20 ปี สึนามิ สู่ การจัดการภัยพิบัติระดับชาติ ก้าวต่อได้ด้วย ‘ชุมชนเข็มแข็ง’

เครือข่ายภัยพิบัติทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนบทเรียน แชร์ประสบการณ์ ย้ำจุดแข็ง รัฐเชิงรุก หนุนชุมชนพึ่งตัวเอง รับมือภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง

วันนี้ (25 ธ.ค. 67) ที่ อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จัดเวทีแลกเปลี่ยน “บทเรียนภัยพิบัติประเทศไทย ก้าวอย่างไรให้พร้อมพอ” ร่วมแชร์ ประสบการณ์ของผู้ที่ลงมาทำงานในช่วงสึนามิช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา และเครือข่ายจัดการภัยพิบัติจากทั่วประเทศกว่า 200 คน สะท้อนชัดเหตุการ์ภัยพิบัติ คือช่วงเวลาที่ยากลำบาก และปัญหาใหญ่ คือ รัฐไม่สามารถเป็นผู้จัดการปัญหาได้เพียงลำพัง จึงมีข้อเสนอให้รัฐยกระดับนโยบาย และให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้อย่างเข้มแข็งให้รับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในอีกบทบาทก็เคยร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชน ของมูลนิธิชุมชนไท เล่าถึงบทเรียน 20 ปี จากเหตุการณ์สึนามิ ว่า ไม่สามารถรอรับความช่วยเหลือได้อย่างเดียว เป้าหมายสำคัญ คือ การส่งเสริมพัฒนาให้ชุมชน สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ประกอบด้วย

  • ประชุมพูดคุยเตรียมแผนงาน 
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่
  • การรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย
  • การสื่อสารธารณะในช่วงวิกฤต
  • จัดทำข้อมูล ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย

สอดคล้องกับ ปัญญา  เหมทานนท์ เครือข่ายภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า บทเรียนสึนามิในอดีตนำมาซึ่งการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน เขาเห็นด้วยกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และรัฐควรสนับสนุนอย่างทันท่วงที โดยทำให้เกิดศูนย์รับมือภัยพิบัติที่มีความพร้อมด้านคน, เกิดอาสาสมัคร, การการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และการพัฒนาศักยภาพด้านการเตรียมความรู้ทักษะการรับมือ เช่น การทำเรือ, การกู้ชีพ กู้ภัย วิเคราะห์ภัยเป็น

ทั้งนี้การจัดการภัยพิบัติต้องมีส่วนร่วม ระหว่าง รัฐ ท้องถิ่น และ ชุมชน โดยให้สิทธิจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน จัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติชุมชนระดับตำบลอย่างบูรณาการโดย “รู้ถึงผลกระทบ รู้ถึงความรู้สึกของประสบภัย จนกลายเป็นพี่น้อง ร่วมทุกข์ ร่วมสุขด้วยกัน สู่การจัดการภัยพิบัติ”

ข้อเสนอเชิงระบบ จัดการภัยพิบัติ

ขณะที่ วิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เสนอให้มีทางออกในการจัดการภัยพิบัติอย่างทันสมัย มีการจำลองเหตุการณ์ วิเคราะห์ และคาดการณ์เหตุการณ์ได้, ออกแบบระบบการจัดการภัยพิบัติ โดยให้เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และกระจายอำนาจการจัดการให้ระดับพื้นที่ ตำบล จังหวัด ชาติ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ

ผศ.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ มองว่า สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย จำเป็นต้องมีส่วนสำคัญในการทำงานเชิงรุกด้วยข้อมูลทางวิชาการ รวมไปถึงการสนับสนุนการหนุนเสริมชุมชนเพื่อการจัดการภัยพิบัติ  การดำเนินการของนักวิชาการหรือมหาลัยฯ ควรประกอบด้วย

  1. ก่อนเกิดเหตุ มีระบบการเตรียมการ เตรียมความพร้อม
  2. ระหว่างเกิดเหตุ การเตรียมการด้านการบริหารจัดการ คน อาหาร ความเป็นอยู่ควรเป็นการช่วยเหลือการบริหารจัดการของบริจาค
  3. การฟื้นฟูหลังการเกิดภัย การดูแลผู้ได้รับภัย การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฯลฯ
  4. การพัฒนา สานพลังความรู้ กับองค์กรณ์หน่วยงานบนฐานงานความรู้เพื่อสร้างการจัดการภัยพิบัติให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ ถึงการทำหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องทำงานเชิงรุก ร่วมกับภาคประชาชน เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกันอย่างไร้รอยต่อ โดยปัจจุบันพื้นที่เสียงภัยมีมากกว่า 4,000 แห่ง จึงจำเป็นต้องวางระบบ และข้อมูลการเผชิญเหตุอย่างครอบคลุม เพื่อ สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง โดยมีภาครัฐในการสนับสนุน

พร้อมเสนอให้ รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ ใช้โอกาสครบรอบ 20 ปีสีนามิ สร้างการเรียนรู้ด้านภัยพิบัติอย่างจริงจัง เน้นบทบาทชุมชน เสริมพลังการขับเคลื่อนงานท้องถิ่น อย่างแท้จริง รวมถึงข้อเสนอให้ รัฐแก้กฎหมายให้ชุมชนใช้ประมาณแผ่นดินในภาวะวิกฤตได้ เพราะคนเผชิญเหตุ คือ ชุมชนผู้ใกล้ภัยพิบัติมากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active