ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวย้ำอย่าประมาท แนะ อย่าเพิ่งกลับเข้าอาคารสูงที่มีความเสียหายระดับโครงสร้าง ต้องรอบผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ
ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดในจุดที่เป็นรอยเลื่อนใหญ่สุดในเมียนมา คาดการณ์ไว้แล้ว น่าจะส่งผลถึง กทม. และหลายจังหวัดในประเทศไทย โดยตำแหน่งนี้เคยเกิดเหตุมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งครั้งนี้เกิดระดับใกล้เคียงกับเมื่อร้อยกว่าปีก่อน 8.1 แต่ตอนนั้นยังไม่มีแรงส่งผลถึง กทม. แต่ส่งผลกระทบถึงหลายจังหวัด
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ความรุนแรงส่งผลกระทบถึง กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งดินอ่อน คนที่อยู่บนพื้นรู้สึกสั่นได้ชัดเจน และยังส่งผลกระทบรุนแรงกับตึกสูง มีการโยกจังหวะช้า ๆ อีกทั้งเข้าใจว่าอาจจะมีอาคารตึกสูงหลายหลังในกรุงเทพฯ เสียหาย
ศ.เป็นหนึ่ง แนะนำว่า สำหรับตึกสูงทุกตึกตอนนี้อย่าเพิ่งกลับเข้าไปใช้อาคาร จนกว่าจะให้วิศวกร/คนที่มีความรู้ตรวจสอบสภาพโครงสร้างของตึกก่อน ถ้าความเสียหายไม่ได้เกิดกับโครงสร้างสำคัญ ก็สามารถกลับเข้าไปได้ แต่ถ้าส่งผลกับโครงสร้างหลักอย่างเสาหรือกำแพงคอนกรีต ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจก่อน ตอนนี้ทางทีมงานกำลังเช็คข้อมูลเพิ่มว่าอันตรายแค่ไหน
สำหรับ โอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อก ศ.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ดูจากขนาด ของตำแหน่งรอยเลื่อน ที่ประเมินกันไว้ว่า รอยเลื่อนนี้ สูงสุดน่าจะประมาณ 8 ครั้งนี้ 7.7 น่าจะ main shock ไม่น่ามีใหญ่กว่านี้ หรือเกิดตำแหน่งนี้อีกง่าย ๆ ส่ิงที่ตามหลังมาคือ aftershock น่าจะเบากว่านี้ อาจจะ 6 ต้น ๆ ตามปกติ
“การสั่นสะเทือนรุนแรง aftershock มาแน่ แต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ แต่ไม่ประมาท ว่าอาคารไหนที่เสียหายไประดับนึง อาจจะเสียไปเพราะ aftershock ได้ เราต้องอยู่นอกอาคาร จนกว่าจะมี ผู้ที่มีความรู้ วิศวกรโครงสร้าง ไปตรวจอาคาร เสาหลัก กำแพงหลัก ว่าความเสียหายไม่เกิดในจุดอันตราย“
ระวังหลังแผ่นดินไหว! รศ.สุทธิศักดิ์ แนะ ประชาชนตรวจสอบความปลอดภัยด้วยตัวเอง
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ The Active โดยออกมาเตือนประชาชนถึงความปลอดภัยของอาคารหลังแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด พร้อมให้คำแนะนำ ก่อนกลับเข้าอาคาร
“ไม่มีใครในโลกคาดการณ์การเกิด aftershock ได้” อาจารย์สุทธิศักดิ์เน้นย้ำ ตอบรับกระแสข่าวที่แจ้งว่าอาจจะมี Aftershock ในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังเกิดแผ่นดินไหว ว่าจริง ๆ แล้ว ไม่มีใครสามารถคาดการณ์แรงกระแทกหลังแผ่นดินไหวหลักได้ และแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบความปลอดภัยด้วยตนเอง โดยมีขั้นตอนดังนี้:
- ตรวจสอบโครงสร้างหลักของอาคาร
- สังเกตรอยร้าวตามเสาและผนัง
- ตรวจดูว่าตัวอาคารผิดรูปหรือไม่
“ประชาชนในเบื้องต้นต้องดูแลตัวเองก่อน ถ้าตรวจสอบดูแล้วมีสัญญาณที่ดูไม่ปลอดภัย หรือรู้สึกไม่สบายใจ ให้ออกนอกอาคารก่อน”
รศ.สุทธิศักดิ์ รายงานเบื้องต้นจากจังหวัดเชียงราย ที่มีรายงานเบื้องต้นของโครงสร้างสะพานหลายที่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ
แนวทางปฏิบัติสำหรับอาคารต่าง ๆ
สำหรับตึกสูงอย่างคอนโด อาคารสำนักงาน ออฟฟิศส่วนใหญ่ จะมีวิศวกรที่ตรวจสอบอาคารอยู่แล้ว รศ.สุทธิศักดิ์ จึงแนะนำว่า ให้วิศวกรตรวจสอบอาคารก่อน โดยวิศวกรที่ตรวจสอบอาคารจะต้องเป็น วิศวกรที่ลงทะเบียนตามกฎหมาย มีความสามารถในการตรวจสอบ และจะต้องสำรวจหลัก ๆ 2 ส่วน ดังนี้
- ตรวจสอบระบบโครงสร้างหลักของอาคาร และ
- ระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไฟไหม้
ทั้งนี้ วิศวกรประจำตึก หรือผู้ที่มีความสามารถในการประเมินตึก อย่างเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) จะต้องประเมินว่าจะอนุญาตให้คนกลับขึ้นไปอยู่บนตึกได้หรือไม่ ก่อนที่จะให้ประชาชนกลับขึ้นไปใช้งานอาคารสูงเหล่านี้ได้
ข้อควรระวังพิเศษ
รศ.สุทธิศักดิ์ เน้นย้ำถึงการเฝ้าระวังโครงสร้างชั่วคราวต่าง ๆ ที่มีความเปราะบางมากกว่า อย่างโครงสร้างระหว่างก่อสร้าง สะพานและถนนที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ โครงสร้างเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ
“Aftershock จะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ โอกาสเกิดสูงในช่วงสองสัปดาห์นี้”
อีกส่วนที่ต้องระวังคือ ระวังมิจฉาชีพที่อาจจะฉวยโอกาสข่าวแผ่นดินไหวครั้งนี้ในการหลอกลวงด้วยข่าวปลอม อย่างการคาดการณ์ว่าแผ่นดินไหว Aftershock จะเกิดอีกครั้งเมื่อไหร่