ภูมินิเวศ เขา ป่า นา เล ตอกย้ำถึงความหลากหลายของภาคใต้ได้เป็นอย่างดี และไม่ใช่แค่เรื่องทรัพยากร ธรรมชาติ แต่ยังรวมถึง ความหลากหลายของผู้คน เชื้อชาติ และ ชาติพันธุ์ เมื่อดินแดนด้ามขวานแห่งนี้มีชาติพันธุ์อยู่ถึง 6 กลุ่ม อย่าง กลุ่มมันนิ, ชาวเลมอแกน, มอแกลน, อูรักลาโว้ย, ไทดำ, โอรังอัสลี
แล้วพวกเขาเหล่านี้อยู่ในการรับรู้ของผู้คนในสังคมมากแค่ไหน ?… รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ยอมรับว่า อาจเป็นเพราะมายาคติ และความพยายามที่จะกลืนกลายทางวัฒนธรรม และทำให้สังคมไทย หรือสังคมภาคใต้เป็นแบบเดียว จึงทำให้ค่อย ๆ กลืนกลายและหายไป
จนกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ หรือ กลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย ที่กระจัดกระจายอยู่ในระบบนิเวศแบบ เขา ป่า นา เล ค่อย ๆ ถูกทำให้หายไป หรือเลือนหายไปในการรับรู้ของผู้คน มายาคติเรื่องความมั่นคง เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ค่อย ๆ ผลักทำให้สิ่งเหล่านี้หายไปจากสังคมภาคใต้ ไม่อยู่ในกระบวนการ หรือถูกนับเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนามาโดยตลอด

ที่วัดดอนมะลิ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี (ภาพ : พวงเพ็ญ จิ๋ววิเศษณา)
เนื่องในโอกาสนับถอยหลังถึงวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จึงเริ่มกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ และยืนยันตัวตน อัตลักษณ์ ศักยภาพ บนวิถีวัฒนธรรม ในหลายภูมิภาค ล่าสุดวันนี้ (22 ก.ค. 68) ได้จัดกิจกรรมขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ กับงานชาติพันธุ์ภาคใต้ ภายใต้แนวคิด “สายน้ำ ทะเล ผืนป่า กับคุณค่าพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้” ที่วัดดอนมะลิ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
The Active ชวนรู้จัก 6 ชาติพันธุ์ ดินแดนด้ามขวาน ที่ยังคงสืบทอด รักษา คงอัตลักษณ์ วิถีชีวิตวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน
โอรังอัสลี
มาพร้อมกับ บอเลา สำหรับล่าสัตว์ ชนพื้นเมืองกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์วิถีชีวิตดั้งเดิมมาถึงทุกวันนี้
โอรังอัสรี ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น ซาไก, เซม้ง, เงาะป่า, โอรังอัสลี, นิกริโต, ชอง, มอส, ตอนกา ในกลุ่มภาษาจาไฮมักเรียกตัวเองว่า “มึงฆระ” ที่แปลว่า มนุษย์ ในภาษามลายู แปลว่า คนพื้นเมืองดั้งเดิม สันนิษฐานว่า เป็นมนุษย์โฮโมเซเปียน ที่ปรากฎตัวในทวีปแอฟริกา เมื่อ 300,000 ปีก่อน


อพยพออกจากทวีปแอฟริกา ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุคซุนดาแลนด์ (Sundaland) รวมทั้งภาคใต้ของไทย
การตั้งถิ่นฐาน : แถบจังหวัดยะลา และ นราธิวาส
อัตลักษณ์ : เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์มาถึงทุกวันนี้ ในอดีตจะมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร และจะกลับมาตรงจุดเดิมในฤดูกาลใหม่ โดยสร้างแหล่งอาหารในธรรมชาติแบบไม่ทำลาย
ศักยภาพ : พวกเขามีภูมิปัญญาสำคัญ เช่น การสร้างเครื่องมือ “จ๋อง” ทำจากใบเตยป่าไว้ใส่ของ และหัวมัน การใช้ “ไม้อะนึง” สำหรับล่าสัตว์ ที่เรียกว่า บอเลา หรือ ไม้ซาง ที่ทำจากไม้ไผ่หลอด รวมถึงองค์ความรู้ด้านสมุนไพร
ข้อจำกัด/ภัยคุกคาม : ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกรุกราน พบปัญหาด้านไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ถูกโกงค่าแรงสินค้า ถูกหลอกใช้แรงงาน ถูกด้อยค่าลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ขาดโอกาสการศึกษา เผชิญปัญหาทับซ้อนจากการเกิดปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้
มันนิ
มันนิ แปลว่า มนุษย์ อาศัยในป่า โดนการตั้ง “ทับ” หรือ กระท่อม
พวกเขามีชื่อเรียกอื่น เช่น ซาได, เซมัง, เงาะป่า, โอรังอัสลี, นิกริโต, ชอง, มอส, ตอนกา, ออสโตรเอเชียติก เป็นคนดั้งเดิมในแหลมมาไร อยู่เป็นกลุ่ม นิกริโต (The Negritos) ซึ่งถูกจำแนกทางชาติพันธุ์ว่าเป็นกลุ่มย่อยของนิกรอยด์ (Negroid)


มีข้อสันนิษฐานว่า พวกเขาอยู่ในแถบนี้ 12,000 ปี ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์จะแยกพื้นที่ออกจากกันทำให้กลุ่มนี้กระจายออกไป
การตั้งถิ่นฐาน : บริเวณเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา สตูล การอาศัยอยู่ในป่าลึก ตั้งถิ่นฐานเก่งถาวรและกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร
อัตลักษณ์ : แต่เดิมเป็นคนที่มีวิถีชีวิตแบบเคลื่อนย้าย การหาของป่าล่าสัตว์โดยใช้ “บอเลา” หรือ ลูกดอกอาบยาพิษเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร ผสมผสานกับการตั้งถิ่นฐานถาวร กลุ่มของพวกเขาสำคัญกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
ศักยภาพ : ดำรงชีพแบบสังคมหาของป่าล่าสัตว์ (Hunting and gathering society) กลุ่มสุดท้ายของไทย เป็นที่รู้จักและมีภูมิปัญญาด้านยาสมุนไพรและอาหารในธรรมชาติตามฤดูกาล
ข้อจำกัด/ภัยคุกคาม : ชาวมานิ ยังไม่ได้รับการคุ้มครองด้านพื้นที่ ที่ใช้ดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิม ยังห่างไกลกับระบบการศึกษาพยาบาล และสวัสดิการแห่งรัฐ ด้านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคง
ไทดำ
ชื่ออื่น ลาวโซ่ง, ไทยโซ่ง, ไทยทรงดำ, ไตดำ, โซ่ง ภาษาพูด คือ ไต มีภาษาเขียน คือ โตสือไดำ พวกเขามีถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม เข้ามาประเทศไทยสมัยกรุงธนบุรี จนถึง รัชกาลที่ 5


ในระยะแรกมีการตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี จนถึงช่วงรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มกระจายตัวไปตามจังหวัดต่าง ๆ โดยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2440 เริ่มตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดชุมพร ปี 2490 ขยายมาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อัตลักษณ์ : เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากความผูกพันในระบบสายตระกูล และเครือญาตและระบบผีบรรพบุรุษที่มีอยู่อย่างเข้มข้น
ศักยภาพ : ชาวไทดำ อนุรักษ์ฟื้นฟูและธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางด้านภาษาประเพณีและวัฒนธรรมไว้อย่างเข้มแข็ง มีการเพราะปลูกที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่อยู่บนแนวทางเกษตรเพื่อการอนุรักษ์และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นการแปรรูปอาหารการถนอมอาหาร
ข้อจำกัด/ภัยคุกคาม : ชาวไทดำในพื้นที่ อ.บ้านนาเดิม ยังมีข้อจำกัดในสิทธิด้านที่ดิน และการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน
ชาวเลมอแกลน
ชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลน มีชื่ออื่น เช่น ไทยใหม่, มอแกน, ตามับ, ออลังตามับ, สิงบก, มอแกนบก ใช้ภาษามอแกน / มอแกลน พวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน มีตำนานเรื่องวีรบุรุษที่เป็นต้นกำเนิดชื่อว่า “พ่อตาสามพัน” ซึ่งตามเรื่องเล่า ความเชื่อมพบว่า พ่อตาสามพัน เป็นเจ้าเมืองของชาวมอแกลน มีอาณาจักรบริเวณที่เป็นนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน


โดยชาวมอแกลนในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเลในจังหวัดพังงา และภูเก็ต
อัตลักษณ์ : ชาวมอแกลน หรือที่มีสำเนียงเรียกตนเองว่า “หม่อแกลน” ไม่ได้เดินทางออกทะเลไกล มีพิธีกรรมสำคัญของชาวมอแกลน คือ การไหว้ศาลพ่อตาสามพัน จัดขึ้นในช่วงเดือนสี่ตามปฏิทินจันทรคติ มีความเชื่อเรื่อง “แอนองโส” หรือ “แอนอง โพชอบ” เป็นชื่อที่ชาวมอแกลนบนฝั่งเรียกแม่โพสพ
ศักยภาพ : ชาวมอแกลน มีวิถีเกษตรกรรม ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล ส่งผลให้วิถีชีวิตปรับตัวคล้ายคลึงกับท้องถิ่นภาคใต้ มีภาษาของตนและเป็นภาษาที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญหาย
ข้อจำกัด/ภัยคุกคาม : ชาวมอแกลนเผชิญกับข้อจำกัดด้านการกำหนดให้ทะเลเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้ชาวมอแกลนถูกจำกัดพื้นที่ทำกิน การบุกยึดพื้นที่สุสาน การขยายตัวของการท่องเที่ยว เกิดการรุกรานยึดที่ดิน ที่อยู่อาศัย
ชาวเลมอแกน
พวกเขามีชื่ออื่นที่ใช้เรียก คือ ชาวน้ำ, ชาวเล, ไทยใหม่, ซลัง, เซลัง, มอแกนปูเลา, มอแกนเกาะ, สิง ตระกูลภาษา คือ ออสโตรเนเชียน ชาวเลมอแกน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีชีวิตที่สัมพันธ์กับท้องทะเลอันดามันมายาวนาน ชาวมอแกน มีเรือ “ก่าบาง” ที่เปรียบเสมือนบ้าน
แต่เดิมชาวมอแกน มีวิถีชีวิตเร่ร่อน ทำมาหากินเกี่ยวกับทะเล อยู่อาศัยในเรือในช่วงฤดูแล้งและอยู่บนฝั่งในฤดูฝน ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา และเกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม เกาะสินไหง จ.ระนอง


อัตลักษณ์ : ชาวมอแกนนับถือวิญญาณและบรรพบุรุษ “แอบูมแอบ๊าบ” เป็นที่พึ่งทางใจ วิญญาณบรรพบุรุษจึงเป็นสิ่งเดียว ที่ช่วยทำให้คลายความกังวลและยึดโยงชาวมอแกนไว้ด้วยกัน มีการฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ หรือ “หน่อเอนหล่อโบง” ที่จัดขึ้นในเดือนห้าทางจันทรคติ
ศักยภาพ : ชาวมอแกนเป็นกลุ่มที่มีภูมิปัญญาและองค์ความรู้ด้านการประมงที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และเน้นการทำประมงแบบยั่งยืน ใช้เครื่องมือประมงแบบไม่ทำลายล้าง มีความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับการสร้างเรือ
ข้อจำกัด/ภัยคุกคาม : พื้นที่ทำกินทางทะเลลดลงเนื่องจากการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม และไม่มีสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนยังไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ เข้าไม่ถึงสวัสดิการและบริการสาธารณะ
ชาวเลอูรักลาโว้ย
อูรักลาโว้ย มีชื่อเรียกอื่น เช่น ชาวเล, ชาวน้ำ, ชาวไทยใหม่, ยิปซีทะเล, นอแมด มีตระกูลภาษา คือ ออสโตรเนเชียน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมมลายู มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มีวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบเคลื่อนย้ายในท้องทะเลโดยมีเรือที่เปรียบเสมือนบ้าน ยุคโบราณมีร่องรอยคนพื้นเมือง “ชาวโอรังลอนตา” เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาพักพิงในหมู่เกาะลันตา และ เกาะจำ มานานกว่า 500-600 ปีมาแล้ว โดยพวกเขาตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งในพื้นที่จังหวัดสตูลกระบี่และภูเก็ต


อัตลักษณ์ : มีวิถีชีวิตผูกพันกับท้องทะเล โดยการใช้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมในการใช้ประโยชน์และรักษาธรรมทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และยังมีพิธีกรรมสำคัญคือพิธีลอยเรือประจั๊ก เพื่อสะเดาะเคราะห์ และส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไปยัง “ฆูนุงฌิรัย” ซึ่งเชื่อว่า เป็นดินแดนบ้านเกิด
ศักยภาพ : มีการเรียนรู้และพัฒนาในการทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ ทำสวนยางพารา ฯลฯ มีภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา ทั้งด้านการอ่านน้ำจำลม อ่านฟ้าจำดาว รวมทั้งการทำอาหารที่ทำจากวัตถุดิบในพื้นถิ่นนั้น ๆ
ข้อจำกัด/ภัยคุกคาม : อูรักลาโว้ย ยังอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่สุสานและพื้นที่สาธารณะ อันเนื่องจากลงทุนท่องเที่ยว มีความพยายามจะยึดครองที่ดินเพื่อทำธุรกิจ ด้านพื้นที่ทำการประมงก็ลดลงอันเนื่องจากกฎหมายต่าง ๆ

ในช่วงหนึ่งของปาฐกถาพิเศษ “ชาติพันธุ์จะมั่นยืนได้อย่างไร ในสังคมที่ซับซ้อน” รศ.ณฐพงศ์ ย้ำว่า หากสามารถที่จะทลายกรงขัง หรือกรอบคิดมายาคติ เรื่องของความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นแบบเดียวที่ตายตัว จะเห็นความหลากหลายของผู้คน ความหลากหลายเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา ภาษา หรือวัฒนธรรม ความหลากหลายนี้เป็นหลักประกันที่สำคัญ ในการสร้างความมั่นคง สร้างความเข้มแข็ง สร้างเสน่ห์ หรือทำให้เกิดคุณค่าประสบการณ์ใหม่ใหม่ในการรับรู้ของผู้คนในสังคมภาคใต้
“ถ้าเราสามารถทำให้แต่ละกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมสามารถที่จะลุกขึ้นมารักษาตัวตน รักษาอัตลักษณ์ สามารถรักษาวิถีและวัฒนธรรมของเราไว้ได้ มันก็เหมือนเป็นดอกไม้ในสวนสวย ที่ประกอบสร้างขึ้นกับดอกไม้หลากสี และนานาพรรณ เราคงไม่ปรารถนาที่จะเห็นสวนดอกไม้ที่มีดอกไม้ชนิดเดียว อยู่ในสวนแน่นอน เมื่อเป็นดอกไม้แค่ส่วนเดียว ความหลากหลายก็ไม่เกิดภูมินิเวศของการอยู่ร่วมกัน”
รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
รศ.ณฐพงศ์ ทิ้งท้ายว่า การทำให้เกิดภูมินิเวศที่หลากหลาย ผ่านการหลอมรวม หรือการประกอบสร้างของผู้คนต่าง ๆ ที่สามารถรักษาตัวตนและอัตลักษณ์ไว้ได้ คิดว่าคือระบบนิเวศที่เข้มแข็งและยั่งยืนในแง่ของความเป็นมนุษย์ และในแง่ของการสร้างสังคมที่เข้มแข็งในระยะยาว รวมถึงการเป็นสังคมที่มีความยั่งยืนที่ให้คุณค่ากับผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมด้วย