‘ซ้อมอพยพภัยพิบัติให้คนตาบอด’

โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ อบรมแผนซ้อมอพยพหนีภัยพิบัติคนตาบอด เชื่อ การฝึกฝนจะเป็นทักษะ เอาตัวรอดได้ในช่วงวิกฤต

จากเหตุการณ์รถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำเมื่อ 21 ก.พ. 68 เกิดควันสีส้มฟุ้งกระจายบริเวณถนนพระราม 6 มีการเร่งอพยพนักเรียนให้พ้นบริเวณรัศมีควันพิษ

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (Thai Network for Disaster Resilience, TNDR) ร่วมกับชมรมครูผู้สอนการกู้ชีพขั้นพื้นฐานประเทศไทย และหน่วยกู้ชีพบัวเพชร ปทุมธานี (ทีมงานป้าช้างสั่งลุย) ได้จัดทำการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุเสมือนจริงให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ 

การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุเสมือนจริง โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ 

โดยจำลองสถานการณ์เกิดเหตุรถบรรทุกขนสารเคมีพลิกคว่ำบริเวณถนนพระรามที่ 6 ใกล้กับโรงเรียนสอนคนตาบอด ที่มีกลิ่นและควันพิษลอยตัวบนอากาศเป็นวงกว้าง ให้แก่นักเรียนผู้พิการทางสายตา ครู และบุคลากรในโรงเรียนรวมทั้งสิ้น 108 คน เพื่อเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงจะได้มีความพร้อมในการรับมือ และรู้หลักการในการอพยพ

เสาวณี สุวรรณชีพ ประธานกรรมการ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ชี้ว่า หนึ่งในปัญหาที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้พิการทางการเห็นคือ “ภัยพิบัติ” สารพัดรูปแบบที่มีความรุนแรงมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การพัฒนามูลนิธิฯ ปี 2566-2568 จึงมุ่งพัฒนาให้ผู้พิการทางการเห็นมีทักษะความสามารถทุกด้าน สามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเองได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สำหรับขั้นตอนการฝึกซ้อมอพยพหนีภัยพิบัติดังกล่าว เป็นไปเพื่อให้นักเรียนพิการทางการมองเห็นฝึกความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม อาคารเรียน หอพัก และทางออกฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถอธิบายจุดที่ตนเองอยู่ รวมถึงคุ้นเคยกับเส้นทางอพยพและจุดรวมพล

การอพยพนักเรียนที่พิการทางการมองเห็นจะใช้ระบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” (Buddy System) โดยผู้นำทางต้องเรียนรู้ว่าการพาคนตาบอดอพยพต้องใช้การจับข้อศอก เดินนำ และบอกข้อมูลเป็นระยะ หากมีนักเรียนตาบอดหลายคนสามารถทำโดยให้เดินจับไหล่คนข้างหน้า หากมีการลงบันได้ต้องใช้มืออีกข้างเกาะราวบันได และต้องมีแถบสีเหลืองขนาดกว้างระหว่างบันไดแต่ละขึ้นเพื่อนำสายตาสำหรับนักเรียนที่มีสายตาเลือนรางเห็นได้ง่าย

อพยพด้วยระบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” (Buddy System) ผู้นำทางต้องเรียนรู้ว่าการพาคนตาบอดอพยพต้องใช้การจับข้อศอกหรือจับไหล่เรียงเป็นแถวต่อกัน

โดยตามหลักการแล้ว การอพยพนักเรียนที่พิการทางการมองเห็น จะประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติในโรงเรียนสอนคนตาบอด

ระบุและวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อภัยในโรงเรียนสอนคนตาบอด โดย สำรวจอาคารสถานที่ ระบุจุดเสี่ยงภัย โดยพิจารณาถึง ความแข็งแรงของอาคาร ขนาดประตูทางเข้า-ออก พื้นที่ของสนามเด็กเล่น รวมถึงวิเคราะห์ความปลอดภัยของเส้นทางที่เลือกใช้ในการอพยพด้วย

นักเรียนตาบอดฝึกทำแผนที่เส้นทางอพยพหนีภัยพิบัติ

และที่สำคัญ ต้องมีการจัดตั้งฝ่ายปฏิบัติการต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยอาจเป็นผู้บริหารโรงเรียนหรือนักเรียนที่มีภาวะผู้นำและศักยภาพในการช่วยเหลือคทำหน้าที่ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Commander) 

เรียนรู้วิธีการ CPR ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

ขั้นตอนที่ 2 การวางแผนฝึกซ้อมอพยพหนีภัยพิบัติ

มีการจำลองสถานการณ์ ระบุบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผน การประชาสัมพันธ์ วิธีการปฏิบัติ ฝึกสอนทักษะในการเอาตัวรอด รวมถความเข้าใจเรื่อง “สัญญาณเตือนภัย” ที่แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  1. การแจ้งเตือนภัยเพื่อเตรียมพร้อมอพยพ เป็นการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า โดยสัญญาณครั้งครั้งแรกจะดังขึ้นพร้อมประกาศเตือน เมื่อได้ยินต้องเก็บของ เตรียมอพยพ
  2. การแจ้งเตือนภัยเพื่ออพยพไปยังจุดปลอดภัย เป็นการเตือนว่าจะเกิดภัยในเวลาอันใกล้นี้ โดยโรงเรียนสอนคนตาบอดอาจกำหนดสัญญาณเตือนภัยขึ้นมาเองได้ (เช่น ไซเรนมือหมุน เป่านกหวีดเสียงยาว หรือเสียงกริ่ง) 

ขั้นตอนที่ 3 การฝึกซ้อมการอพยพหนีภัยพิบัติ

เป็นการฝึกซ้อมอพยพหนีภัย พื่อทดสอบความเข้าใจและการปฏิบัติ โดยกำหนดให้เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี ตามหลักการ แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วงการแจ้งเตือน 2) ช่วงการอพยพ 3) ช่วงยุติการฝึกซ้อม

ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลการฝึกซ้อมอพยพหนีภัยพิบัติ

จะช่วยให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหาและอุปสรรคในการเตือนภัยและการอพยพ

ขั้นตอนการฝึกซ้อมหนีอพยพ

ประสงค์ สุบรรณพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ที่ระบุว่า หัวใจสำคัญของการจัดทำแผนและฝึกซ้อมอพยพหนีภัยพิบัติทางธรรมชาติสำหรังโรงเรียนสอนคนตาบอดนั้น คือ การประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ในพื้นที่ และให้โรงเรียนสามารถจัดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อให้นักเรียนพิการมีโอกาสได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active