ผู้ว่าฯ ธปท. คาด อาจมีการปรับลด จีดีพีจากที่คาดการณ์ล่าสุดที่ 3.6 % จากปัจจัยเสี่ยงการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกกระทบส่งออก ย้ำ อัตราดอกเบี้ยต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% พร้อม ออกมาตรการ -เครื่องมือ ดูแลกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ “ยกระดับเศรษฐกิจภาคเหนือ คว้าโอกาสบนโลกแห่งความท้าทาย ในหัวข้อ ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 อาจจะมีการปรับลดลงจากคาดการณ์บ้าง แต่ภาพรวมจะยังเห็นการเติบโตได้ที่ระดับ 3% กลาง ๆ บวกลบ จากคาดการณ์ล่าสุดที่ 3.6% เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้บางช่วงอาจจะเห็นตัวเลขต่ำกว่าคาดการณ์บ้าง แต่ภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ได้ประเมินไว้
ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 นั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์จะประกาศในเดือน ส.ค. นี้ โดยมองว่าแนวโน้มอาจจะออกมาค่อนข้างต่ำกว่าคาดการณ์ จากการดูตัวเลขในเบื้องต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการฟื้นตัวจะไม่ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากการบริโภคและลงทุนเอกชน รวมไปถึงการท่องเที่ยว
โดยการลงทุนเอกชนปีนี้น่าจะโตเกิน 4% ขณะที่การท่องเที่ยวแม้จีนจะไม่มาเร็วอย่างที่คิด แต่ก็ยังเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 29 ล้านคน ตรงนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่การส่งออกอาจจะดูไม่ค่อยดีมาก ก็เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก และจีนที่ทำให้การส่งออกไม่ค่อยดีนัก ซึ่งส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกไม่ค่อยดีแต่ก็มองว่าน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและท้ายปี
เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าบริบทของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เปลี่ยนไปจากปี 2565 ที่ภาพเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงและเร็วมาก จนทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธปท. ต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ส่วนปีนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แม้จะฟื้นตัวช้า แต่ก็ฟื้น แม้จะไม่เร็วเท่าประเทศอื่น ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เงินเฟ้อระยะยาวมองว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% จากปัจจุบันที่ลดลงมาค่อนข้างมาก ดังนั้นโจทย์ของนโยบายการเงินจึงเปลี่ยนไป โดยตอนนี้ต้องเน้นการแลนด์ดิ้ง จากก่อนหน้าที่ที่เน้นสมูท และเทคออฟ ต้องทำให้ลงได้ดีดังนั้นสิ่งที่ต้องดูไม่ใช่แค่ปัจจัยระยะสั้นเรื่องเงินเฟ้อ แต่ต้องดูภาพเศรษฐกิจระยะยาวด้วย เพราะตอนนี้การจะลงตรงไหน จะอยู่ตรงไหน เหมือนเป็นการปักหมุดในระยะยาวว่าดอกเบี้ยที่จะอยู่ในระดับที่สร้างความสมดุลระยะปานกลางและระยะยาวที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่ จึงดูแค่ปัจจัยระยะสั้นไม่ได้แล้ว
ทั้งนี้ 3 เรื่องที่ต้องดู คือ 1. เศรษฐกิจเติบโตในระดับศักยภาพในระยะยาวหรือไม่คือระดับ 3-4% หากโตเร็วกว่านี้จะเกิดปัญหาเรื่องความร้อนแรง 2. แนวโน้มเงินเฟ้อ ควรจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งเป็นระดับที่ยั่งยืน และ 3. อัตราดอกเบี้ยต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อจีดีพีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีดอกเบี้ยที่ต่ำและนานเกินไป ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะไม่ให้หนี้เพิ่มต่อเนื่อง คือ ต้องปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสมดุลระยะยาวมากขึ้น
ธปท. เข้าใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลข้างเคียง และสร้างภาระ แต่เป็นสิ่งจำเป็นเพราะมีผลในภาพรวม ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีการออกมาตรการหรือมีเครื่องมืออื่น ๆ ออกมาดูแลกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว และมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ส่วนการส่งผ่านหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท. ไม่อยากให้กระทบคนมากเกินไป เช่น รอบล่าสุดที่ขึ้น 0.25% นั้น การส่งผ่านไปสู่อัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมครั้งหน้าในวันที่ 27 ก.ย. นี้