เปิดใจผู้ประกอบการแบรนด์ไทย “อาข่า อ่ามา” และ “ Yano” ถอดความสำเร็จการทำธุรกิจจากต้นทุนทางวัฒนธรรม ต่อยอดหลักสูตรผู้ประกอบการชาติพันธุ์ เพื่อยกระดับสินค้าชาติพันธุ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
งานเสวนา Public Forum : SandBox หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการชาติพันธุ์ ที่ จ.เชียงใหม่ จัดขึ้นโดย The Active จาก Thai PBS และเครือข่ายพันธมิตร เพื่อให้ความรู้และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ของชุมชนชาติพันธุ์จากต้นทุนทางวัฒนธรรม จนนำไปสู่การสร้างมูลค่าและรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนไทย
ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายถึงปัญหาการต่อยอดสินค้าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านคำนิยาม “เงียบ งอก งาม” โดยเป็นการถอดบทเรียนจากการทำงานร่วมกันของทีมส่งเสริมทั้ง 5 ภาคในไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่หนึ่ง ‘งาม’ คือ มีการเกิดความรู้ และเกิดรายได้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มีระบบการจัดการที่สามารพัฒนาไปต่อได้ ระดับที่สอง ‘งอก’ เห็นโอกาส มีความเป็นไปได้ และทิศทางที่ชัดเจน แต่ยังไม่มีความยั่งยืนเกิดขึ้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายร่วมกัน และระดับที่ สาม ‘เงียบ’ คือ มีการพยายามในการที่จะเรียนรู้ แต่ว่ายังไม่เกิดการงอก
โดย ผศ.สุวิชาน เชื่อว่า เมล็ดพันธุ์ที่เป็นทุนทางนิเวศปัญญาของชนชาติพันธุ์ มีศักยภาพเพียงพอที่ทำให้เกิดการงอกและงามได้ เพียงแต่สภาพแวดล้อมหรือนิเวศการเรียนรู้ต่าง ๆ ถูกกีดขวางไว้ ทำให้ไม่สามารถงอกและงามขึ้นมาได้
“เราต้องการพื้นที่ที่จะมาคุยกัน ว่าเราจะสร้างนิเวศการเรียนรู้ร่วมกันได้ยังไง ที่จะทำให้พื้นที่ที่เมล็ดพันธุ์ที่มันเงียบ มันไม่ได้เงียบเพราะเมล็ดพันธุ์ฝ่อ แต่มันเงียบเพราะว่ามันไม่มีโอกาส ตรงนี้เราจะสร้างการเรียนรู้ และก็สร้างนิเวศร่วมกันได้ยังไง ซึ่งอาศัยแต่นิเวศภายในไม่เพียงพอ เราต้องการนิเวศภายนอกที่จะมาเติมด้วย”
ความสำเร็จ “อาข่า อ่ามา” แบรนด์กาแฟชาติพันธุ์ไทย สู่เวทีโลก
อายุ จือปา หนุ่มชาวอาข่า เจ้าของแบรนด์กาแฟ “อาข่า อ่ามา” (Akha Ama) เล่าประสบการณ์ทำธุรกิจแบรนด์กาแฟที่ปลูกในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ จนสามารถสร้างชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ว่า ตนทำธุรกิจแบรนด์กาแฟ “อาข่า อ่ามา” มาเป็นเวลา 14 ปีเต็ม โดยจุดเริ่มต้นมาจากการพูดคุยกันในชุมชน ว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตเกษตรกรรมที่ทำอยู่นั้นสามารถต่อยอดไปสู่รุ่นใหม่ได้ ซึ่งผลผลิตที่ทำอยู่ในชุมชนมีทั้งผลไม้เมืองหนาว ชา กาแฟ พืชผัก ข้าว และถั่ว
แต่สาเหตุที่ได้ผลสรุปทำแบรนด์กาแฟ “อาข่า อ่ามา” นั้นได้มาจาก 3 มุมที่หารือกันในชุมชนคือ 1.ชุมชนประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ทำให้ไม่มีศักยภาพส่งบุตรหลานไปเรียนต่อเพื่อพัฒนาชุมชนได้ ดังนั้นจึงมองว่าการที่ขยับตนเองไปอยู่ในมุมที่ผู้อื่นสามารถมองเห็นได้ จะต้องไปอยู่ในการขับเคลื่อนที่เป็นแนวเดียวกัน โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเดิมของชุมชน 2.เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ชุมชนก็จะมีเวลาดูแลวัฒนธรรม ความรู้ ปรัชญาท้องถิ่น และมีภูมิต้านทานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 3.ชาวบ้านยังมีแผลในใจ เพราะเคยถูกมองว่าเป็นภัยต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจุดนี้ไม่ควรละเลย จะทำอย่างไรให้นิเวศการเกษตรของชุมชนเป็นนิเวศที่ดี
“เวลาเราถามชาวบ้านว่าอะไรละที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเขาเองและคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในชุมชน รู้สึกดีที่จะมาร่วมกันสร้างพัฒนาร่วมกัน กลายเป็นว่าทุกคนลงความเห็นว่ากาแฟ คือสิ่งที่น่าจะเชื่อมโลกจากชุมชนเล็ก ๆ สู่ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และต่างประเทศได้”
หนุ่มชาวอาข่า เล่าต่อว่า อาข่า อ่ามา ไม่ได้เริ่มจากการมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่เท่ แต่เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยเสริมวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมกาแฟ เป็นวัฒนธรรมใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ และจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นโมเดลกิจการเพื่อสังคม หรือ สตาร์ทอัพ (Start up) จนได้ทุนมาเริ่มทำแบรนด์ กาแฟนี้
ช่วงแรกผู้บริโภคแกแฟในไทย ยังไม่ให้การยอมรับ เพราะมีความเชื่อว่ากาแฟไทยยังมีคุณภาพไม่ดีเท่ากับกาแฟของต่างประเทศ จึงได้เริ่มวิเคราะห์ตั้งแต่จากในชุมชนไปจนถึงภายนอก ก็พบว่ามีเวทีกาแฟโลกที่กำลังเสาะหากาแฟที่จะนำเสนอทุกปี โดยเมื่อปี 2553 ก็มีการจัดงานกาแฟโลกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งงานดังกล่าวต้องการกาแฟที่มีความโดดเด่นใช้ในการชิมกาแฟระดับโลก ตนจึงส่งกาแฟแบรนด์ “อาข่า อ่ามา” ไปร่วมคัดเลือก ผลปรากฏว่าได้รับการคัดเลือกจากเวทีกาแฟโลก และได้ออกสื่อชื่อดังต่าง ๆ ทำให้ “อาข่า อ่ามา” เกิดกระแสการยอมรับจากชาวต่างชาติและคนไทย เมื่อสร้างภาพจำที่ดีขึ้นมาได้ ผู้บริโภคก็มีการบอกต่อ ๆ กันผ่านโลกโซเชียล
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องการจะสื่อ คือ การที่จะให้คนอื่นช่วยนำเสนอสินค้าของตนเองนั้น จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าด้วย ซึ่งตนไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ได้รับการช่วยเหลือจากพี่น้องทั้งด้านการสื่อสารและการลงมือทำ
ถอดบทเรียนธุรกิจเสื้อผ้า Yano เริ่มจากความรักต่อยอดความยั่งยืน
นครินทร์ ยาโน ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Yano (ยาโน) ถ่ายทอดเคล็ดลับการทำธุรกิจว่า ตนมาเริ่มตั้งต้นทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่โดยพยายามมองหาจากสิ่งที่ดีในตัวเองก่อน และตั้งเป้าหมายชีวิต ถ้าสามารถให้คำตอบตนเองได้ ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนในการทำธุรกิจ
“ถ้าทุกท่าน ณ ตอนนี้ที่ทำอยู่แต่ละหมู่บ้าน เราสามารถพูดคุยกันแล้ว แล้วเราสามารถบอกได้เลยว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เราทำผลิตภัณฑ์ เราทำสินค้าชุมชน เรามีเป้าหมายเพื่อะไร ถ้าเราให้คำตอบตรงนี้ได้อย่างชัดเจน ตัวนี้แหละจะเป็นตัวขับเคลื่อน”
ตนจบการศึกษาด้านออกแบบมา และชื่นชอบในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งทอ จึงทำสิ่งทอมาตั้งแต่ตอนนั้น โดยเริ่มจากวิสาหกิจชุมชน จากนั้นตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า “อะไรคือความสุขที่ยาวนาน” และหาคำตอบจากการทำสิ่งนั้น ถัดมาต้องวางแผนธุรกิจ วางแผนกลยุทธ์การตลาด และการสร้างแบรนด์สินค้า
เมื่อเริ่มทำธุรกิจได้ ก็จะเรียนรู้ได้เองจากประสบการณ์ว่าจะพบเจออุปสรรคอะไรบ้าง ซึ่งอุปสรรคนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และสามารถบอกได้ว่าเราจะบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกิจของตนเองได้อย่างไร
นครินทร์ เล่าต่อว่า ธุรกิจตนดำเนินมานาน 20 ปี จากวิสาหกิจชุมชนที่มีชาวบ้านเพียง 10 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ แม่บ้าน และกลุ่มเปราะบาง โดยให้ทุกคนทำตามความถนัดของตนเอง และให้ความเป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งทำให้พวกเขามีความสุขจากภายใน หลังจากนั้นก็เกิดการบอกต่อไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ทำให้ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีคนร่วมทำงานราว 400 คน ดังนั้นความยั่งยืนไม่ได้อยู่ที่ขายสินค้าอะไร แต่สิ่งที่ทำต้องมาจากความสุขจริง ๆ และความรู้ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ต้องรู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นหลังได้
กางหลักสูตรผู้ประกอบการชาติพันธุ์ หนทางยกระดับสินค้าชาติพันธุ์
อภินันท์ ธรรมเสนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มองว่า การที่จะทำให้หลักสูตรผู้ประกอบการชาติพันธุ์มีการเติบโตได้ คือ 1.การบริหารจัดการด้านความรู้ชาติพันธุ์ ต้องรู้จักรักษาความรู้ชาติพันธุ์ของตนเอง และหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม 2.สร้างการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งมีความสำคัญ เช่น จะหาวัตถุดิบจากแหล่งไหน ผลิตสินค้าอย่างไร และ รักษาต้นทุนอย่างไร 3.การบริหารจัดการเรื่องคน ไม่จำเป็นต้องใช้คนในชุมชน แต่สร้างเครือข่ายจากคนที่เชี่ยวชาญให้เข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งเป็นการสร้างอำนาจต่อรองได้ด้วย 4.ผลิตภัณฑ์ต้องสร้างการสื่อสารทางการตลาด จะทำอย่างไรให้เรื่องเล่าของชาติพันธุ์มีคุณค่าพอที่จะดึงดูดคนให้เข้ามาสนใจมากขึ้น
“หัวใจสำคัญที่สุดก็คือว่า เราต้องเริ่มต้นจากความชอบก่อน คือถ้าเราเริ่มต้นจากความอยาก อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ แต่เรายังไม่ได้รู้สึกชอบเลยเนี่ยอันนี้มันจะพัง เพราะทำไปสักระยะหนึ่งของแบบนี้มันเป็นของที่ต้องทำนาน คือถ้าเราไม่รักมันเนี่ย มันจะรู้สึกเบื่อระหว่างทาง และก็จะพลาดได้”
ด้านพิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย แนะองค์ประกอบที่ควรจำเป็นต้องมีในหลักสูตรผู้ประกอบการชาติพันธุ์ ได้แก่
1.การถอดบทเรียนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้น ถือเป็นองค์ประกอบในการหาจุดแรกที่เริ่มต้น ว่าจะต้องเริ่มจากอะไร 2.หาตัวตนและอัตลักษณ์ให้เจอ ว่าตนเองมีจุดเด่นอะไร จะทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ด้วย 3.หาแนวทางในการพัฒนาตนเอง ไม่มีอะไรที่สิ้นสุด หรือเก่งที่สุดแล้ว โดยเฉพาะการส่งต่อศักยภาพไปยังคนรุ่นหลัง อาจะต้องดูว่าศักยภาพแบบไหนที่จะต้องเพิ่มพูนทักษะอื่นได้อีกบ้าง 4.ช่องทางจำหน่าย จะหาช่องทางให้คนเข้าซื้อสินค้าของเราได้อย่างไร ปัจจุบันสามารถใช้เทคโลยีช่วยในการเข้าถึงลูกค้าได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะอยู่ในหลักสูตร เพื่อเรียนรู้การทำการตลาดในยุคดิจิทัล ว่าจะต้องทำแบบไหน และทำอย่างไรให้คนอื่นเห็นสินค้า
“ทำยังไงจะให้คนเห็นเรา เราไม่ต้องรอ คือในยุคนี้ไม่มีการที่เราจะต้องรอแล้ว แต่ว่าเราก็คงจะต้องเรียนรู้ว่ามันจะมีวิธีการแบบไหนบ้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้วิธีการมันรวดเร็วมากเลย มาร์เก็ตติ้งมันไม่เหมือนเดิม และเปลี่ยนแปลงแบบทุกปี แต่ก่อนนี้เราสามารถที่จะพยากรณ์ได้ว่าการตลาดอีก 3 ปี ข้างหน้า 5 ปีข้างหน้าเป็นยังไง เดี๋ยวนี้เราพูดกันหลัก 6 เดือน 1 ปี แทนที่จะเป็น 3 ปี 5 ปี มันไม่มีคนพูดเรื่องของการกำหนดเทรนด์ในการตลาดแบบนี้แล้ว”
ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชฯ ระบุอีกว่า ข้อสุดท้าย 5.เรื่องการจัดการองค์ความรู้ สุดท้ายจะนำไปสู่การถอดบทเรียน ไม่ว่าจะทำอะไรที่ประสบความสำเร็จแล้ว จำเป็นจะต้องเก็บองค์ความรู้ไว้ เพื่อส่งต่อและพัฒนาต่อยอดไป
ขณะที่ฐายิกา จันทร์เทพ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงแนวทางขั้นต่อไปของหลักสูตรผู้ประกอบการชาติพันธุ์ แบ่งเป็น 3 สร้าง คือ 1.สร้างคนให้เป็นนวัตกร กลับมาสร้างบ้านเกิด ยกระดับคุณภาพต้นทุนที่มีจำนวนมาก ทั้งด้านวัฒธรรม และทรัพยากร 2.สร้างมูลค่า ยกระดับมูลค่าจากต้นทุนที่มี ทั้งการขาย การสร้างแบรนด์ และนำนวัตกรรมไปใส่ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว 3.สร้างเครือข่ายไปด้วยกัน ชาติพันธุ์ องกรค์ภาครัฐ สังคม สื่อมวลชน ซึ่งขาดเพียงแค่ว่าจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ และเริ่มอย่างไร
“เรามีสร้างคน สร้างมูลค่า สร้างเครือข่าย ถ้าเรามี 3 สร้างนี้ได้ ให้มันเติบโตไปพร้อม ๆ กัน เราจะเห็นโอกาสที่งดงาม”
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรผู้ประกอบการชาติพันธุ์เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการจะสร้างผู้ประกอบการกลุ่มชาติพันธุ์ และสร้างโอกาสที่จะเดินต่อไปด้วยกัน แต่จะต้องมีขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ด้วย