน้ำท่วมเข้าชุมชน และนำเต้นท์มาติดตั้งไว้บนถนน เพื่อเป็นสถานที่พักอาศัยชั่วคราว หากน้ำท่วมบ้านจน ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ซึ่งขณะนี้ ตำบลโผงเผง มีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมแล้ว กว่า 20 หลังคาเรือน ใน 4 หมู่บ้าน
ขณะที่ นายศุภชัย มะพล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ได้ระบายน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 7 แห่ง ได้แก่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางบาล ทุ่งบ้านแพน ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง เพื่อตัดยอดน้ำบางส่วน ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ โดยขณะนี้ ระบายน้ำเข้าทุ่ง อยู่ที่ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ศักยภาพของทั้ง 7 ทุ่ง สามารถรับน้ำได้สูงสุด 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะรักษาระดับน้ำในทุ่งไม่ให้เกิน 1 เมตร ตามข้อตกลงร่วมกัน
จิสด้าเผยภาพดาวเทียม น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน
จิสด้าเปิดเผย หลักฐานปรากฏชัดเจนด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พบดินถล่มหลายจุดปรากฏเป็นสีน้ำตาลแดง ตัดกับสีเขียวของป่าไม้หรือแปลงเกษตรอย่างเห็นได้ชัดแต่ละร่องรอยมีความกว้างประมาณ 20 – 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับถนนขนาด 4 เลน และมีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ ภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึง 1 ในสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่าง
หากดูตามลักษณะภูมิศาสตร์ ตัวเมืองแม่สาย ตั้งอยู่ติดกับเชิงเขา และติดกับแม่น้ำที่ไหลมาจากเขตภูเขา ทำให้น้ำหลากลงมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาย ส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศเมียนมาประมาณ 80% และอีก 20% อยู่ในพื้นราบลุ่มในเขตแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก
และจากการสำรวจโดยนักวิชาการไทย พบว่าปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำแม่สาย ได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพของป่าไม้การชะลอและกักเก็บน้ำลดลงไปด้วย