กระทรวงวัฒนธรรม ปั้นงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ขับเคลื่อนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้ชุมชน
วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รายงานผลการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภายใต้ชื่องาน “สืบศิลป์ถิ่นอีสาน ESAN DO DEE” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และงานวิสาขปุณณมีปูชา ประเพณีสรงน้ำพระธาตุยาคู ทะเลธุงอีสาน ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 13 – 17 พฤษภาคม 2565 ณ โบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง พระธาตุยาคู อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
ทั้งนี้ รัฐบาลโดย วธ. ได้ขับเคลื่อนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ 1. อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4.มวยไทย (Fighting) และ 5.การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก(Festival) ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรม “ทำดี ทำงาน ทำเงิน” ส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ
โดย วธ.ร่วมกับจังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชนและประชาชนจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยฯขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยกระดับการท่องเที่ยวงานเทศกาลวิสาขปุณณมีปูชา ประเพณีสรงน้ำพระธาตุยาคู ทะเลธุงอีสานประจำปี 2565 ให้เป็นที่รู้จักระดับชาติและนานาชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้นับเป็นงานบุญครั้งใหญ่ที่รวบรวมพลังศรัทธาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ทั้ง 18 อำเภอ ภายในงานนี้มีธุงมากกว่า 1,600 ต้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความดีงามและความเป็นสิริมงคล รวมทั้งมีพิธียกอ้อยอครูไหว้ครูหมอลำและศิลปินพื้นบ้านอีสานโดยเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อสืบสาน สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประกอบอาชีพนักแสดง และมีกิจกรรมประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีบวงสรวงพระธาตุยาคู พิธีอัญเชิญน้ำสรงพระราชทานเพื่อสรงน้ำพระธาตุยาคู ขบวนแห่สักการะและรำบูชาพระธาตุยาคู พิธีทำบุญตักบาตรและเวียนเทียน เนื่องในงานเทศกาลวิสาขปุณณมีปูชา การแสดงประกอบแสง สี เสียงมหรสพโขน การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานจาก 20 จังหวัด การแสดงแบบผ้าไทยและผ้าไทยร่วมสมัย“ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” เสวนาวิชาการ การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย Community Cultural Product of Thailand (CCPOT) จาก 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลาดโบราณ ด่านทวารวดี ช้อป ชิม ชมของดีจาก 18 อำเภอจังหวัดกาฬสินธุ์และการประกวดภาพถ่ายทะเลธุง
“ผลการจัดงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน 220,945 คน และเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์และการบริการทางวัฒนธรรม 910 ราย คณะนักแสดงจาก 20 จังหวัด จำนวน 39 คณะ รวม 3,046 คน อีกทั้งสร้างรายได้ ให้แก่ผู้ประกอบการที่พักและอาหารจากการที่มีผู้มาท่องเที่ยวชุมชนและบริการด้านต่างๆในพื้นที่ ทำให้มีรายได้หมุนเวียน 52,094,938 บาท”