นักธรณีวิทยา จุฬาฯ วิเคราะห์แนวโน้มน้ำท่วมภาคใต้ ชี้ 3 รูปแบบ ภัยดินถล่ม โคลนไหลหลาก น้ำท่วม ย้ำสถานการณ์หนัก แต่มีบางปัจจัยทำให้ความเสียหายน้อย จี้หน่วยงานรัฐ ทำงานเชิงรุกช่วงภัยสงบ ให้ข้อมูลประชาชนรู้ทัน รับมือได้
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ The Active พูดคุยกับ ศ.สันติ ภัยหลบลี้ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง และรูปแบบของภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ โดยมองว่า จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ จะเห็นชัดเจนว่าภาคใต้ตอนล่างฝั่งตะวันออก ปัจจุบันมีมวลน้ำสะสมมากขึ้น (ลูกศรชี้ขึ้น) พอมวลน้ำเริ่มสะสมมากขึ้น และบางส่วนเป็นสีแดง แสดงว่า น้ำเริ่มล้นตลิ่งแล้ว
ศ.สันติ ยังระบุอีกว่า หลังจากนี้สถานการณ์จะหนักขึ้น หากฝนยังตกไม่หยุด ก็จะเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่างฝั่งตะวันออก แต่ที่น่าสนใจ คือ สภาพพื้นที่อ่อนไหวน้อยกว่าภาคเหนือ เพราะภาคเหนือเป็นต้นน้ำ ฝนที่ตกลงมาจึงต้องมีทางไป ทำให้ผลกระทบโดนกันเป็นทอด ๆ แต่สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ อาจยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่น่ากังวลกว่าพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่
- ลักษณะเชิงภูมิประเทศ น้ำไม่ขังเป็นเวลานาน การเดินทางของน้ำใช้ระยะเวลานสั้น เพื่อระบายลงสู่ทะเล
- ลักษณะของชุมชน ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกาะกลุ่มเป็นชุมชนใหญ่ ทำให้ความอ่อนไหว ความเปราะบางมีน้อย
“ภัยมันเกิดขึ้นจริง มีน้ำท่วมหลายพื้นที่จริง แต่จะเห็นว่า ข่าวไม่ได้ฮือฮาเหมือนตอนภาคเหนือ เพราะชุมชนเขาอยู่เป็นกระจุกเล็ก ๆ ไม่มากนัก”
ศ.สันติ ภัยหลบลี้
สำหรับ รูปแบบภัย ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อฝนยังตกต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยได้ 3 รูปแบบ คือ
- ดินถล่ม
- ดินโคลนไหลหลาก
- น้ำท่วม ที่มาจาก น้ำล้นตลิ่ง และ น้ำป่า
กรณีแรก ดินถล่ม ตอนนี้เริ่มเห็นหลายพื้นที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะภูเขาอุ้มน้ำไว้มาก ทำให้เกิดดินถล่มได้ แต่ส่วนใหญ่ ดินถล่ม จะเกิดบริเวณพื้นที่สูงชัน ซึ่งพื้นที่สูงชัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่เขา อย่าง จ.ยะลา จ.นราธิวาส
“ดินถล่มทําให้ถนนขาด แต่ถามว่าถึงกับมีผู้สูญเสียชีวิต หรือว่าสูญเสียชีวิตเป็นจํานวนมากไหม คงไม่ใช่ เพราะเราก็ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงชันอยู่แล้ว”
ศ.สันติ ภัยหลบลี้
ในส่วนของ ดินโคลนไหลหลาก และ น้ำป่า ศ.สันติ อธิบายว่า ในพื้นที่มีจุดอ่อนไหว ที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำป่า หรือ ดินโคลน จากแบบจำลองจะเห็นว่า หลายพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นจุดอ่อนไหว จุดรับน้ำจากภูเขา (จุดสีแดง) ไม่มีชุมชนขนาดใหญ่อาศัยอยู่ แต่อาจจะมีเพียงบางหมู่บ้านที่อาจได้รับผลกระทบ หรือบ้านที่สร้างติดกับริมเขา
“ถ้าจะแจ้งเตือน ก็คือ บ้านใครที่อยู่ที่สูงชัน เขาต้องรู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องระวัง เพราะว่าดินอุ้มน้ำแล้ว”
ศ.สันติ ภัยหลบลี้
ต่อมาคือ น้ำท่วม ที่ตอนนี้พบหลายพื้นที่ภาคใต้น้ำล้นตลิ่งแล้ว เนื่องจากน้ำระบายลงทะเลไม่ทัน เนื่องจากขณะนี้ภาคใต้ อยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ 2568 ทำให้น้ำระบายลงทะเลได้ยากขึ้น แต่เมื่อน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ภาคใต้ จะไม่กระจายไปไกล แต่จะไหลไปกองกันตามพื้นที่ใกล้ ๆ ริมน้ำ
“ตามแบบจำลอง เส้นสีเขียวอ่อน คือจุดที่บอกว่า ถ้าสมมติน้ำล้นตลิ่งบริเวณนี้ มันจะไหลไปไหน มันไหลกลับไปทางเดิม เป็นตัวสื่อว่าผลการวิเคราะห์เส้นสีเขียวอ่อน เป็นตัวบอกว่าน้ำล้นตลิ่ง มันไม่ไหลออกไปไกล”
ศ.สันติ ภัยหลบลี้
จุดไหน ? ที่ต้องระวัง
- จ.สงขลา : อ.หาดใหญ่ ฝั่งตะวันตก พื้นที่หาดใหญ่ ที่น่ากลัว หากฝนตกลงมาปริมาณมาก ๆ ในกรณีที่หนักที่สุด คือ ตัวเมืองหาดใหญ่
- จ.ยะลา ทางตอนใต้ ที่มีแม่น้ำปัตตานี จากผลการวิเคราะห์ภูมิประเทศ พบว่า น้ำจะไหลตามแนวเส้นสีแดง คือ ทางตอนใต้ของตัวเมืองยะลา ไหลไปลงที่พรุลานควาย ซึ่งน่าเป็นห่วงคือมีโรงพยาบาลทุ่งยางแดง อยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งจุดนี้น้ำระบายออกยาก เพราะเป็นพื้นที่แก้มลิง ดังนั้น โรงพยาบาลต้องระวังฝั่งตะวันตกเฉียงใต้
- จ.นราธิวาส : อ.ศรีสาคร บริเวณตัวอำเภอ เนื่องจากมีชุมชน ที่อยู่ในจุดที่ร่องน้ำสีแดงไหลผ่าน
‘ภาคใต้’ เจอฝน…จนกว่า ‘ภาคอีสาน’ จะหายหนาว
ส่วนคำถามว่าแล้วพื้นที่ภาคใต้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝนหนัก น้ำท่วมไปอีกนานแค่ไหน ศ.สันติ ยอมรับว่า อาจจะยังตอบชัด ๆ ไม่ได้ เพราะฝนที่เกิดขึ้นบริเวณภาคใต้ตอนล่างฝั่งตะวันออก เกิดจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดผ่านอ่าวไทย ซึ่งนำเอาความชื้นจากอ่าวไทยขึ้นมา เพราะฉะนั้น ถ้าภาคอีสานยังหนาวภาคใต้ก็ยังเจอฝน
“การสะสมน้ำมีมากมากแค่ไหน อาจต้องดูไปเรื่อย ๆ หรือพูดง่าย ๆ คือ ห้วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาที่เราควรจะติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นข้อมูลที่หลากหลาย ที่ต่างกันในแต่ละชุมชน เช่น ชุมชนที่มีพื้นที่ความชันสูง หรือชุมชนที่อยู่ริมน้ํา ก็ต้องเตือนกันแล้วว่า เขาควรจะดูน้ําเส้นไหนที่ส่งผลกระทบต่อเขาถ้าน้ําเส้นนั้น เพราะแหล่งน้ําบางที่มันเกรี้ยวกราดไม่เท่ากัน เขาควรจะรู้ข้อมูลพวกนี้”
ศ.สันติ ภัยหลบลี้
ช่วงภัยสงบ คือ ช่วงเวลาเรียนรู้ พร้อมรับมือ
ศ.สันติ ยังระบุด้วยว่า ในระหว่างที่ภัยสงบทุกพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นภาคไหน ช่วงหน้าร้อนช่วงที่ไม่มีฝน ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรให้ข้อมูลกับแต่ละชุมชน ควรจะสแกนหมู่บ้านที่มีความอ่อนไหวต่อภัยในรูปแบบต่าง ๆ และเข้าไปให้ความรู้ถึงภัยและวิธีการที่เขาจะตั้งรับ
“คือมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการที่จะตั้งรับเป็นยังไง มันง่ายมากในทางทฤษฎีหรืออุดมคติ แต่มันค่อนข้างจะยากมากในการที่จะทําให้เกิดเห็นภาพชัด ถามว่าเพราะอะไร เรายังไม่ได้อิ่มมาก พรุ่งนี้จะขายของดีไหม มันเป็นปัจจัยที่สําคัญกว่าเรื่องฉันจะโดนน้ำไหม”
ศ.สันติ ภัยหลบลี้
‘จุฬาฯ ฝ่าภัยพิบัติ’ แพลตฟอร์มรู้ทันภัย
ศ.สันติ ทิ้งท้ายว่า ก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม จุฬาฯ ฝ่าภัยพิบัติ ที่จะรวบรวมข้อมูลพื้นที่เสี่ยง จุดอพยพ ความต้องการช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูข้อมูลได้ ซึ่งล่าสุดยังติดขัดปัญหาเชิงเทคนิคในการนำข้อมูลจำนวนมากขึ้นระบบ แต่ประชาชนหรือหน่วยงานที่ต้องการทราบข้อมูลพื้นที่ สามารถเข้ามาขอข้อมูลได้ที่ เพจ Digital War Room
“ก็ตั้งใจไว้ว่า ทุกครั้งที่มี ที่มีภัยพิบัติ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการ ให้ข้อมูล ไม่ได้ว่าให้ความรู้ เพื่อให้ทุกคนได้รู้เยอะขึ้น ให้ข้อมูล ให้เขาลดความสูญเสียได้มากที่สุด นี่เป็นเป้าหมายหลักของเราเลย”
ศ.สันติ ภัยหลบลี้