พรุ่งนี้! ‘ชาวแม่สาย’ นัดรับฟังความเห็น หลังรัฐเปิดแผนสร้างคันป้องกัน ริมแม่น้ำสาย

ชาวบ้านในพื้นที่เวนคืน ยอมรับ กังวลอนาคต หวั่นไร้ที่อยู่ ที่ทำกิน สูญเสียอาชีพ พบยังไร้แผนเยียวยา ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเวนคืนที่เป็นธรรม ขณะที่ นักวิชาการ ชี้ เชียงรายเป็นจังหวัดเดียวของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ไร้ที่ดินรองรับโครงการ ไร้แผนรับมือผลกระทบต่อประชาชน

วันนี้ (11 ธ.ค. 67) สืบสกุล กิจนุกร จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม ม.แม่ฟ้าหลวง เปิดเผยกับ The Active หลัง ครม. สัญจร นำโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), กรมการทหารช่าง และกรมโยธาธิการและผังเมือง นำเสนอแผนการเวนคืนที่ดินริมน้ำแม่สายในการป้องกันน้ำท่วมระยะยาว ที่มีแผนจะรื้ออาคารและเวนคืน ระยะ 30-250 เมตร จากแม่น้ำสาย โดยจะมีการสร้างถนน 2 เส้น ปิดล้อมพื้นที่ 10.7 ตร.กม. 6,700 ไร่ กระทบ 843 หลังคาเรือน โดยคาดการณ์แผนกำหนดเสร็จปี 2572

สืบสกุล ยอมรับว่า สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการนั้นถือเป็นความตั้งใจดี ที่อยากแก้ไขปัญหา ไม่อยากให้เกิดน้ำท่วมหนักใน อ.แม่สายอีกเหมือนปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่เท่าที่ดูตามการนำเสนอข้อมูล มีความชัดเจนว่าจะมีการขุดลอก คือ ขุดลอกแม่น้ำให้ลึกขึ้น อันนี้มีแผนชัดเจน แผนที่ 2 คือ การสร้างแนวป้องกัน หรือพนังกั้นน้ำ อันนี้ก็มีความชัดเจน แต่แผนนี้จะไปสัมพันธ์กับแผนที่ 3 คือ การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวที่ต้องทำ จะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมกันระหว่างการป้องกัน กับการรื้อถอน หรือการเวนคืน ซึ่งยังไม่มีแผนที่ชัดเจน มีแต่แนวทาง ว่าจะต้องทำ แต่ว่าจะทำเมื่อไร ทำอย่างไร การเวนคืนที่ดินต้องมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินไหม แล้วการจ่ายเงินค่าเวนคืนจะจ่ายยังไง อันนี้ไม่มีการเปิดเผย

“จริง ๆ คือต้องศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม อันนี้ก็ขาดไป เพราะว่าเร่งรีบทำ แต่ถ้าจะทำจริง ๆ อย่างเช่น แผนในพฤษภาคม การขุดลอกในแม่น้ำอาจจะทำได้เลย แต่ถ้าการสร้างแนวป้องกัน อันนี้ต้องใช้เวลาหลายปี ต้องมีการศึกษาผลกระทบ ต้องมีการพูดเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้านด้วย คือรัฐบาลควรจะทำควรจะบอกว่า แผนขุดลอกใช้เวลากี่เดือน ต่อไปแผนสร้างแนวป้องกันใช้เวลากี่ปี การเวนคืนที่ดินมีขั้นตอนยังไงบ้าง ซึ่งอันนี้จะทำให้ประชาชนได้เห็นภาพรวม”

สืบสกุล กิจนุกร

สืบสกุล กิจนุกร สำนักวิชานวัตกรรมสังคม ม.แม่ฟ้าหลวง

อีกประเด็นสำคัญ คือ มีบทเรียนของจังหวัดเชียงรายในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน 10 จังหวัด ซึ่งเชียงรายเป็นหนึ่งในนั้น การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำคัญคือต้องหาที่ดิน แต่จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดเดียวที่หาที่ดินมาตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้

เช่น ในเขต อ.แม่สาย มีที่ดินราชพัสดุ ปรากฎว่ากรมธนารักษ์ไม่ยอม โดยให้เหตุผลว่า แปลงที่ดินตรงนั้นเป็นแปลงปลูกยาสูบสายพันธุ์เวอร์จีเนียได้ดีที่สุด ถ้าสูญเสียแปลงที่ดินตรงนั้น ต้องนำเข้าพันธุ์ยาสูบมูลค่ามหาศาล

ขณะที่ พื้นที่ อ.เชียงแสน ก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกพื้นที่หนึ่ง บริบทเป็นที่ดิน สปก.ที่ชาวบ้านครอบครอง ซึ่งจริง ๆ ตรงนั้นชาวบ้านก็ยอมออกจากพื้นที่ โดยชาวบ้านขอ 300,000 บาทต่อไร่ แต่รัฐจ่ายให้แค่ 100,000 บาท ต่อไร่ ก็จบไม่ลง เพราะชาวบ้านก็ต้องเอาเงินไปซื้อหาที่ดินแปลงใหม่ เพื่อมาใช้ในการทำการเกษตรของตนเอง ซึ่งก็เป็นกรณีที่คล้ายกับแม่สายตอนนี้เลย

ส่วนที่ อ.เชียงของ ก็เป็นเขตเศรษฐกิจอีกพื้นที่หนึ่ง ปรากฎรัฐบาลจะเอาที่ดินสาธารณประโยชน์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ในลุ่มน้ำอิงไปทำประโยชน์ แต่ปรากฎว่าเอามาไม่ได้ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำมีคุณค่าทางระบบนิเวศในการดูดซับคาร์บอน แหล่งอนุบาลพันธุ์ปลา ดีต่อระบบนิเวศในลำน้ำอิง สุดท้ายก็เอามาเพื่อดำเนินโครงการไม่ได้

สืบสกุล ยอมรับว่า เป็นห่วงจะเกิดซ้ำรอยใน อ.แม่สาย แน่นอนว่าชาวบ้านในเขตน้ำท่วม ก็รู้ว่าอาจจำเป็นถ้าอพยพออกไป เพราะถ้าอยู่ต่อไปน้ำท่วมหนักแน่ แต่บางส่วนเขาก็รู้ว่า เขาน่าจะอยู่ต่อได้ จึงต้องรับฟังเสียงสะท้อนความเห็นให้ครอบคลุม

“อันนี้เลยเป็นประเด็นต่อมา ว่า แล้วแม่สายจะเป็นยังไง ผมว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อกรณีนี้ คือการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนในท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แค่รับรู้ทำตามที่รัฐบาลต้องการ ต้องชวนชาวบ้านที่อยู่ในแนวน้ำท่วม ตั้งแต่จุดแรกจนถึงจุดสุดท้ายมาคุยกันว่า ทางออกที่รัฐบาลเสนอมา เช่น การขุดลอกแม่น้ำ การขยายแม่น้ำกว้างขึ้น การซ่อมแซมพนังกั้นน้ำแบบถาวรที่จะกระทบชาวบ้าน ว่าจะมีทางออกอย่างไร”

สืบสกุล กิจนุกร

สืบสกุล บอกด้วยว่า ถ้าจำเป็นต้องเวนคืน หรือเรียกคืนพื้นที่ การจ่ายค่าเวนคืนให้กับชาวบ้าน ก็ควรให้ในราคาที่ชาวบ้านสามารถนำไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ ที่ปลูกสร้างบ้านได้ รวมถึงคนที่บอกว่าต้องออกไป เพราะมีการบุกรุก อันนี้เขาควรได้สิทธิ จะย้ายออกไป และมีเงินทุนพอซื้อที่ดินแปลงใหม่ และก็สร้างบ้านใหม่ รวมถึงเรื่องที่ต้องพิจารณาชดเชยค่าสูญเสียโอกาสในการทำมาหากินในพื้นที่นี้ด้วย เพราะแม่สายเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญ ซึ่งชาวบ้าน มีรายได้จากการค้าขายมาโดยตลอด

อีกอันหนึ่งคือ ถ้าดูในแผนที่ที่ นายกฯ ก็ได้ดู จะมีพื้นที่เกษตรกรรมอีก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ชาวบ้านใช้ในการทำเกษตร จะเวนคืนชาวบ้านยังไง ถ้าชาวบ้านสูญเสียที่ดินเกษตรไป จะหาที่ดินแปลงใหม่สำหรับทำเกษตรของเขาอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดต่อ

“ดังนั้นสรุปว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำตอนนี้ คือไปสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน ไปคุยกับชาวบ้าน ในแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ว่า เขามีความเดือดเนื้อร้อนใจยังไง เขาต้องการให้รัฐบาล ทำการชดเชยยังไง ให้เหมาะสมเป็นธรรมกับที่เขายินดีที่จะเสียสละออกจากพื้นที่”

สืบสกุล กิจนุกร

คำเอื้อย แสงแก้ว ชาวบ้านเกาะทราย อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ด้าน คำเอื้อย แสงแก้ว ชาวบ้านเกาะทราย อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นอีกคนที่บ้านติดริมน้ำสาย ซึ่งก็เข้าใจ และทำใจมาตลอด ว่าสักวันอาจต้องถูกเวนคืน แต่การไร้ซึ่งแผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องสละพื้นที่ ยิ่งทำให้เธอมองไม่เห็นอนาคต อยากให้มีการรับฟัง และวางแผนการเยียวยาที่เป็นธรรม

ส่วนพื้นที่ตลาดสายลมจอย ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก ก็เป็นอีกพื้นที่แนวรื้อถอน เพื่อสร้างคันกันน้ำ เวลานี้ผู้ค้ากลับมาซ่อมแซมร้าน ลงทุนสั่งของเข้าร้านรอบใหม่ ลงทุนหลายแสนบาท หวังฟื้นคืนรายได้ช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ถ้าวันหนึ่งต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ ก็ยังไม่รู้อนาคต ไม่รู้หนทางทำมาหากินต่อนับจากนี้

“ที่ผ่านมารู้แค่ว่าคนอยู่แนวใกล้ลำน้ำสายระยะ 40 เมตรจะโดน ร้านขายของเราไม่อยู่ในระยะดังกล่าว ก็คิดว่าไม่โดน ซ่อมแซมปรับปรุงร้านใหม่ ลงทุนเอาของใหม่มาขาย แต่พอเห็นแผนของหน่วยงานนำเสนอนายกฯ วันนั้นยอมรับตกใจ หนี้เดิมยังใช้ไม่หมด หนี้ใหม่ที่หวังพอได้กำไรมาใช้หนี้เดิม ก็อาจเป็นไปไม่ได้ แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร”

อุทัย นันทะเสน ผู้ประกอบการตลาดสายลมจอย

อุทัย นันทะเสน ผู้ประกอบการตลาดสายลมจอย

สำหรับในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค. 67) สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดเวทีรับฟังเสียงของชาวแม่สาย ต่อประเด็นนี้ และรวบรวมข้อคิดเห็นต่าง ๆ เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม ที่มาจากเสียงของผู้คนที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active