ยกเครื่อง ระบบเตือนภัยพิบัติเชียงใหม่ ‘น้ำท่วม – PM2.5’ ให้แม่นกว่าเดิม

TNDR จับมือ สสน., ม.เชียงใหม่ วางแผนเชิงรุก พัฒนาเทคโนโลยีรับมือวิกฤตน้ำท่วม – PM2.5 สร้าง Flood Mark ครอบคลุมพื้นที่น้ำท่วม กว่า 3,000 จุด ผุด Flood map ช่วยเพิ่มความแม่นยำ คาดการณ์ วางแผนป้องกันภัยล่วงหน้า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) จาก 19 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมรับมือภัยพิบัติในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วม และ ฝุ่นPM2.5 โดยเลือกการใชเทคโนโลยีเพื่อวางแผนรับมือ ซึ่งมีการจัดทำระดับ Flood Mark ที่สำรวจค่าระดับ Flood Mark โดยรถสำรวจระดับความสูงภูมิประเทศ (Mobile Mapping System : MMS) และการเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำท่วม และฝุ่น PM 2.5 ของ จ.เชียงใหม่ เพิ่มความแม่นยำอนาคต

พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย 19 มหาวิทยาลัย (TNDR) เปิดเผยว่า เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย ประสบกับวิกฤตน้ำท่วมอย่างรุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง การมีข้อมูลคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้าที่แม่นยำจะช่วยลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนดังนั้น เครือข่าย 19 มหาวิทยาลัยด้านภัยพิบัติ จึงไดร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรับมือน้ำท่วม ได้แก่ แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (Flood map) และ เครื่องหมายระดับคราบน้ำท่วม (Flood Mark) ครอบคลุมพื้นที่น้ำท่วม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเตือนภัยและวางแผนป้องกันภัยล่วงหน้าสำหรับพี่น้องประชาชนทางภาคเหนือ

“การสร้างแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมความละเอียดสูง จะเป็นประโยชนอย่างมากต่อการคาดการณ์เหตุน้ำท่วมในอนาคต เราสามารถดูได้ว่าน้ำจะท่วมถึงพื้นที่ไหน ระดับน้ำเป็นเท่าไร เห็นความรุนแรงและผลกระทบต่อชุมชนชัดเจน ซึ่งภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนรับมือภัยพิบัติไดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เครือข่าย TNDR หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ให้เกิดการทำงานที่ประสานกันในเชิงรุก เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ”

พิจิตต รัตตกุล

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2567 เป็นบทเรียนสำคัญของ จ.เชียงใหม่ ในขณะที่ ระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับพื้นที่เสี่ยงสูง ต้องเริ่มมาจากข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่การพยากรณ์น้ำล่วงหน้าที่แม่นยำและมีเวลามากพอสำหรับการเตรียมการล่วงหน้า และหากสามารถสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงความลึกของระดับน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณต่าง ๆ ซึ่งใช้งบประมาณและเวลาไม่มาก และทำได้ครอบคลุมพื้นที่น้ำท่วมที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ พร้อมที่จะขนย้ายสิ่งของและอพยพได้อย่างทันท่วงที

“สำหรับพื้นที่เขตเมืองจังหวัดเชียงใหม่นั้น เดิมได้มีการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและหลักระดับน้ำท่วมมาตั้งแต่ ปี 2555 โดยใช้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ซึ่งระดับน้ำปิงที่สถานี P.1 = 4.60 เมตร มาเป็นฐานคิด ซึ่งสามารถใช้สนับสนุนระบบเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้เป็นอย่างดีตลอดมา แต่เนื่องจากเดือนตุลาคม ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ โดยในครั้งนี้ระดับน้ำปิง ที่ สถานี P.1 = 5.30 เมตร มากกว่าทุกครั้ง ทำให้พื้นที่น้ำท่วมได้แผ่ออกไปมากกว่าเดิม รวมทั้งระดับความสูงของน้ำท่วมก็เพิ่มขึ้น อนาคตจะมีการปรับปรุงการเตือนภัยความสูงของน้ำท่วมโดยใช้เทคโนโลยีคำนวนให้ละเอียดแม่นยำขึ้น”

รศ.ชูโชค อายุพงศ์

ขณะที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ร่วมกับ สสน. จัดทำระบบสารสนเทศของเครื่องหมายระดับคราบน้ำท่วม (Flood Mark) จำนวนมากกว่า 3,000 จุด แสดงค่าความสูงของระดับน้ำที่จะท่วมแต่ละพื้นที่ ติดตั้งกระจายทั่วพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ โดยแสดงระดับน้ำท่วมสูงสุดวัดจากผิวถนน เปรียบเทียบกับค่าระดับน้ำที่สถานี P.1 เชิงสะพานนวรัฐ ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 โดยแสดงผลผ่านเว็บไซต์ “เครื่องหมายระดับน้ำท่วมเขต ตัวเมืองเชียงใหม่ ปี 2567 : CM Flood Mark 2024(https://watercenter.scmc.cmu.ac.th/cmflood/flood24)” เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานได้ใช้ในเตรียมการรับมือน้ำท่วม

สุทัศน์ วีสกุล ที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เปิดเผยว่า สสน. ได้สนับสนุนเทคโนโลยีสำรวจระดับความสูงภูมิประเทศ (Mobile Mapping System : MMS) ที่ใช้ในการสำรวจระดับน้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน 5 จังหวัดภาคเหนือแล้ว ประกอบไปด้วยจังหวัดแพร่, น่าน, พะเยา, ลำพูน และเชียงใหม่ เพื่อช่วยทำใหเครื่องหมายระดับคราบน้ำท่วม (Flood Mark) ปรับไปสู่รูปแบบความสูงที่อ้างอิงกับระดับน้ำทะเล สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ และเมื่อเกิดฝนตกหนักและเสี่ยงน้ำท่วมขึ้นมาในอนาคตข้อมูลชุดนี้จะถูกวิเคราะห์ร่วมกับแบบจำลองทางด้านอุทกวิทยา เพื่อสร้างแผนที่น้ำท่วมที่แสดงระดับความสูงของน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์และวางแผนป้องกันภัยล่วงหน้าในระดับพื้นที่ได้ต่อไป

“การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการตัดสินใจเกี่ยวกับภัยพิบัติมีความแม่นยำและครอบคลุมทุกมิติ ผลการสำรวจค่าระดับคราบน้ำท่วม (Flood Mark) สามารถใช้วิเคราะห์ทิศทางการไหลในพื้นที่น้ำท่วมถึง (Flood Plain) และเตือนภัยชุมชนที่ไม่คิดว่าจะประสบภัยได้ตระหนักถึงภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data Base) ของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนการบริหารจัดการไดอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต”

สุทัศน์ วีสกุล

ขณะที่ รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ระบุถึงปัญหาของภาคเหนือที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ฝุ่น PM2.5 ซึ่ง สสน. ได้ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัด PM2.5 ในสถานีโทรมาตรให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่จะสามารถทำให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นที่อาจเกิดขึ้นจากไฟป่าจากพื้นที่ป่าต้นน้ำได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนการขับเคลื่อนงานวิจัยภายใต้เครือข่าย TNDR

“ข้อมูลจากเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำที่จะช่วยให้ควบคุมไฟป่าไดตรงจุดมากขึ้น และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือนำไปใช้ในการวางแผนฟื้นฟูและปรับปรุงมาตรการป้องกันในอนาคต“ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนและพร้อมรับมือภัยพิบัตไดอย่างยั่งยืน”

รอยบุญ รัศมีเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active