ยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 3 นักวิชาการเสนอนโยบายป้องกันลดความสูญเสีย เพิ่มการจัดทำแผนที่เสี่ยงแผ่นดินไหวระดับชุมชน พร้อมระบบติดตามและประเมินสุขภาพอาคารสูง
วันที่ 30 มี.ค. 68 ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากกรณีแผ่นดินไหว ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ประเทศไทยรับรู้แรงสั่นไหวและได้รับผลกระทบหลายพื้นที่ และประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยกรณีแผ่นดินไหวเป็นสาธารณภัยระดับ 3 (การจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่) โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570
จากกรณีเหตุการณ์แผ่นที่ดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายพื้นที่ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน รวม 63 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยตั้งแต่เกิดสถานการณ์จนถึงปัจจุบันมี Aftershock ขนาด 2.8 – 7.1 เกิดขึ้นรวม 177 ครั้ง และจะเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่จะไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบหรือรู้สึกสั่นไหว (ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา 30 มี.ค. 68 เวลา 16.00 น.)
สรุปความเสียหายและผู้เสียชีวิต
ขณะที่วันนี้มีรายงานความเสียหายในพื้นที่เพิ่มเติม รวม 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชัยนาท รวมถึงกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด
เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้เสียชีวิตรวม 12 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และสูญหาย 76 ราย ในส่วนของความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย จากรายงานเพิ่มเติม พบว่ามีบ้านเรือนเสียหาย 591 หลัง วัด 55 แห่ง โรงพยาบาล 86 แห่ง อาคาร 9 แห่ง โรงเรียน 52 แห่ง และสถานที่ราชการ 25 แห่ง
สำรวจความเสียหายและมาตรการช่วยเหลือ
สำหรับทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้เร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สำรวจความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย สิ่งสาธารณประโยชน์ และโครงสร้างพื้นฐาน และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดแพร่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครซึ่งมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่
ในส่วนของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวสามารถใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการเพื่อช่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด วงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งขณะสามารถดำเนินการสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายเพื่อพิจารณาช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ ถ้าหากไม่เพียงพอสามารถขอขยายวงเงินมาที่กรม ปภ. เพื่อส่งต่อให้กับกรมบัญชีกลางต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือมีความต่อเนื่องและรวดเร็ว หากงบประมาณในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท ไม่เพียงพอขอให้แจ้งเพื่อขยายวงเงินทดรองราชการฯ ได้ทันที
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ทางกรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) วงเงิน 200 ล้านบาท โดยเน้นในด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไป บกปภ.ช. จะได้ประสานให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเร่งตรวจสอบและจัดทำบัญชีความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอาคาร สตง. ถล่ม
ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร หน่วยทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ จิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ติดค้างภายใต้ซากอาคารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดพื้นที่ค้นหาและกู้ภัย (Zoning) อย่างเป็นระบบและชัดเจน พื้นที่บางส่วนสามารถนำเครื่องจักรใหญ่เข้าเปิดทางเพื่อให้ทีมค้นหาและกู้ภัยเข้าดำเนินการได้
มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและกู้ภัยจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงาน ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) ไปสนับสนุนการปฏิบัติงาน รวม 77 นาย พร้อมด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี และเขต 3 ปราจีนบุรี เข้าร่วมปฏิบัติการ พร้อมทั้งสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั่วประเทศเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย กว่า 355 รายการ ให้พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ในส่วนของเครนที่ทางด่วนดินแดงที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว การทางพิเศษแห่งประเทศไทยแจ้งว่าจะเปิดบริการประชาชนได้เป็นปกติในเวลา 05.00 น. ของวันพรุ่งนี้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การทำนโยบายให้ดีคือการรักษาชีวิต สังคม เเละเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อาศัยที่ผมได้มีโอกาสช่วยทาง ปภ ในการปรับปรุงเเผนเเม่บทการรับมือเเผ่นดินไหวเมื่อหลายปีที่ผ่านมา จึงได้นำความคิดเก่ามาทำการปรับปรุงให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน หวังว่าเเนวทางนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานเเละรัฐบาล โดยขอให้ทำได้อย่างต่อเนื่อง

“สำหรับภัยเเผ่นดินไหวที่นานๆ เกิดที เเต่เกิดเเล้วเเก้ตัวไม่ได้ เพราะอาจจะพังได้ทั้งเมือง ถึงเเม้ปัจจุบันเรายังรับมือได้ไม่เต็มที่ เเละถึงเเม้เเผนนโยบายที่ผมเสนออาจจะยังไม่สามารถทำได้ เเต่เรื่องสำคัญคืออย่าหยุดคิดอย่าหยุดทำครับ หยุดเเม้เเต่ปีเดียวก็ไม่ได้ ไม่ต้องเร่งตามกระเเส เเต่ต้องไม่หยุดเพราะเเผ่นดินจะเกิดเมื่อไรก็ไม่มีใครทราบได้ ย้ำอีกครั้งครับ เกิดเเล้ว เเก้ตัวไม่ได้”