ครม. เคาะตรึงราคา ดีเซล-LPG-ลดค่าไฟฟ้า

คาดใช้งบฯ 8.3 พันล้านบาท ขณะที่ล่าสุด กองทุนน้ำมันฯ ติดลบกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว

วันนี้ (7 พ.ค. 67) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดย ครม.มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พ.ค. 2567 (ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล)

ทั้งนี้ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ให้แก่ประชาชน เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

  1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 20 เม.ย. – 31 ก.ค. 2567

  2. ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567

  3. ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 รวมนาน 4 เดือน

กระทรวงพลังงาน คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับการดำเนินทั้ง 3 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 6,500 ล้านบาท ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 6,000 ล้านบาท ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG จำนวน 500 ล้านบาท และมาตรการด้านไฟฟ้า จำนวน 1,800 ล้านบาท

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุม ครม. ว่า ให้การดำเนินการของมาตรการดังกล่าวพิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยขอรับจัดสรรจากงบฯ ปี 2567 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ขณะที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 28 เม.ย. 2567 มีฐานะทางการเงินติดลบสุทธิ 107,600 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 7,779 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของน้ำมันจำนวน 60,145 ล้านบาท และ ก๊าซ LPG จำนวน 47,455 ล้านบาท

ที่มา : สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดมีความผันผวนในระดับสูง เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของผมได้พยายามที่จะช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของน้ำมัน รัฐบาลได้กำหนดเพดานไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34 – 35 บาทต่อลิตร และอาจจะมีการปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยก็จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

“ทั้ง 3 มาตรการที่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและได้รับการเห็นชอบในวันนี้ ถือว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น ตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมได้เตรียมรื้อระบบราคาพลังงานใหม่ ซึ่งผมกำลังเร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าจะยกร่างกฎหมายใหม่ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่มีความยุติธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และจะเป็นการปรับรูปแบบพลังงานของประเทศที่จะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย” พีระพันธุ์ กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active