เกษตรกรชาว อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร แสดงความกังวลท่ามกลางความไม่ชัดเจน ของโครงการแลนด์บริดจ์ เตรียมรวมตัวกับเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เดินทางเข้าพบนายกฯ ในการประชุม ครม.สัญจร จ.ระนอง เพื่อขอความเป็นธรรม
วันนี้ (19 ม.ค. 2567) The Active ได้พูดคุยกับเกษตรกร ชาว อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ที่กังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะที่ดินอยู่ในแนวการก่อสร้างทางหลวงพิเศษและรถไฟทางคู่ ทั้งที่ไม่ได้รับแจ้งจากภาครัฐมาก่อนหน้านี้ว่าจะถูกเวนคืน พร้อมขอความเห็นใจ “อาชีพชาวสวน” เป็นรายได้หลัก ไม่สามารถย้ายไปปลูกที่อื่นได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ บางราย ข้อมูลตกสำรวจเสี่ยงถูกเวนคืนแบบไร้การเยียวยา
จรัญ รัตนะ เกษตรกรชาว ต.ปังหวาน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวว่า ครอบครัวอาศัยอยู่กันกับลูก ๆ รวม 3 คน อาชีพหลัก คือทำสวนทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ หมาก มะพร้าว ทำมานานกว่า 40 ปี เพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่สมบูรณ์ นั่นคือพื้นที่ชุมน้ำ 1A ผลผลิตดีทุกปีเฉพาะรายได้จากการขายทุเรียนอยู่ที่ 1.5 – 1.6 ล้านบาทต่อปี แต่พอมีโครงการแลนด์บริดจ์ ก็ตกใจที่ทั้งพื้นที่บ้านและสวนของเขา อยู่ขนานกับเส้นทางการก่อสร้างที่ต้องถูกเวนคืน ต้นทุเรียนในสวนมี 200 ต้น น่าจะเหลือเพียง 2 ต้น
จรัญ บอกว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้ง แต่มีคนมาสอบถามพื้นที่ตามโฉนด และที่ได้รับทราบข้อมูลโครงการก็เพราะได้ไปร่วมฟังประชุมเอง และจากการศึกษาโครงการฯ เขามองว่า อาจจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เพราะเคยค้นเอกสารเมื่อปี 2565 ไม่เห็นข้อมูลเส้นทางเห็นเพียงนิคมอุตสาหกรรม ในมุมของจรัญเขาเชื่อว่าเป้าหมายของรัฐบาลคือการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลักโดยใช้แลนด์บริดจ์เป็นตัวนำทาง และหากวันหนึ่งถูกเวนคืนจริง ๆ ต้องทำตามกระบวนการที่ต้องพูดคุยกับชาวบ้าน แต่กระทบกับอาชีพอย่างแน่นอน
“มืดแปดด้าน เพราะออกจากตรงนี้ก็ไม่รู้จะไปไหน ที่เรามีแปลงเดียว ถ้ามาบอกว่าให้ออกจากพื้นที่ภายใน 3 เดือน ผมก็จบ ผมเห็นในระเบียบเวนคืน ผมไปถามคนอื่นเขาก็ไม่รู้จะไปไหน เพราะส่วนใหญ่คนที่มีที่ดินหลายแปลงมีน้อยในหมู่บ้านผม”
จรัญ รัตนะ
ขณะที่สวนผลไม้ของ กัญจนา และสนิท นามวงศ์ ชาว ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร พบว่า เส้นทางแลนด์บริดจ์ ผ่านสวนของพวกเขาแต่กลับตกสำรวจ กัญจนา เล่าวว่า ที่ดินทั้ง 10 ไร่ ปลูกทุเรียนและมังคุด พอโครงการฯ มาก็โดนทั้งแปลงและยังไม่มีใครเข้ามาสอบถาม มีเพียงเพื่อนบ้านเล่าว่า มีคนเข้ามาสำรวจในสวนวันที่ไม่อยู่บ้าน ส่วนตัวรู้สึกเสียใจถ้าที่ดินโดนเวนคืน ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ไม่อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น และที่ทำให้กังวลใจเครียดจนนอนไม่หลับทุกวัน คือการที่รู้ว่าที่ดินอยู่ในแนวที่จะถูกเวนคืน แต่ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ในระบบ
“ได้เข้าร่วมประชุมที่ อบต. (โดย สนข.) ได้เอาโฉนดที่ดินไปให้เจ้าหน้าที่ดูว่าตามแผนที่โดนเยอะไหม เขาบอกว่า ของป้าโดนหมดเลย แต่ที่ของป้ามีโฉนด พอป้าถามว่าให้ไปเซ็นชื่อตรงไหน เขาให้ไปเซ็นที่ประชาชนทั่วไป เขาบอกอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่ถือใบโฉนดไป เขาถามอีกว่าได้หนังสือเล่มสีน้ำตาลไหม ป้าบอกว่าว่าไม่ได้ แต่หนังสือนี้เขาจะแจ้งเฉพาะคนที่มีโฉนดที่ดิน คนที่มีสิทธิ์ แล้วของป้าถือไปให้เขาบอกว่าโดน แต่กลับไม่เคยได้เอกสารเลย”
กัญจนา นามวงศ์
กัญจนา ยังบอกอีกว่า ความฝันบั้นปลายชีวิตของทั้งคู่ คือสร้างหลักปักฐานงานในสวน ซึ่งได้ยกที่ดินให้ลูกสาวคนเล็ก คาดว่าอีก 2-3 ปี เพราะอยากให้กลับมาสานต่อ แต่การมาเสนอว่าจะให้ลูกหลานได้ทำงานกับโครงการแลนด์บริดจ์คงไม่เอา
“ป้าขอให้นายกฯ หยุดโครงการนี้ หยุดทำได้เลย เพราะว่าป้าไม่เอาแลนด์บริดจ์ ป้าต้องการความชัดเจน เพราะข้อมูลบิดเบือนหมดเลย ไม่ให้เรารู้เลย ทำสวนมีกินมีใช้ตลอดปี ได้เงินจากการขายทุเรียน จากการขายมังคุด ปีหนึ่งได้เป็นล้าน ไม่ใช่น้อย ๆ ช่วงนี้ไม่มีทุเรียนมังคุด ก็ยังมีหมาก เงินไม่ขาดมือ ไม่ขัดสนเลย ขออยู่ตรงนี้และตายที่นี่ ไม่ไปไหน”
กัญจนา นามวงศ์
สำหรับวาระการประชุม ครม. สัญจร จ.ระนอง ในวันที่ 23 ม.ค. 2567 เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ พร้อมด้วยประชาชนที่ไม่เห็นด้วย จะรวมตัวขอเข้าพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อสะท้อนสิ่งที่ประชาชนกังวล ในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในชุมชน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน โดยเฉพาะข้อมูลที่ภาครัฐแต่ละหน่วยงานเปิดเผยไม่ตรงกัน เช่น สนข. บอกว่า จะไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน ไม่มีปิโตรเคมี แต่ขณะที่นายกฯ ให้ข่าวว่าจะมีการตั้งโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี โดยดึงลงทุนจากต่างประเทศเข้าร่วม รวมทั้งการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด