อาจารย์ มธ. ห่วง หลังแผ่นดินไหว เจ้าหน้าที่รัฐกำลังไม่เพียงพอ เสนอดึงเอกชนร่วมตรวจสอบความเสียหายทางด่วน ระบบราง รถไฟฟ้า โทรคมนาคม สนามบิน เขื่อน ฯลฯ และการปนเปื้อนของน้ำประปา
รศ.สายันต์ ศิริมนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือการระดมบุคลากร-กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างขั้นพื้นฐานทั้งหมดที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งถนน ทางด่วน ระบบราง ระบบรถไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ท่อน้ำ สนามบิน รันเวย์ ตลอดจนท่อประปาที่อาจเกิดการปนเปื้อนในน้ำได้ และที่สำคัญก็คือโครงสร้างเขื่อนทั่วประเทศว่ามีความเสียหายหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ บุคลากรของหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทในการรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อาจมีจำกัดและอาจไม่เพียงพอ จึงขอเสนอให้เชิญผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดำเนินการตรวจสอบให้ครบถ้วนและรอบด้าน และหากพบความเสียหายก็ให้ปรับปรุงแก้ไข โดยในสถานการณ์นี้ บทบาทของภาครัฐควรมีหน้าที่ในการกำกับดูแลภาคเอกชน มากกว่าการลงไปดำเนินการเองทั้งหมด

รศ.สายันต์ กล่าวว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวมีอยู่หลายระดับ ทั้งในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ระดับปานกลาง และระดับที่รุนแรง หากตรวจสอบพบว่ามีความเสียหายเล็กน้อยก็ควรจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ แล้วค่อย ๆ ทยอยซ่อมแซมไป แต่หากความเสียหายอยู่ระดับปานกลางถึงรุนแรงก็ควรที่จะระงับการเข้าใช้พื้นที่ชั่วคราว จนกว่าการปรับปรุงจะเสร็จสมบูรณ์ และภาครัฐก็ควรจะมีการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นระยะ เพื่อไม่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ ภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการระยะยาวในการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้รับทราบ ถึงการปฏิบัติตัวในช่วงเวลาที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว เช่น ควรจะต้องมองหาที่หลบภัยแบบไหน ควรหมอบอยู่ใต้โต๊ะก่อนหรือไม่เพื่อป้องกันของแข็งหล่นทับร่างกาย เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว หากโครงสร้างของตึกไม่มีความแข็งแรงและแผ่นดินไหวมีระดับที่รุนแรง ถึงอย่างไรก็คงจะหนีไม่ทัน ในบางกรณีการพยายามหลบหนีอาจทำให้บาดเจ็บหรือสุ่มเสี่ยงมากกว่าการอยู่กับที่ได้