ยังไม่จบง่าย ๆ กรมอุตุฯ ประเมิน ภาคใต้อาจต้องตั้งรับพายุหมุนเขตร้อนในช่วงมรสุมตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคมปีนี้ หวั่นมีโอกาสรับผลกระทบเต็ม ๆ ทั่วทั้งภาค
วันนี้ (7 พ.ย. 67) ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ออกประกาศฉบับที่ 2 (46/2567) เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ช่วงวันที่ 8 – 11 พฤศจิกายน 2567) โดยระบุว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ดังนี้
- มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส
- มีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.ชุมพร
ขอให้ประชาชนระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ฝนที่ตกสะสม และลมกระโชกแรง ซึ่งอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มในพื้นที่ลาดเชิงเขา สำหรับชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม มีโอกาสสูงที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง หรือพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรงและอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ความสูงของคลื่น มากกว่า 3-5 เมตร
เฝ้าระวังพายุหมุนเขตร้อน
โดยรูปแบบทางเดินของพายุหมุนเขตร้อน ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2567 มีดังนี้
- ครึ่งเดือนแรกของเดือนพฤศจิกายน 2567 เส้นทางพายุเคลื่อนตัวเข้ามากสุด (เส้นสีแดง) มีโอกาสเข้าที่บริเวณภาคใต้ตอนกลาง ส่วนเส้นทางพายุเคลื่อนตัวเข้า รองลงมา (เส้นสีเขียว) จะเข้าในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง
- ครึ่งเดือนหลังของพฤศจิกายน 2567 เส้นทางพายุเคลื่อนตัวเข้ามากสุด (เส้นสีแดง) มีโอกาสเข้าที่บริเวณภาคใต้ตอนล่าง ส่วนเส้นทางพายุเคลื่อนตัวเข้า รองลงมา (เส้นสีเขียว) จะเข้าตอนกลางของภาคใต้
- เดือนธันวาคม 2567 เส้นทางพายุเคลื่อนตัวเข้ามากสุด (เส้นสีแดง) มีโอกาสเข้าที่บริเวณภาคใต้ตอนล่าง ส่วนเส้นทางพายุเคลื่อนตัวเข้า รองลงมา (เส้นสีเขียว) จะเข้าตอนใต้โดยเฉพาะบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สอดคล้องกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ฝน 6 เดือนล่วงหน้า ONE MAP พบว่า เดือนตุลาคมมีฝนเฉลี่ยสะสม 319 มิลลิเมตร, เดือนพฤศจิกายน 378 มิลลิเมตร, เดือนธันวาคม 378 มิลลิเมตร, เดือนมกราคม 78 มิลลิเมตร, เดือนกุมภาพันธ์ 40 มิลลิเมตร และ เดือนมีนาคม 68 มิลลิเมตร
ช่วงเวลา-ความเสี่ยงน้ำท่วมภาคใต้
สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมภาคใต้ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 – มกราคม 2568 พบว่า
เดือนพฤศจิกายน จะมี 16 จังหวัด 107 อำเภอ 484 ตำบล
- เกิดน้ำท่วมฉับพลัน 16 จังหวัด 70 อำเภอ 168 ตำบล ที่ จ.เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สตูล, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส
- น้ำหลาก 12 จังหวัด 80 อำเภอ 316 ตำบล ที่ จ.เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, พังงา, ภูเก็ต, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สงขลา, สตูล และ นราธิวาส
เดือนธันวาคม จะมี 14 จังหวัด 129 อำเภอ 783 ตำบล
- น้ำท่วมฉับพลัน 14 จังหวัด 91 อำเภอ 246 ตำบล ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ระนอง, พังงา, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สตูล, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี และ นราธิวาส
- น้ำหลาก 12 จังหวัด 102 อำเภอ 519 ตำบล ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สงขลา, สตูล, ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส
เดือนมกราคม จะมี 12 จังหวัด 87 อำเภอ 380 ตำบล
- น้ำท่วมฉับพลัน จ.ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ระนอง, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี และ นราธิวาส
- น้ำหลาก 11 จังหวัด 62 อำเภอ 237 ตำบล ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี และ นราธิวาส
ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2567 ยังคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกสะสม และล่วงหน้า 3 วัน พบปริมาณฝนสูงสุดรายอำเภอ มากกกว่า 200 มิลลิเมตร ใน 20 ลำดับแรก เช่น อ.เมืองชุมพร 465 มิลลิเมตร, อ.เทพา จ.สงขลา 361 มิลลิเมตร, อ.นาทวี จ.สงขลา 354 มิลลิเมตร, อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 347 มิลลิเมตร, อ.ปะทิว จ.ชุมพร 340 มิลลิเมตร เป็นต้น
ขณะเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับ กองทัพบก (ทบ.) ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ ลงไปประจำการยัง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยปัจจุบัน ฮ.ปภ.32 – 02 พร้อม The Guardian Team – นักบิน ช่างประจำอากาศยาน และเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำอากาศยาน ได้เดินทางถึง จ.สุราษฎร์ธานี และเข้าประจำการ ณ ค่ายวิภาวดีรังสิต เป็นที่เรียบร้อย พร้อมออกปฏิบัติการทันทีที่ได้รับการร้องขอจากพื้นที่ ทั้งนี้ ฮ.ปภ.32 – 02 และ The Guardian Team จะอยู่ Standby ปฏิบัติภารกิจเพื่อพี่น้องประชาชนภาคใต้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
คาด ‘ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย’ รับศึกหนัก
คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวังฝนเพิ่มขึ้นในภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่มีแนวโน้มฝนตกหนัก ทั้งนี้ได้วางแผนเตรียมจัดตั้งศูนย์พักพิงรองรับประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่
สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ เปิดเผยว่า ในระยะนี้ประเทศไทยมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนเข้ามาตามแนวร่องมรสุม ส่งผลให้ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่มีแนวโน้มฝนตกหนักมาก จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่พื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ลงไป
ขณะเดียวกันยังได้ติดตามวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ล่วงหน้าทั้งระยะสั้นราย 3 วัน และระยะยาว 3 เดือน (พ.ย. 67 – ม.ค. 68) เพื่อใช้วางแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงดินโคลนถล่ม ช่วยป้องกัน และลดผลกระทบให้ประชาชน พร้อมทั้งได้ติดตามการจัดตั้งศูนย์พักพิงเพื่อรองรับกรณีประชาชนในจุดเสี่ยงจำเป็นต้องอพยพจากที่พักอาศัย ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมแผนจัดตั้งศูนย์พักพิงแบบถาวรร่วมใจอุ่นไอรัก โดย ปภ. จำนวน 12 แห่ง รวมถึงศูนย์พักพิงชั่วคราวอีกจำนวน 3,033 แห่ง
พร้อมเน้นย้ำให้เตรียมพร้อมครอบคลุมในทุกพื้นที่ของภาคใต้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังคงกำชับให้มีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากหรือปริมาณน้ำเกินความจุเพื่อให้มีช่องว่างรองรับฝนที่จะตกในช่วงหลังจากนี้ เช่นที่อ่างฯ บางลาง จ.ยะลา ยังคงอัตราการระบายน้ำอยู่ในอัตรา 12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อเตรียมการรับมือน้ำหลากในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม 2568
“ที่ผ่านมามีการถอดบทเรียนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการพยากรณ์และเตือนภัย ด้านการรับรู้ความเสี่ยงของพื้นที่ ด้านการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ และเครื่องจักรเครื่องมือ และด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งนำมาปรับเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ให้ดีผ่านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการเชื่อมโยงทุกลุ่มน้ำกับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว)ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ พร้อมทั้งจะรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รับทราบในการประชุมวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ต่อไป”
สุรสีห์ กิตติมณฑล
นอกจากฤดูฝนของภาคใต้ซึ่งมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องแล้ว อิทธิพลของลมตะวันตกยังส่งผลให้ในช่วง 1 – 2 วันนี้ มีแนวโน้มฝนเพิ่มขึ้นและลมกระโชกแรงในพื้นที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตก บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน, เชียงราย และเชียงใหม่ โดยจะมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน