เชื่อเป็นอีกปัจจัย ทำพื้นที่ชายแดนใต้ขาดระบบบริหารความเสี่ยง ไร้แบบจำลองน้ำท่วมแม่น้ำสายหลัก ส่งผลต่อการรับมือ อพยพเมื่อเกิดภัย ชี้ ภาคใต้ มีแค่ ‘เทศบาลนครหาดใหญ่’ ที่มีโมเดลจำลองน้ำท่วม แนะ ข้อเสนอเชิงนโยบาย ออกกฎหมายเปิดทางตั้ง ผู้ว่าฯ ซูเปอร์ซีอีโอ ผู้บัญชาการลุ่มน้ำ จังหวัดมีความเสี่ยงสูง ลดท่วมซ้ำซาก
วันนี้ (30 พ.ย. 67) ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นใน จ.ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส ที่เกิดความเสียหายอย่างมาก หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการขาดกลไกการเตือนภัยที่แม่นยำ และครอบคลุม ที่สำคัญคือไม่มีการบริหารความเสี่ยงและลดความเสี่ยงภัยพิบัติในยามปกติ โดยเฉพาะไม่ได้มีการทำแบบจำลองน้ำท่วมของแม่น้ำ 4 สายหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ และประเมินความเสี่ยงได้ เมื่อไม่รู้ความเสี่ยงและขาดกลไกเตือนภัย ทำให้เมื่อเวลาฝนตกหนักจึงไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพ หรือตั้งรับเพื่อบรรเทาความเสียหายได้
นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทางศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ในสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เคยส่งข้อเสนอของบประมาณการวิจัยเพื่อติดตั้งระบบมาตรวัด และระบบเตือนภัยในลุ่มน้ำปัตตานีไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา โดยพบว่าในพื้นที่ภาคใต้ มีเพียงเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เพียงพื้นที่เดียวที่มีโมเดลการจำลองน้ำท่วมและการไหลของน้ำ ที่สามารถพยากรณ์ได้ว่าเมื่อฝนตก พื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ และมีกลไกการเฝ้าระวังความเสี่ยงน้ำท่วม ที่มักเรียกกันว่า หาดใหญ่โมเดล ซี่งประกอบไปด้วยหน่วยงาน 2 หน่วยหลัก คือ ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ อยู่ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำหน้าที่ด้านวิชาการเป็นหลัก ซึ่งรวมไปถึงแบบจำลองต่าง ๆ และ ชุดปฏิบัติการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุกทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นคณะทำงานที่รวบรวมตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ ประสานงานหน่วยราชการ และเป็นที่ปรึกษาให้ผู้ว่าราชการจังหวัด
โดยกลไก หาดใหญ่โมเดล นี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 อย่างไรก็ตามกลไกดังกล่าวถูกตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับชัดเจน และชุดปฏิบัติการฯ ดำเนินการในลักษณะคล้ายกับจิตอาสา ทำให้ค่อนข้างที่จะมีความเปราะบางในด้านความต่อเนื่อง อีกทั้งในพื้นที่มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารคนใหม่อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการส่งต่อข้อมูลไปยังผู้มีอำนาจรับผิดชอบ
“มีคำถามว่าเรามีบทเรียนน้ำท่วมใหญ่หลายครั้งมากแต่ทำไมเราถึงยังตั้งรับเพื่อบรรเทาความเสียหายไม่ได้สักที เราขาดการการบริหารความเสี่ยงและลดความเสี่ยงในยามปกติ ทำให้เมื่อถึงเวลาเกิดเหตุจริง มันไม่มีทางเลือกในการการรับมือหรือลดความเสียหายมากนัก สิ่งที่ทำได้มีแค่การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย ซึ่งพอเกิดเหตุทุกทั้งก็จะเป็นแบบนี้ คือทำได้แค่ช่วยเหลือเยียวยา แต่ไม่สามารถลดความเสียหายได้ นอกจากนั้นยังขาดองค์ความรู้ทางวิชาการ เช่น แบบจำลองน้ำท่วม ควรจะมีการทำทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จะได้สามารถประเมินและบริหารความเสี่ยงได้ แต่ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มีงบประมาณที่จำกัดอย่างถึงที่สุด จึงทำให้สามารถสร้างแบบจำลองได้เฉพาะในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่เท่านั้น ไม่ครอบคลุมแม้แต่อำเภอหาดใหญ่ ฉะนั้น หากจะรับมือน้ำท่วมได้ดีกว่านี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องให้งบประมาณในการสนับสนุนศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ ให้เต็มที่ น้ำท่วมครั้งนี้จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ครั้งใหญ่ และหากมีการสนับสนุนอย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดกลไกแบบหาดใหญ่โมเดล ในพื้นที่อื่น เช่น ปัตตานี ยะลา ได้ ฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤตไปแล้ว อย่าให้เสียเปล่า”
ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์
นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ยังระบุถึงข้อเสนอแนะในระยะเร่งด่วน ว่า ภาครัฐควรเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับฝนที่คาดกันว่าจะตกหนักอีกในช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภคให้ประชาชน รวมทั้งรถ และเรือไว้ใช้ในการอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยง
ขณะที่ในระยะต่อไปปีงบประมาณหน้า รัฐบาลต้องเพิ่มทรัพยากรให้กับศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ เพื่อทำแบบจำลองให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น
ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ รับผลกระทบจากความเสี่ยงโลกรวนมากที่สุด – เจอท่วมซ้ำซาก
สำหรับประเด็นการรับมือภัยพิบัติ และการจัดการวิกฤตภัยธรรมชาตินั้น ก่อนหน้านี้ ทีดีอาร์ไอ ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมานำเสนอในการจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” โดย เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยในช่วงปี 2543-2562 เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศถึง 146 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 138 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 2.8 แสนล้านบาท โดยภัยธรรมชาติมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุอุทกภัยซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 2 พันคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
เสาวรัจ ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก จนก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลมี 3 สาเหตุ คือ
- การบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์แต่แยกส่วน
- ขาดการป้องกันและเตรียมพร้อมที่ดีก่อนเกิดเหตุ โดยเฉพาะระบบเตือนสาธารณภัยของไทย
- ขาดการวางแผนและจัดลำดับการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ทั้งที่การลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีความคุ้มค่าสูง มีผลตอบแทน 9 เท่า
ทั้งนี้ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้ คือ การที่ท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐมีขีดความสามารถที่จำกัดในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมทั้งขาดการบูรณาการในการทำงาน และการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามไทยสามารถนำบทเรียนความสำเร็จของประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น มาใช้ในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศได้
แนะ 4 ข้อเสนอเชิงนโยบาย ออกกฎหมายเปิดทางตั้งผู้ว่าฯ ซูเปอร์ซีอีโอ – ผู้บัญชาการลุ่มน้ำ
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการรับมือภัยพิบัติ มีดังนี้
- ตั้งศูนย์วิชาการภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยสนับสนุนทรัพยากรให้แก่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคด้วยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.)
- เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคของหน่วยงานรัฐส่วนกลาง โดยขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
- ยกระดับการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงาน โดยให้อำนาจตามกฎหมาย และอำนาจให้คุณให้โทษร่วมกับการสร้างความพร้อมรับผิดรับชอบของหน่วยงานในพื้นที่ โดยเร่งออกพ.ร.บ.ยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้มีความทันสมัย เริ่มใช้กับจังหวัดและลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้มี ผู้ว่าซูเปอร์ซีอีโอ และผู้บัญชาการลุ่มน้ำ เพื่อให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
- แก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม โดยระงับการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมไป พร้อมกับการทยอยแก้ไขปัญหาจากการใช้ที่ดินผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต