ผุดแคมเพน “ต่อต้านการขายชาติ ให้ต่างชาติถือครองที่ดิน” ผ่าน Change.orgหลังมติครม. เห็นชอบมีผล ก.ย. นี้ โฆษกรัฐบาล แจง สิทธิถือครองที่ดินตามมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติ ภายใต้เงื่อนไขนำเงินมาลงทุน ไม่ใช่ขายที่ดิน
เว็บไซต์ Change.org แพลตฟอร์มที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถร่วมรณรงค์ และรวบรายชื่อ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ผุดแคมเพน “ต่อต้านการขายชาติ ให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้” โดยระบุว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจําพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสุดประเทศไทยประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2565 ตามประกาศดังกล่าวจะทำให้ต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศไทย เปรียบเสมือนการขายชาติและดินแดนให้ต่างชาติ จึงขอรณรงค์ต่อต้านและให้รัฐบาลยกเลิกประกาศดังกล่าว ล่าสุด (19 ก.ค.65) มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 62 คน
ขณะที่กระแสในโลกออนไลน์มีเสียงสะท้อนหลากหลาย เช่น ถ้าต้องแลกกับการลงทุนของต่างชาติ กับความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินคุ้มกันหรือไม่ เปรียบเทียบกับบ้านโลงศพที่ฮ่องกงหลังจากดำเนินนโยบายคล้ายกัน จนคนต้องเช่าห้องขนาดเล็กอยู่อาศัยกัน
“คนไทยยัง GDP ติดลบ รายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตก็ซื้อบ้านไม่ได้ การให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองอสังหาฯ จะยิ่งชิงสิทธิประโยชน์ไปอีกและอาจทำให้คนไทยครอบครองอสังหาฯ ยากขึ้นเรื่อย ๆ”
ก่อนหน้านี้ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจําพวกเข้ามา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสูงประเทศไทย ประกาศเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย. 2565 นี้ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ได้แก่
– กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง
– กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
– กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
– กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ
สามารถพำนักและทำงานในประเทศไทยได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ทำให้ไทยมีคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอให้กับภาคธุรกิอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม สำหรับการให้สิทธิในการถือครองที่ดินของคนต่างชาตินั้น เป็นเพียงมาตรการหนึ่ง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย
กรมที่ดินอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงประเทศไทย พ.ศ. …. ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ ต้องเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสุดประเทศไทย นำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี ในธุรกิจหรือกิจการประเภทที่กำหนด เช่น การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึง การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์ ที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรม ในตลาดทุน พ.ศ. 2550 และหากคนต่างด้าวที่ประสงค์จะได้มาซึ่งที่ดิน อยู่ 2 เงื่อนไขสำคัญ คือ รวมไม่เกิน 1 ไร่ และใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น โดยสอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายในปัจจุบัน
โฆษกรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงข้อเท็จจริง ประเด็นมาตรการลดค่าธรรมเนียมการซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินหรืออาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท จะได้สิทธิลดหย่อนค่าธรรมเนียมจาก 2% เป็น 0.01% ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 18 มกราคม นั้น ใช้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ยีนยันว่า รัฐบาลไม่เคยมีแนวคิดจะให้คนต่างชาติใช้สิทธิในเรื่องนี้
ธนกร ย้ำว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ โดยวางเป้าหมาย ภายใน 5 ปีงบประมาณ 2565 – 2569 จะช่วยเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในประเทศไทย 1 ล้านคนเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาทเพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาทและสร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญ ‘บู๊ส อัพ’ เศรษฐกิจไทยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ด้วยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงทั่วโลก เดินหน้าตามกลยุทธ์ ‘3แกน สร้างอนาคต’ ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สร้างโอกาส เชื่อมไทย ช่วยผู้ประกอบการ ประชาชนและแรงงานในประเทศให้มีรายได้ต่อเนื่อง