ยันใช้สูตรคำนวณใหม่ ให้ความอิสระอนุกรรมการจังหวัดพิจารณา ขณะที่ ‘สภาองค์การนายจ้าง’ ออกโรงค้าน อ้างปรับค่าจ้างสูงเกินจริง หวั่นผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
วันนี้ (14 พ.ค. 67) ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างวันนี้ มีมติให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ก่อน เพื่อพิจารณาว่าในแต่ละจังหวัดควรจะปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาทหรือไม่ และกิจการไหนบ้างที่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้าง และสำรวจความเห็นด้วยว่าควรปรับขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หรือไม่
เนื่องจากในบางกิจการที่มีกำลังน้อย เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) ค้าปลีกค้าส่ง และในภาคเกษตร จึงอยากให้ดูในรายละเอียดถึงความต้องการ และความจำเป็นของการจ้างงานในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อเสนอให้อนุกรรมการกลั่นกรองก่อน หลังจากนั้นนำเสนอกับคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาเป็นในขั้นตอนสุดท้าย โดยกำหนดให้ต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อให้การดำเนินการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้
เมื่อถามว่าจะปรับขึ้นวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หรือไม่ ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า จะไม่พูดว่า 1 ตุลาคม เพราะว่าพยายามทำให้มีความเหมาะสมครบถ้วน ตรงกับความต้องการกับทั้งฝั่งลูกจ้างและนายจ้าง
สำหรับสูตรที่ใช้คำนวณปรับขึ้นค่าแรงนั้นจะไม่ใช้สูตรเดิม โดยจะให้ความเป็นอิสระอนุกรรมการแต่ละจังหวัดไปพิจารณากันเองว่าควรจะปรับขึ้นค่าแรงเท่าไร หากใช้สูตรคำนวณเดิมอาจจะเป็นการสร้างกรอบจำกัด บางจังหวัดอาจมีความต้องการขึ้นค่าแรงเกิน 400 บาทก็ได้
ขณะที่ อรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง บอกว่า บรรยากาศการประชุมวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี ส่วนประเด็นที่พูดคุยกันนั้น ก็มีการพิจารณาค่าจ้างรายอุตสาหกรรม ซึ่งทางฝ่ายเลขานุการได้เลือกว่าจะทำวิจัยค่าจ้างในเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรกรรม ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ จึงจะมีการเสนอใหม่ในการประชุมครั้งหน้า ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 โดยย้ำว่า จะต้องมีการทำวิจัยก่อน ถึงจะมีการปรับอัตราค่าจ้างได้ อย่างเช่นที่ตนเคยเสนอเรื่องค่าจ้างลอยตัว เมื่อ 10 ปีก่อน พอทำวิจัยออกมาก็พบว่าเรายังไม่พร้อมที่จะทำค่าจ้างลอยตัว
“แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามติในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดูค่อนข้างเร่งรีบที่จะให้ อนุกรรมการจังหวัดฯ พิจารณาค่าจ้างกลับมาโดยเร็ว พยายามให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ มีข้อสังเกตว่าเร่งรีบมาก ซึ่งโดยปกติแล้วตาราง การปฎิบัติหน้าที่ของเรา โดยปกติวันนี้จะมีมติให้อนุกรรมการจังหวัดฯ พิจารณา ให้แล้วเสร็จภายในสิงหาคม ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปลายปีก่อน เพื่อพิจารณาปรับอัตราในเดือนตุลาคม และประกาศใช้เดือนมกราคมปีถัดไป”
อรรถยุทธ ลียะวณิช
อรรถยุทธ บอกด้วยว่า ที่ประชุมวันนี้ไม่ได้พูดว่าจะขึ้น 400 บาทหรือไม่ แต่ให้เป็นการพิจารณาไปตามกระบวนการ โดยให้คำนึงถึงพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 87 ว่า ควรจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งเป็นสูตรการคำนวณที่มีมติร่วมกันตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ามีผู้เสนอให้ยกเลิกสูตรนั้น แต่ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ซึ่งเห็นว่าเมื่อมีมติร่วมกันแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ควรจะใช้สูตรเดิม
‘สภาองค์การนายจ้างฯ’ ค้านขึ้นค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน ก่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ได้มีตัวแทนจาก สภาองค์การนายจ้าง 16 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงแรงงาน คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยมองว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม
เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเกินปีละ 1 ครั้ง อาจจะผิด มาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ระบุว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขึ้นได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น และต้องมีการส่งความเห็นจากอนุกรรมการรายจังหวัด