สร้างหลักประกันเดินหน้าปกป้อง คุ้มครอง วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน ‘รมว.วัฒนธรรม’ ย้ำ ศักยภาพชาวเล พลังสร้างสรรค์ พัฒนาประเทศ ช่วยดูแลทรัพยากร ให้มั่นคง ยั่งยืน ตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา
วันนี้ (22 พ.ย. 67) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่, เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน 5 จังหวัด และภาคีองค์กรเครือข่ายด้านชาติพันธุ์ ได้ร่วมกันเปิดหลักหมุดเพื่อสถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลโต๊ะบาหลิว ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นไปตามแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 มิถุนายน 2553
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเดินมาเป็นประธานภายในงานฯ ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีอัตลักษณ์ และวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ถือเป็นศักยภาพที่จะใช้ทุนวัฒนธรรมเป็นพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบาย Soft power ของรัฐบาล รวมทั้งยังใช้เป็นพลังช่วยปกป้อง ดูแลทรัพยากรของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืนตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา
โดยปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เป็นกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อ “คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม” โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” มีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม
ตอกย้ำรูปธรรมพื้นที่คุ้มครองฯ
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม บอกด้วยว่า การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองฯ ถือเป็นสาระสำคัญหลักใน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ที่ชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะลันตาวันนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่ได้เห็นรูปธรรมชัดเจนของแนวคิดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
“ในนามรัฐบาล พร้อมสนับสนุนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีหลักประกันทุนทางวัฒนธรรม เพื่อช่วยให้พี่น้องกลุ่มชติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เชื่อว่าการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานจะทำให้ได้รับทราบปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชน”
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
หวังเขตพื้นที่คุ้มครองฯ หลักประกัน วิถีชาติพันธุ์
เดียว ทะเลลึก ตัวแทนชาวเลชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะลันตา จ.กระบี่ ย้ำว่า ชุมชนโต๊ะบาหลิว เป็นชุมชนดั้งเดิม บรรพบุรุษชาวเลเป็นผู้บุกเบิกแผ่นดินที่เกาะลันตามาเป็นที่อยู่อาศัย ที่ประกอบอาชีพ มากกว่า 500 ปี ชุมชนโต๊ะบาหลิวจึงถือเป็นเมืองหลวงของพี่น้องชาวเล ก่อนที่จะขยายชุมชนไปยังเกาะอื่น ๆ ทั่วอันดามัน ตอนนี้ชุมชนโต๊ะบาหลิว มีกว่า 100 หลังคาเรือน ประชากร 265 คน ที่ผ่านมาชุมชนได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลชุมชนเพื่อเดินหน้าของประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองฯ หวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างที่สะสมมานาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่อาจแก้ปัญหาได้โดยใช้แค่มติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 ได้เพียงอย่างเดียว ดังนั้นการมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นอีกแนวทางที่สามารถเป็นหลักประกันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวเล และช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้
ขณะเดียวกันภายในงานฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 18 องค์กร ได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือ (MOU) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาวเลโต๊ะบาหลิวด้วย
ทั้งนี้พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทางการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมศักยภาพบนฐานทุนทางวัฒนธรรม ปัจจุบันได้ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 23 พื้นที่ และพื้นที่ชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจ ชุมชนโต๊ะบาหลิว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ลำดับที่ 24
สำหรับชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว เป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวเลอูรักลาโวยจ ที่อยู่อาศัยมาแล้วกว่า 80 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงตามวิถีภูมิปัญญา เนื่องจากอยู่ใกล้กับชายฝั่งและตั้งอยู่ในเขตป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การรำรองแง็ง ศิลปะพื้นบ้านด้านการขับร้อง และร่ายรำในภาษามลายู, ประเพณีลอยเรือ (อารี ปือลาจั๊ก) เพื่อสะเดาะเคราะห์และเสี่ยงทายโชคชะตาให้การประกอบอาชีพทางทะเลปราศจากอุปสรรค โดยมี ศาลโต๊ะบาหลิว เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของชุมชนที่ยึดเหนี่ยวครอบครัวและชุมชนไว้ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติผ่านกติกาชุมชน
ชุมชนโต๊ะบาหลิว ถือเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองฯ 4 ประการ ดังนี้
- ชุมชนมีความเข้มแข็งและเชื่อมั่นในสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชุมชนดั้งเดิม ในฐานะทุนทางวัฒนธรรมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
- ชุมชนสร้างแนวทางการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ สถาบันวิชาการ และภาคประชาสังคมบนฐานความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และความเคารพ
- ชุมชนสร้างพื้นที่รูปธรรมผ่านการสำรวจขอบเขตพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางวัฒนธรรม
- ชุมชนสร้างองค์ความรู้ผ่านการสำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน พร้อมเปิดรับความรู้สมัยใหม่ ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก
ขณะที่การพิจารณากำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองฯ วางอยู่บนฐานการจัดการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
- การจัดทำข้อมูลชุมชน 4 ประเภท ได้แก่ 1. แผนที่ชุมชน เพื่อสำรวจพื้นที่ทางกายภาพและระบุขอบเขตของชุมชน 2. ประวัติชุมชน เพื่อให้เห็นถึงความเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ใช้ประโยชน์และจัดการพื้นที่บนฐานภูมิปัญญา 3. ปฏิทินชุมชน เพื่อให้เห็นถึงการสืบทอดวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4. ข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อประเมินองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน
- การจัดทำแผนบริหารจัดการเขตพื้นที่คุ้มครองฯ เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดการพื้นที่และสร้างความเข้าใจร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- การจัดทำธรรมนูญชุมชน ที่ให้ความสำคัญกับหลักจารีตประเพณีดั้งเดิมในการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่ไม่ขัดกับหลักกฎหมายของประเทศ
- การประเมินผล เพื่อเป็นหลักประกันความสมดุลและยั่งยืนตามเป้าหมายของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ชุมชนโต๊ะบาหลิว มีเป้าหมายเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นำร่องมาตั้งแต่ปี 2553 มีแผนการดำเนินงานที่ชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนมากว่า 20 ปี เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ประกอบด้วย
- แก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนฐานทุนทางวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน
- พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน และนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้
- สืบสานวิถีชีวิตและประเพณี สำรวจองค์ความรู้ท้องถิ่นและส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ตลอดจนประยุกต์ใช้ความรู้สมัยใหม่ผ่านการจัดทำนวัตกรรมชุมชน
“มารักลาโวยจ” รวมญาติชาวเล ครั้งที่ 14
ขณะเดียวกันวันนี้ เครือข่ายชาวเลอันดามันยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 14 โดยใช้ชื่องานปีนี้ว่า “มารักลาโวยจ” ซึ่งงานรวมญาติชาวเล ถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ชาวเลอันดามันประกอบด้วย ชนเผ่ามอแกน, มอแกลน และ อูรักลาโวยจ มีประชากรรวมกัน 14,367 คน ซึ่งการจัดงานรวมญาติชาวเลครั้งนี้ นอกจากการนัดเจอกันของตัวแทนชุมชนชาวเลอันดามันแล้ว ยังได้มีการแลกเปลี่ยนศิลปะ วัฒนธรรม ระหว่างกันด้วย นอกจากนั้นในงานรวมญาติชาวเลปีนี้ ยังมีตัวแทนชาติพันธุ์ชาวเล จากประเทศอินโดนิเซีย มาร่วมงานด้วย
ฟรานซิสดุส ดาเวซีอุส ตินติน ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์โอรังละอุส เกาะบินตัน อินโดนิเซีย บอกว่า เป็นโอกาสดีที่ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้งานรวมญาติชาวเลที่เกาะลันตา โดยมองว่าความเหมือนระหว่างชาวเลทั้ง 2 ประเทศ คือได้ใช้ภาษาอูรักลาโวยจ ร่วมกัน รวมถึงภาษามลายู ที่ใช้ไม่ต่างกัน ทำให้รู้สึกถึงความเป็นญาติพี่น้องที่ไม่ได้ห่างไกลกัน มาที่เมืองไทยแล้วจึงรู้สึกอบอุ่น ส่วนประเด็นที่มองว่าเป็นความแตกต่างกันคือ ชาวเลที่ไทยมีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายที่แข็งแรง ต่างจากชาวเลที่อินโดนิเซียที่ยังไม่สามารถรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายกันได้ จึงมองว่านี่คือจุดแข็งของชาวเลที่ไทย ซึ่งถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้นำประสบการณ์การได้มาเรียนรู้งานรวมญาติชาวเลวันนี้ไปประยุกต์ใช้ ขับเคลื่อนการสร้างเครือข่ายชาวเลที่อินโดนิเซียต่อไป