วันนี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!
เตรียมรับลมหนาว 29 ก.ย.-3 ต.ค.นี้
กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 3 มีผลกระทบในช่วงวันที่ 29 ก.ย.-3 ต.ค.นี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นได้ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักบางแห่งและมีฝนตกหนักมากบาง
หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1–3 องศาเซล เซียส ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
สรุปจังหวัดที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบ 29 ก.ย.2567
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนมในวันที่ 30 ก.ย.-1 ต.ค.นี้
ภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
2–3 ต.ค. 2567
ภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
ภาคกลาง นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
พายุโซนร้อน “กระท้อน” เสี่ยงเป็นพายุไต้ฝุ่น
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน เมื่อเวลา 04.00 น.บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก มีพายุอยู่ 2 ลูกที่ 1พายุโซนร้อนกำลังแรง “กระท้อน” (KRATHON) หมายถึงชื่อผลไม้ชนิดหนึ่ง ตั้งชื่อโดยประเทศไทย เป็นพายุลูกที่ 18 (RSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น) ศูนย์กลางยังอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ เนื่องจากยังอยู่ในทะเลที่อุ่น แต่ทิศทางการเคลื่อนตัวจะไปทางเกาะไต้หวัน และโค้งกลับไปทางประเทศญี่ปุ่น
ส่วนพายุอีกลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก (อยู่ห่างมาก)พายุโซนร้อน “เชบี (JEBI)”(พายุลูกที่ 17) ทิศทางการเคลื่อนตัวยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุทั้ง 2 ลูก ไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยและไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปเกาะไต้หวัน ช่วงวันที่ 30 ก.ย. -2 ต.ค. 67 ตรวจสอบสภาพอากาศและวางแผนก่อนออกเดินทาง
“เขื่อนแม่งัด” ขอเวลา 34 ชั่วโมง ปรับระบายน้ำล้นสปิลเวย์
เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กรมชลประทาน แจ้งแผนการระบายน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ระบุว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายสถานการณ์ มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 30 ก.ย. ต่อเนื่องถึงวันที่ 2 ต.ค.นี้ในปริมาณปานกลางถึงหนักมากในบางพื้นที่
ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขามีแนวโน้มที่สูงขึ้นและปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเพิ่มขึ้นจากเดิมและล้นข้ามอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ในอัตราสูงถึง 150-200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม.ต่อวินาที) ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไหลลงสู่แม่น้ำปิง และส่งผลกระทบกับเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ตอนล่าง
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล ขอแจ้งแผนการระบายน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล โดยจะระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้น (Service Spillway) ในอัตรา 110 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.นี้ เวลา 07.00 น.ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ เวลา 17.00 น.รวมระยะเวลา 34 ชั่วโมง
โดยการระบายน้ำดังกล่าวจะไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับปริมาณน้ำที่จะระบายเพิ่ม ขอให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สองฝั่งน้ำแม่งัดทราบแผนการระบายน้ำ พร้อมเฝ้าระวังปริมาณน้ำในน้ำแม่งัดและแม่น้ำปิงที่จะเพิ่มขึ้นสูง และขอให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ขณะที่บริเวณแม่น้ำน่าน ในพื้นที่จ.พิษณุโลก พบว่า แพร้านอาหารขนาดใหญ่ ชื่อร้านอาหารชาวแพ จอดอยู่ในแม่น้ำน่าน เชิงสะพานเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก ถูกความแรงของแม่น้ำน่านพัดหลุดจากฝั่ง ลอยไปกลางแม่น้ำ ชาวบ้านต่างกังวลว่า แพร้านอาหารขนาดใหญ่นี้จะลอยไปชนเรือนแพ และแพร้านอาหาร ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านต้องช่วยกันใช้เรือหางยาว 10 ลำ ออกติดตาม และประคองแพไม่ให้ไปชนกับเรือนแพที่อยู่อาศัยรวมถึงแพร้านอาหารอื่น ๆ โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที จึงสามารถนำแพ ที่แยกออกจากกันเป็น 2 ส่วนนำไปผูกไว้ริมตลิ่ง โดยแพหลุดลอยออกมาไกลระยะทาง 3 กิโลเมตร
เขื่อนเจ้าพระยาปรับอัตราการระบายน้ำ
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เร่งขนย้ายทรัพย์สินออกจากตัวบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูง ก่อนย้ายนำขึ้นไปไว้บนแพเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว หลังน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้น เข้าท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร และยังจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขื่อนเจ้าพระยามีการปรับอัตราการระบายน้ำ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ แม้จะเป็นการระบายแบบขั้นบันได เช่นเดียวกับชาวบ้านในหมู่ที่ 3 ต.โผงเผง ซึ่งเป็นจุดที่ไม่มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ทำให้น้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านขยายวงกว้างออกไป บางจุดสูงกว่า 1 เมตร ต้องเข้า-ออกบ้านด้วยเรือเท่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จังหวัดจึงขอให้ประชาชนใน พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งพื้นที่อ่างทองมีน้ำท่วมแล้ว 2 อำเภอ คือ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก และ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 200 หลังคาเรือน
ลำพูนน่าห่วง น้ำยังท่วมสูง
น้ำยังคงท่วมตัวเมือง จ.ลำพูน โดยระดับน้ำยังทรงตัวอยู่ที่ 30 ซม.ถึงเกือบ 1 เมตร นอกจากบ้านเรือนของชาวบ้านที่น้ำท่วมแล้ว หน่วยงานราชการหลายแห่งถูกน้ำท่วมพื้นที่ ทั้งสำนักงานธารณสุขอำเภอเมืองลำพูน รพ.สต.เวียงยอง ลำพูน สำนักงานประมงจังหวัดลำ พูน สำนักงานเทศบาลเวียงยอง สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจพื้นที่น้ำท่วมจุดแรก ซอยโรงเรียนอรพิน อ.เมือง จ.ลำพูน ชาวบ้านบอกว่าระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นอีก 5 ซม.ทำให้ระดับน้ำบริเวณถนนสัญจร มีระดับน้ำประมาณ 20-50 ซม.การสัญจรรถเล็กต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเครื่องดับได้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ต้องนำเรือเข้าไปช่วยอพยพประชาชน และเด็กเล็กต่อเนื่อง รวมถึงประชาชนยังต้องย้ายทรัพย์สิน ออกมาอยู่ถนน และตั้งเต็นท์พักอาศัยกันต่อเนื่องเข้าสู่วันที่ 4 แล้ว
น้ำปิง-น้ำกวง ล้นตลิ่งไหลเติม “ลำพูน”
ด้าน สันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของจ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นต้นทางของแม่น้ำปิง ไหลผ่านมายังพื้นที่ของ จ.ลำพูน ในฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดมวลน้ำจำนวนมากไหลลงมา
จากการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ขณะนี้สถานการณ์น้ำปิง และน้ำกวงยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลิ่ง แต่มีแนวโน้มน้ำปิง เริ่มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยังไม่มีมวลน้ำจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำไหลลงมาเพิ่มเติม ส่วนการระบายน้ำปิง ทางชลประทานจังหวัด รายงานข้อมูล ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อน้ำปิงเริ่มลดระดับลงเป็นสีส้ม ข้อมูลล่าสุด วัดได้ 3.36 ม. ระดับน้ำลดลงจะส่งผลดีให้น้ำกวงระบาย และลดระดับได้เร็วยิ่งขึ้น
มีข้อสั่งการให้ชลประทานจังหวัด เร่งบริหารจัดการระดับน้ำกวงให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และมีการนำเครื่องจักรเข้าสนับสนุนภารกิจ เปิดทางน้ำตามเส้นทางของลำน้ำปิง และลำน้ำกวงตลอดทั้งสายทันที
สทนช. คาดการณ์สถานการณ์น้ำที่สำคัญ
- สถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงเหนือ ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำโขงภายในประเทศและแม่น้ำโขงเหนือ สายหลัก รวมถึงแม่น้ำกก แม่น้ำอิง อยู่ในสภาวะปกติ และปริมาณฝนที่ตกในช่วงนี้ไม่ก่อให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย
- สถานการณ์น้ำแม่น้ำปิง อยู่ในสภาวะปกติ ปัจจุบันเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำ 300 ล้าน ลบ.ม. (113 % ของความจุอ่างฯ) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยหน่วงน้ำไว้จึงทำให้สามารถลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สถานการณ์น้ำแม่น้ำวัง เขื่อนกิ่วคอหมา ระบายน้ำในอัตรา 118 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวาน 66 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนกิ่วลม ระบายน้ำในอัตรา 365 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวาน 31 ลบ.ม./วินาที โดยทั้งสองเขื่อนได้บริหารให้มีผลกระทบต่อท้ายน้ำน้อยที่สุด ส่งผลให้สถานการณ์บริเวณลุ่มน้ำวังท้ายเขื่อนกิ่วลมเขื่อนกิ่วคอหมา น้ำวังเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำวัง บริเวณ ต.ปงดอน ต.แจ้ห่ม ต.วิเชตนคร ต.บ้านสา และ ต.แม่สุก อ.เมือง จ.ลำปาง
- สถานการณ์น้ำแม่น้ำยม ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำยมส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะปกติ ยกเว้น บริเวณ สถานี Y.33 อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย มีระดับน้ำ 10.76 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 0.36 ม.) ระดับน้ำมีแนวโน้มปริมาณน้ำลดลง และคาดการณ์จะลดลงเข้าสู่ตลิ่งวันที่ 29 ก.ย. 67 สถานี Y.64 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปัจจุบันระดับน้ำ 8.15 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 1.75 ม.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะปริมาณน้ำสูงสุด 629 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 3 ต.ค. 67 และจะเริ่มลดลง และสถานี Y.16 ต.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำ 8.87 ม. สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.57 ม. (ระดับตลิ่ง 7.30 ม.) ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
- สถานการณ์แม่น้ำน่าน ปัจจุบันสถานการณ์น้ำอยู่ในสภาวะปกติ บริเวณแม่น้ำน่านที่สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันมีระดับน้ำ 26.92 ม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 0.38 ม.) ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดว่าในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำจะอยู่ในช่วง 1,100 – 1,170 ลบ.ม./วินาที และสถานี N.7A อ.เมือง จ.พิจิตร ปัจจุบันมีระดับน้ำ 9.64 ม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 0.23 ม.) มีแนวโน้มลดลง
- สถานการณ์แม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันสถานการณ์น้ำอยู่ในสภาวะปกติ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ระบายน้ำ ในอัตรา 260 ลบ.ม./วินาที โดยจะทยอยปรับเพิ่มการระบายเป็นอัตรา 280 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 30 ก.ย. 67 และ 320 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 1 ต.ค. 67 จนถึงอัตรา 350 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 2 ต.ค. 67 โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้บริหารให้มีผลกระทบต่อท้ายน้ำน้อยที่สุด ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 1.00 – 1.20 ม. โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ยังอยู่ในลำน้ำและไม่เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก
- สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ความจุลำน้ำ 3,660 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,934 ลบ.ม./วินาที (ร้อยละ 53 ของความจุลำน้ำ) คาดว่าในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำจะอยู่ในช่วง 1,900 – 2,000 ลบ.ม./วินาที (ร้อยละ 50- 52 ของความจุลำน้ำ) ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในอัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที และจะคงอัตรานี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานี C.29A ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความจุลำน้ำ 3,500 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,965 ลบ.ม./วินาที (ร้อยละ 56 ของความจุลำน้ำ)
- สถานการณ์แม่น้ำชี ปัจจุบันสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำชีที่สถานี E.8A อ.เมือง จ.มหาสารคาม ปัจจุบันมีระดับน้ำ 10.27 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 0.77 ม.) ระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว สถานี E.66A อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบัน มีระดับน้ำ 12.16 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 0.56 ม.) ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสถานี E.85 อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีระดับน้ำ 5.35 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 0.15 ม.) แนวโน้มลดลง
- สถานการณ์แม่น้ำมูล ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำมูลอยู่ในสภาวะปกติ สถานี M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันมีระดับน้ำ 6.26 ม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 0.74 ม.) ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- สถานการณ์แม่น้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำโขงภายในประเทศอยู่ในสภาวะปกติและแม่น้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสงคราม ที่สถานี Kh.74 อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ปัจจุบันมีระดับน้ำ 9.35 ม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 0.15 ม.) ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง สถานี Kh.103 ห้วยหลวง อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี ปัจจุบันมีระดับน้ำ 5.45 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 0.45 ม.) แนวโน้มลดลง
การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน ในช่วงวันที่ 29 ก.ย. – 1 ต.ค. 67 สทนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา (อ.เบตง) จ.น่าน (อ.เชียงกลาง แม่จริม และปัว) จ.ศรีสะเกษ (อ.ห้วยทับทัน) และ จ.นราธิวาส (อ.สิคิริ)
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่ามีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย หนองคาย อุดรธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวม 75 อำเภอ 295 ตำบล 1,466 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 39,879 ครัวเรือน