Kick Off ‘แม่ยาวโมเดล’ ต้นแบบชุมชนจัดการภัยพิบัติเชียงราย

เดินหน้าสร้างรูปธรรม ความมั่นคงที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจยั่งยืน เตรียมชงแผน ข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงมือรัฐบาล 1 ธ.ค. นี้

วันนี้ (28 พ.ย. 67) ที่เทศบาลตำบลแม่ยาว อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว 11 ชุมชน ร่วมกับท้องถิ่น จัดทำแผนภาพรวมฟื้นฟูการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัยพิบัติ และกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่เป้าหมายต้นแบบจัดการภัยพิบัติ สร้างความมั่นคงที่ดิน ที่อยู่อาศัย การพัฒนาความมั่นคงด้านสังคมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจยั่งยืน โดยมีตัวแทนประชาชนผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม – ดินโคลนถล่ม ใน ต.แม่ยาว เข้าร่วมนำเสนอปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายในด้านต่างๆ

ระยะเร่งด่วน บูรณาการฟื้นฟูสร้างความมั่นคงที่อยู่อาศัย

สำหรับตำบลแม่ยาว เกิดเหตุน้ำจากน้ำแม่กก และห้วยแม่ซ้าย ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ส่งผลให้บ้านเรือนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำ เกิดความเสียหายโดยรวม 2,000 ครัวเรือน 11 หมู่บ้าน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สำนักงานภาคเหนือ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลแม่ยาว ได้จัดกระบวนการสำรวจข้อมูลครัวเรือนผู้ที่ไดรับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม ทั้งตำบลพบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 665 ครัวเรือน 11 หมู่บ้าน ในเบื้องต้นครัวเรือนดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือ แต่ยังไม่เพียงพอและยังขาดความช่วยเหลือ อีกจำนวนหนึ่ง

สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว จึงร่วมกับเทศบาลตำบลแม่ยาว คัดกรองกลุ่มเป้าหมาย และรับรองร่วมกันกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับการช่วยเหลือ จำนวน 238 ครัวเรือน ได้เสนอแผนงานโครงการ “บ้านมั่นคงภัยพิบัติ” ต่อคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 โดยทางคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทได้เห็นชอบกรอบงบประมาณ ตามแผนงาน การนำเสนอของพื้นที่ตำบล งบประมาณรวม 11,493,049 บาท แบ่งเป็น

  1. งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 8,000,000 บาท

  2. งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค 1,789,719 บาท

  3. งบพัฒนาด้านเศรษฐกิจ 384,870 บาท

  4. งบพัฒนาด้านสังคม   818,460 บาท

  5. งบพัฒนากระบวนการ 500,000 บาท

สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( องค์การมหาชน ) เปิดเผยว่า เรื่องเร่งด่วน คือการฟื้นฟูบ้านเรือนที่เสียหายจากภัยพิบัติ แต่ในการดำเนินโครงการนี้ เฉพาะ พอช.ไม่สามารถสนับสนุนการซ่อม สร้างบ้านทั้งหลังให้เสร็จเพียงลำพังได้

“เรามีงบประมาณสนับสนุน เป็นงบประมาณเบื้องต้นประมาณ 40,000 บาท ต่อครัวเรือน แต่ชาวบ้านจะใช้เงินส่วนนี้ ไปชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พัฒนาสัวคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือ พมจ. สำนักงานเทศบาลตำบลแม่ยาว หน่วยงาน ปภ.มาร่วมกันสนับสนุน และในส่วนเจ้าของบ้านเองจะมีความสามารถสมทบอีกเท่าไหร่ จากนั้นจะออกแบบบ้านหนึ่งหลัง ส่วนตัวจะสมทบเท่าไหร่ ทีมช่างชุมชนกำลังลงพื้นที่เพื่อไปถอดแบบรายละเอียด เบื้องต้นมีเงินที่โครงการบ้านมั่นคงภัยพิบัติช่วยสนับสนุนอยู่แล้ว”

สยาม นนท์คำจันทร์

ที่สำคัญคือต้องควบคู่ กับ สิทธิที่ดิน เนื่องจากหมู่บ้านในตำบลแม่ยาว อย่างกะเหรี่ยงรวมมิตร อยู่ในที่ดินป่าสงวน และพื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก

“ดังนั้นนอกจากเรื่องเร่งด่วน การฟื้นฟูที่อยู่อาศัย จึงต้องควบคู่กับความมั่นคงเรื่องที่ดิน รวมไปถึงการพัฒนาความมั่นคงด้านสังคมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจยั่งยืนด้วย”

“จัดทำแผนภาพรวมฟื้นฟูการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัยพิบัติ และกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่เป้าหมาย แม่ยาวโมเดล ต้นแบบจัดการภัยพิบัติ”

สยาม นนท์คำจันทร์

ทั้งนี้ตัวแทนชาวบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ใน 11 ชุมชน ต.แม่ยาว ร่วมกันระดมข้อเสนอเชิงนโยบายตำบลแม่ยาว ใน 4 ด้าน มีข้อสรุปดังนี้

ด้านที่ดิน

  1. เร่งรัด การอนุมัติ/อนุญาตที่ดินคทช. ในระดับจังหวัด ซึ่งได้มีการนำส่งข้อมูลไปยังคณะอนุฯ1 ด้านที่ดินแล้ว (ลุ่มน้ำ 3 ,4,5 ) เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนพัฒนาสาธารณูปโภคได้

  2. การขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชนให้ครอบคลุมทั้งตำบล

  3. ขอให้ชุมชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายหลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หมดสัญญา

  4. การจัดหาที่ดินรองรับให้กับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย

  5. ผลักดันการสร้างความมั่นคงและความชัดเจนในที่ดิน ในการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

  6. ยกเลิกการประกาศพื้นที่ตำบลให้เป็นเขตอุทยานฯ

  7. ให้ยกเว้นค่าดำเนินการในการปรับปรุง ฟื้นฟู พื้นที่ในการรองรับที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัย

การจัดการภัยพิบัติ

  1. จัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  2. ปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายของหน่วยงานเจ้าของที่ดิน ในการสนับสนุน ช่วยเหลือ พื้นที่ประสบภัย

  3. การปรับภูมิทัศน์ เช่น การขุดลอกคลอง ภายใต้กฎหมายที่

  4. สนับสนุนให้มีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีมาตรฐาน ทั่วถึง ทันท่วงที และมีช่องทางที่หลากหลาย

  5. มีแผนเตรียมการรับมือ วิธีการรับมือ การซักซ้อม

  6. ให้อำนาจหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติและสามารถบริหารจัดการเองในชุมชนได้

  7. ขอให้ปลดล็อคหรือผ่อนปรนข้อกฎหมายในการซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่

ด้านวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม

  1. การอนุญาติให้ดำเนินการปลูกป่าเพื่อสร้างแนวกันชนภัยพิบัติธรรมชาติ (Buffer Zone)

  2. การจัดการปัญหาหมอกควัน ไฟป่า

  3. การจัดการขยะที่เป็นระบบ แบบครบวงจร (คัด แยก ขาย รีไซเคิล)

  4. งบประมาณสนับสนุนในการฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่น ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ด้านเศรษฐกิจ

  1. สนับสนุนตลาดรองรับสินค้าและบริการของชุมชน

  2. มีการกำหนดการประกันราคาสินค้าเกษตร

  3. ผลักดันให้มีผังด้านการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตและเชิงอนุรักษ์

  4. บรรจุจุดท่องเที่ยวชุมชนตำบลแม่ยาวเข้าสู่แผนการพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัด และภาคเอกชน

ตัวแทนชาวบ้านที่มาร่วมระดมความเห็นครั้งนี้ ต่างมองเห็นถึงโอกาสของการที่เปิดให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเป้าหมายและอนาคตของชุมชนในการจัดการและรับมือภัยพิบัติที่มีความยั่งยืนครอบคลุมทุกด้าน และต่างคาดหวังว่า ข้อเสนอจากชุมชน ผู้ประสบภัยพิบัติ จะได้รับการตอบรับ ได้รับการหนุนเสริมจากรัฐบาล

ศรีรดา สีคำยอด ชาวบ้านหมู่ 11 ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย

“ชุมชนเราถือเป็นชุมชนท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย และประเทศ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเราอยากเห็นการฟื้นฟูให้ดีขึ้นกว่าเดิม เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และแผนการรับมือ การแจ้งเตือนภัยพิบัติที่ทันท่งทีเพื่อลดความเสียหาย”

ศรีรดา สีคำยอด

จ่าสิบเอก พิชัย พนาสง่าวงศ์ ชาวบ้านหมู่ 12 ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย

“ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น กระทบที่อยู่อาศัย และการท่องเที่ยวชุมชน อย่างโฮมสเตย์ที่สร้างกันมาทั้งชีวิตเสียหายไปกับภัยพิบัติทั้งหมด อยากให้เร่งฟื้นฟูเยียวยาตรงนี้ ที่สำคัญเรื่องชุมชนอยู่ในเขตป่า จะพัฒนาสาธารณูปโภค เข้าถึงแหล่งทุนต่างๆลำบากเป็นเรื่องที่นโยบายต้องปลดล๊อค ส่วนการเกษตรอยากให้เกิดการสนับสนุการปลูกไม้ยืนต้นสร้างมูลค่า ที่สร้างเศรษฐกิจและป้องกันภัยพิบัติ หวังว่า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนในข้อเสนอนโยบายของประชาชน”

จ่าสิบเอก พิชัย พนาสง่าวงศ์

ทั้งนี้ ตำบลแม่ยาว เป็นหนึ่งใน 4 พื้นที่ต้นแบบการจัดการภัยพิบัติ ตามที่ชาวจังหวัดเชียงราย กว่า 150 คน 50 องค์กร ได้มีการระดมข้อเสนอนโยบาย “จัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงราย Build Back Greener Chiang Rai”

โดยแผนงานและข้อเสนอที่ชาวตำบลแม่ยาว ได้ระดมกันอย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 26 – 28 พ.ย. เตรียมเสนอต่อ พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กระทรวงกลาโหม ในฐานะรองประธานคณะทำงานศึกษาวางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มภาคเหนือ ในวันที่ 1 ธ.ค. นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active