ชี้ ต้องพุ่งเป้าความเสี่ยงต่อการติดกับดักหนี้ของเกษตรกร แนะ เร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
วันนี้ (7 พ.ย. 2566) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุ หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
หากพิจารณาหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่าสินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนมีที่มาจากหนี้เพื่อสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงเล็กน้อย โดย NPLs มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.68% จากไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 2.71% ต่อสินเชื่อรวม
อย่างไรก็ตาม หนี้สินครัวเรือนมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือ
- ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ จากผลการศึกษาถึงผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่ผ่านมา พบว่ามาตรการฯ ไม่สามารถลดหนี้ของเกษตรกรได้มากนัก เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมักมีการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากรายได้จากการทำการเกษตรยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้น ต้องยกระดับรายได้ควบคู่กับการดำเนินมาตรการฯ
- เร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าหนี้และบัญชีที่เป็นหนี้เสีย
ขณะที่มาตรการแก้หนี้ที่รัฐบาลจะแถลงในวันที่ 28 พ.ย. 2566 ในส่วนของสภาพัฒน์ เข้าไปประชุมด้วยในกรรมการที่มีการปรับแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งต้องรอติดตามว่ามาตรการจะออกมาลักษณะใด โดยที่ผ่านมา การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็พยายามดึงลูกหนี้นอกระบบกลับมาในระบบ และจัดการหนี้นอกระบบต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าคนที่เป็นหนี้ที่หลุดออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ และยังไม่มีวินัยทางการเงิน ก็จะกลับไปเป็นหนี้นอกระบบเหมือนเดิม ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง และช่วยทำความเข้าใจให้คนกลุ่มนี้ไม่กลับไปอยู่นอกระบบอีก ส่วนกรณีช่องว่างทางการคลัง (Policy Space) ซึ่งล่าสุดนโยบายของรัฐบาลมีการเพิ่มรายจ่ายของรัฐ เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ หากพิจารณาจากช่องว่างทางการคลังที่เหลืออยู่ จะสามารถทำได้หรือไม่นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ต้องรอติดตามเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า ซึ่งย้ำว่าไม่ได้เป็นการขึ้นเงินข้าราชการทั้งระบบ โดยส่วนที่จะดำเนินการก่อน เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าระดับเงินเดือนของข้าราชการแรกเข้าบรรจุ มีอัตราต่ำเมื่อเทียบกับเอกชน
ทั้งนี้ การบริหารช่องว่างทางการคลัง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการจัดลำดับการใช้จ่าย และเป็นเรื่องการขยายฐานรายได้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ซึ่งต้องทำทั้ง 2 ส่วน เพื่อให้ช่องว่างทางการคลังขยายตัวขึ้นมาได้ ขณะเดียวกัน รายจ่าย สวัสดิการต่าง ๆ ก็มีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการที่รัฐออกมาในช่วงที่แล้ว มาตรการบางอย่างอาจต้องทำควบคู่กันไป เพื่อสร้างความสามารถในการสร้างรายได้ของบุคคล สร้างงาน เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น หลุดจากระบบเดิม ๆ ดังนั้น ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลทุกปี เช่น บัตรสวัสดิการ ที่ต้องทำทั้ง 2 ส่วนควบคู่กันไป
สถานการณ์แรงงานไตรมาสสาม ปี 66 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ 0.99% แต่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น
ขณะที่ไตรมาสสาม ปี 2566 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.3% จากการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ 2% ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1% โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวกว่า 8.3% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อน
เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างและสาขาการขนส่งและเก็บสินค้า ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ 2.9% และ 2.1% ตามลำดับ สำหรับสาขาการผลิต การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น 0.6% โดยเป็นผลจากการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม โลหะขั้นมูลฐาน แต่สาขาการผลิตเพื่อส่งออกในหลายสาขามีแนวโน้มจ้างงานลดลง ชั่วโมงการท่างานลดลงเล็กน้อย โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.4% และ 46.1% ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลง 2.0%
ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานที่เพิ่มขึ้น 24.9% อัตราการว่างงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 โดยลดลงมาอยู่ที่ 0.99% หรือ มีผู้ว่างงานจำนวน 4.01 แสนคน สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป
- การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยผลิตภาพแรงงานในภาคการเกษตรของไทยขยายตัวต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
- การหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต โดยการส่งออกที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาสสามปี 65 อาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญหลายรายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า
- ระดับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้าง ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าก่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำราคาสินค้ามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง