ราคาทองคำโลกปิดร่วงต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ตลาดผิดหวังเฟดสหรัฐฯ จ่อตรึงดอกเบี้ยสูงนานขึ้น ขณะที่ทองคำแท่งในไทยตลอดทั้งสัปดาห์ปรับลงราว 1,000 บาท ด้านนักวิเคราะห์เตือนอย่าเพิ่งรีบร้อน
วันนี้ (25 พ.ค. 67) ทองคำต่างประเทศ ราคาร่วงแรง 3 วันติดต่อกัน รวมลดลง 5% จากจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนมาปิดที่ระดับ 2,334.11 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ขณะที่ในประเทศ ราคาทองวันนี้ ล่าสุดลดลง 100 บาท รวมทั้งสัปดาห์ร่วง 1,100 บาท ส่งผลให้ทองคำแท่ง ปิดอยู่ที่บาทละ 40,550 บาท และทองรูปพรรณปิดอยู่ที่บาทละ 41,050 บาท อิงเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้น 36.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด (Fed) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายนานมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับตลาดที่มองว่าจะลดดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ โดยรายงานการประชุมที่เปิดเผยออกมาล่าสุด คณะกรรมการเฟด ยังคงหวังให้อัตราเงินเฟ้อลดเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% ต่อไป และประเมินว่าในระยะปานกลาง การลดลงของเงินเฟ้ออาจใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้
รวมถึงมองว่าอัตราดอกเบี้ยระดับสูงในปัจจุบันยังไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจรุนแรง แต่ก็ยังไม่ปิดโอกาศที่จะผ่อนคลายความเข้มงวดของนโยบายลงในปีนี้
สำหรับเครื่องมือคาดการณ์ FedWatch Tool ล่าสุดวันนี้ เผยข้อมูลตลาดคาดการณ์ เฟด จะคงดอกเบี้ยระดับสูง 5.25-5.50% ต่อไปจนถึงเดือน ก.ย. 67 และประเมินว่ามีโอกาส 46.2% จะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในเดือน พ.ย. 67
ทองคำยังถูกกดดันจากสินทรัพย์อื่น คือ เงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลทำให้ทองคำมีความน่าสนใจลดลงสำหรับนักลงทุน
จากบทวิเคราะห์ ฮั่วเซ่งเฮง ชี้ว่าทองคำยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องติดตามนอกจากดอกเบี้ยเฟด ตั้งแต่เรื่องความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาตร์โลกที่อาจกลับมา หลังกองทัพจีนเปิดฉากซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถทางทหารในการยึดอำนาจเหนือเกาะไต้หวัน จึงอาจส่งผลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน
อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์ในทางเทคนิคมีสัญญาณบ่งชิ้ทิศทางทองคำยังมีแนวโน้มปรับตัวลงต่อได้อีก โดยมีแนวรับ 2,310 ดอลลาร์ และแนวต้าน 2,347 ดอลลาร์
สำหรับทองคำนั้น ถือเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความนิยมมากสุด และยังเป็นสินทรัพย์บริหารความเสี่ยงได้ยามเกิดวิกฤตต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งราคาทองคำที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้นมาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบ โดนปัจจัยที่นักลงทุนคาดการณ์ราคาทองคำ คือ
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทองคำมีความสัมพันธ์กับสกุลเงินดอลลาร์ฯ มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการซื้อขายทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) จะใช้ดอลลาร์ฯ ในการอ้างอิงราคาทองคำ
- อัตราเงินเฟ้อที่สูง มักส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง ดังนั้นเงินทุนจึงมักไหลเข้าทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง
- นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย เป็นสิ่งที่นักลงทุนติดตามและให้ความสำคัญมากอย่างหนึ่ง หากนโยบายการเงินส่งผลดีกับเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยสูงพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อได้ ก็จะกดราคาทองคำให้ลดลง แต่หากนโยบายไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจจะหนุนให้ทองคำไปต่อ
- ระดับราคาน้ำมัน หากปรับสูงขึ้น จะหนุนให้เกิดอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งส่งผลดีต่อ
- วิกฤตการณ์โลก หากมีวิกฤตการณ์เกิดขึ้น เช่น วิกฤตซับไพร์ม วิกฤตโรคระบาด ความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลก หรือสงคราม ราคาทองคำจะปรับสูงขึ้น เพราะนักลงทุนมองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่สร้างความมั่นใจแก่ผู้ถือครองมากกว่าการถือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือเงินสกุลที่กำลังมีปัญหาในขณะนั้น
ที่มา : Reuters, SCB, CME Group