‘เมียนมา’ หลังแผ่นดินไหว ความเสียหาย ที่ยังไร้การช่วยเหลือ

ชาวเมียนมาในมัณฑะเลย์ สะท้อนผ่าน The Active ย้ำ แผ่นดินไหวครั้งนี้ เป็นภัยพิบัติเลวร้าย ครั้งรุนแรงที่สุด อาคาร บ้านเรือน มรดกวัฒนธรรม เสียหายหนัก ยังขาดการตอบสนองจากภาครัฐ ประชาชนยังต้องช่วยเหลือกันเอง

วันนี้ (31 มี.ค. 68) มัณฑะเลย์ เมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของเมียนมา เผชิญกับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อาคารบ้านเรือน โบราณสถาน และถนนพังเสียหาย มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ท่ามกลางการตอบสนองอย่างล่าช้าของทางการเมียนมาร์

The Active พูดคุยกับชาวเมียนมา ส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว สะท้อนตรงกันถึงสภาพความเสียหาย และการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ยังเข้าไม่ถึง ขณะที่ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเองท่ามกลางความยากลำบาก

มัณฑะเลย์ : อาคารพัง มรดกวัฒนธรรมสูญสิ้น

“นี่เป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุด ที่เราเคยประสบในมัณฑะเลย์
เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในมัณฑะเลย์
และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเมียนมา”

San Min Tun ชาวเมียนมา ที่อาศัยในมัณฑะเลย์ บอกกับ The Active ว่า เขาได้พาครอบครัวออกจากเมืองเมื่อช่วงเย็นวันเกิดเหตุ

“เหตุการณ์แผ่นดินไหวน่าหดหู่และหนักหนาสาหัส ผมเห็นผู้คนบนถนนร้องไห้”

San Min Tun

ภาพ: Kyaw Zin Aung

“นี่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก ผู้คนกำลังเสียชีวิต อาคารเสียหาย มัณฑะเลย์เป็นเมืองที่มีอาคารเก่าแก่ และวัดวาอาราม อาคารวังเก่าแก่จากสมัยราชวงศ์ ตอนนี้มันพังทลายลงมาหมดแล้ว เราไม่มีอะไรให้แสดงถึงวัฒนธรรมของเราอีกต่อไป”

San Min Tun

ตามคำบอกเล่าของ San เขาบอกว่า เห็นอาคารประมาณ 20% พังทลาย หรือเสียหายอย่างหนักระหว่างขับรถออกจากเมือง ในขณะที่ตอนนี้อากาศในเมืองร้อนกว่าปกติมาก ผู้คนจำนวนมากต้องออกมาพักอาศัยบนท้องถนน และพื้นที่โล่ง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

“เราไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ ท่อระบายน้ำก็พัง บางที่ก็มีแก๊สรั่ว”

San Min Tun

มรดกทางวัฒนธรรมของมัณฑะเลย์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก อย่างพระราชวังมัณฑะเลย์ และวัดมหามัยมุนี ซึ่งเป็นวัดพุทธที่มีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคนี้

San Min Tun ชาวเมียนมา ที่อาศัยในมัณฑะเลย์

“ในมัณฑะเลย์ เรามีวัดพุทธที่มีชื่อเสียงที่สุด วัดมหามัยมุนี ซึ่งมีประวัติศาสตร์และมีอำนาจมากในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมาร์ พระพุทธรูปส่วนใหญ่พังทลายลงมา และเราก็ภูมิใจในสถาปัตยกรรมพระราชวังมาก มันก็พังเช่นกัน”

San Min Tun

แผ่นดินไหวอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่ San บอกว่า พวกเขาได้เรียนเรื่องแผ่นดินไหว และรอยเลื่อนสะกายมาตั้งแต่สมัยมัธยมฯ แล้ว 

“เราเรียนรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนมาตลอดในโรงเรียนมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย พวกเขาบอกว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริง ๆ” 

San Min Tun

ขาดการตอบสนองจากภาครัฐ ประชาชนช่วยกันเอง

เม (นามสมมุติ) หญิงเมียนมาร์ วัย 40 กว่าปี ที่ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศในเมืองย่างกุ้ง เล่าว่า จากที่เธอตามข่าวหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ภาครัฐเมียนมายังไม่มีการตอบสนองที่ชัดเจน

“ภาครัฐเมียนมายังไม่ออกมาทำอะไร ทั้งประกาศอะไรบนโซเชียลมีเดีย หรือลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ แม้พื้นที่จริงถนนจะพังทั้งเส้น ตึกสูงหลายแห่งพังลงมาแล้ว”

เม

ภาพ: Kyaw Zin Aung

จากการติดตามข่าวในประเทศ เม ยอมรับว่า ทีมตอบสนองเหตุฉุกเฉินยังไม่ลงพื้นที่ มีเพียงภาคประชาสังคม หรือหน่วยงานอาสาสมัครต่าง ๆ ที่ระดมคนมาช่วยเหลือกันเองบนท้องถนน

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับคำบอกเล่าของ San ที่ว่าความช่วยเหลือส่วนใหญ่มาจากอาสาสมัคร ไม่ใช่จากรัฐบาล

“ทีมกู้ภัยเป็นอาสาสมัคร ไม่ใช่จากรัฐบาล ผู้คนพยายามปฐมพยาบาล และให้ยาที่เหมาะสม หรือพยายามพวกเขาไปยังโรงพยาบาลและคลินิก”

San Min Tun

สำหรับบทบาทของทหารและตำรวจนั้น San บอกว่า จากฝั่งรัฐบาล พวกเขาพยายามเคลียร์ถนน ทำให้การจราจรคล่องตัว ซึ่งการจราจรแย่มากในตอนนี้ ตำรวจอยู่ทั่วถนน ทหารพยายามควบคุมการจราจร

“ไฟเริ่มลุกไหม้หลังแผ่นดินไหว บ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ บ้านจึงถูกเผาหมดจนไม่มีอะไรเหลือ รัฐบาลจัดหาที่พักพิงให้พวกเขาบางส่วน ในสวนสาธารณะบางแห่งที่ปกติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ตอนนี้เราสามารถพักอยู่ที่นั่นได้ นั่นคือทั้งหมดที่เราได้รับจากรัฐบาล”

San Min Tun

San ยังเล่าถึงการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ ที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย คือ การมอบพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนพักอาศัยในยามฉุกเฉิน

การฟื้นฟูเยียวยา: ความหวังที่ริบหรี่

สำหรับประสบการณ์ในอดีตทำให้ชาวเมียนมาไม่คาดหวังการเยียวยาจากรัฐบาลมากนัก San เล่าว่า ปกติเราไม่ได้รับการชดเชยจากรัฐบาล หากพวกเขาให้เรา มันจะเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก จากน้ำท่วม รัฐบาลประกาศว่า พวกเขาสนับสนุนเงินชดเชยให้ผู้คน เงินประเภทนั้นมันไม่พอที่จะสามารถเลี้ยงคนได้แม้แต่คนเดียว

ล่าสุด San บอกว่าทหารเริ่มขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศแล้ว

“ทหารเขาเพิ่งขอความช่วยเหลือระหว่างประเทศ (International Aid) จากประเทศอื่นๆ เขาเพิ่งเปิดรับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ ฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี จีนกับไต้หวันกำลังส่งทีมสรรหาไปยังเมียนมาร์เพื่อเข้าร่วมในการสรรหาภารกิจกู้ภัยนี้”

San Min Tun

ความท้าทายในการฟื้นฟูมีมากมาย ทั้งด้านการคมนาคมที่ถูกตัดขาด วัสดุก่อสร้างที่มีราคาแพง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่

“เราก็อยากให้มีการตรวจสอบโดยวิศวกรและการซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด แต่มันท้าทายมากในตอนนี้ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศ วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่มีราคาแพงมากสำหรับเรา”

San Min Tun

San ยังคาดว่า ในช่วงสถานการณ์ฟื้นฟู คงไม่ได้มีโอกาสซ่อมแซมบ้านของตัวเองได้ในเร็ว ๆ นี้

ภาพความเสียหายของบ้าน San Min Tun ในเมือง มัณฑะเลย์

San ยังเล่าต่อว่า ถึงแม้ว่าหน่วยงานจะบอกว่ามันปลอดภัยที่จะกลับไปอยู่ที่นั่น แต่เขาไม่อยากกลับไปที่มัณฑะเลย์ในตอนนี้

“สำนักงานที่ประจำอยู่ก็เสียหายอย่างหนัก กำแพงส่วนใหญ่พังทลาย ก็ไม่อยากไปที่นั่น การทำงานจากที่บ้านก็เป็นไปไม่ได้เช่นกันเพราะอินเทอร์เน็ตใช้แทบไม่ได้ในตอนนี้”

“ฉันแค่พยายามสงบสติอารมณ์ อยู่กับครอบครัว ฉันไม่คิดอะไรมาก สนามบินก็พังเช่นกัน เราจึงไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้ ทางหลวงจากย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์ ก็เสียหายเช่นกัน ฉันไม่คิดว่าเราจะสามารถเดินทางไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ ได้ง่าย ๆ”

San Min Tun

ขณะที่ Ou Ou ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง บอกว่า สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของเราแย่ลงไปอีก คือ พวกเขายังจำกัดการเข้าถึงของทีมกู้ภัยนานาชาติทั้งหมดไปยังสะกาย เนื่องจากกองกำลังป้องกันประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นั้น 

“ในมัณฑะเลย์ ทหารประกาศเคอร์ฟิวหลัง 22.00 น. เพื่อสร้างความยุ่งยากมากขึ้นในการปฏิบัติการ”

Ou Ou

แม้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ได้ประกาศระงับปฏิบัติการเชิงรุกกับทหาร เพื่อเน้นการช่วยเหลือพลเรือนมากขึ้น แต่ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป

“ตอนนี้ การโจมตีทางอากาศต่อพลเรือนในพื้นที่ขัดแย้งของเมียนมาร์ยังคงเกิดขึ้น”

Ou Ou

ชีวิต และความหวัง

แม้ San จะให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเลขทางการอาจจะไม่ตรงตามความจริงนัก เพราะการช่วยเหลือยังไม่ได้ทั่วถึง แต่ตัวเลขคร่าว ๆ ของผู้เสียชีวิตในเมืองมัณฑะเลย์ อยู่ที่ 1,790 คน แต่ในเมืองนี้ มีเรื่องราวของการสูญเสียที่มากกว่าตัวเลข

“เพื่อนบางคนของฉันเสียชีวิต เขาเป็นคนฉลาดมาก นับเป็นผู้นำในเมียนมาร์ด้าน AI เขาเป็นผู้บุกเบิกด้าน AI สำหรับเยาวชน แต่เขาเสียชีวิตไปเพราะแผ่นดินไหว รวมถึงเพื่อนร่วมงานและครอบครัวของเขาด้วย เมื่อบ้านและออฟฟิศของเขาพังทลาย พวกเขาถูกปิดล้อมอยู่ข้างใน”

San Min Tun

ท่ามกลางความสูญเสียและความโศกเศร้า การสื่อสารกับโลกภายนอกเป็นไปอย่างยากลำบาก “มันยากมากที่จะทำให้โลกรับรู้ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตล่ม เราจึงไม่สามารถโพสต์อะไรมากมายบนโซเชียลมีเดีย”

สำหรับผู้รอดชีวิต พวกเขาต้องเผชิญกับการเริ่มต้นใหม่ที่ยากลำบาก

“ฉันเห็นผู้คนมากมายต้องทนทุกข์ทรมาน พวกเขาต้องเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์อีกครั้ง หากพวกเขาเสียสมาชิกในครอบครัว เหมือนพวกเขาต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยต้นทุนติดลบ”

San Min Tun ทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active