THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 เปิดพื้นที่ชุมชน นัดพบตัวแทน 11 อุตสาหกรรม วางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ ‘หมอเลี้ยบ’ เปรียบแบรนด์ชุมชน เสมือนเพชรเม็ดงาม รอการเจียระไน ย้ำ รัฐบาลพร้อมหนุน ติดตลาดสากล
หนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายในงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 งานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมระดับนานาชาติครั้งแรกของไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 มิ.ย. 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คือ เวที “Connecting soft power resource Forum” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29-30 มิ.ย.นี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนต่าง ๆ ในฐานะเจ้าของทุนวัฒนธรรมดั้งเดิม จากขุนเขา ถึง ท้องทะเล มาบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิต วัฒนธรรม ไปจนถึงระบบนิเวศน์ รวมทั้งฐานทรัพยากร ที่มีพลังและความหมาย เรียกว่าเป็นการโชว์ของดีในชุมชน เพื่อต่อยอดพัฒนาทุนด้านต่าง ๆ ที่พวกเขามี ยกระดับสู่ Soft power ของประเทศ พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้กับชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วม และเข้าถึงนโยบายนี้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับชุมชนที่จะมานำเสนอของดีในเวทีนี้มีทั้ง ชุมชนชาติพันธุ์, ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว ตามหมู่เกาะทางทะเลต่าง ๆ ซึ่งมีของดีจากทุนวัฒนธรรม และฐานทรัพยากรหลายด้าน ทั้งความมั่นคงทางอาหาร, ผลิตภัณฑ์ ข้าวของเครื่องใช้จากภูมิปัญญา, ดนตรี, ศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น ที่ต่อยอดมาจากงาน Open Market & Public Forum ซึ่ง ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และภาคีเครือข่าย มองหาโอกาสของการนำผลิตภัณฑ์แบรนด์ชุมชนชาติพันธุ์สู่การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ของดีจากชุมชนต่าง ๆ จะได้นำเสนอต่ออนุกรรมการฯ หรือตัวแทนจาก 11 อุตสาหกรรม เพื่อแลกเปลี่ยน รวมถึงวางแนวทางจัดทำแผนพัฒนาต่อยอด ยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ของดีในชุมชน ผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่สากล โดยในวันที่ 30 มิ.ย. จะมีช่วง Lunch & Talk เสิร์ฟอาหารเมนูพิเศษ จากขุนเขา ถึงทะเล ให้ผู้เข้าร่วมได้ล้อมวงกินข้าวจากวัตถุดิบในชุมชน ที่มาพร้อมกับเรื่องเล่าในวิถีชุมชนต่าง ๆ
ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มองว่า ประเทศไทยอุดมไปด้วยวัฒนธรรม หลายส่วน หลายเรื่องราว ที่อาจไม่เคยสัมผัส หรือรับรู้มาก่อน
“ผมว่าเวทีนี้ จะทำให้ทางกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดี ชาวบ้านชุมชนทั่วไปก็ดี ได้มีโอกาสโชว์ว่า นี่คือมรดกทางวัฒนธรรมที่เขามีอยู่ และอยากส่งเสริม ให้มีการสืบสาน ต่อยอด ทำให้เป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้ ถ้าหากได้มีโอกาสมาพบกันของทางชาวบ้าน ชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม จะเป็นโอกาสต่อยอดไปในระดับโลกได้”
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
รอง ปธ.กรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ฯ ยืนยันว่า รัฐบาลเชื่อมั่น และมีหน้าที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวก ถ้าหากเอกชน ชาวบ้าน ประชาชน มีความต้องการ มีโอกาสที่จะได้แสดงศักยภาพ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเสมออย่างเต็มที่ จึงอยากจะให้ประชาชน ชาวบ้าน หากมีอะไรที่คิดว่าเป็นของดี เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมานาน ก็น่าจะเป็นโอกาสสำคัญทำให้ได้เผยแพร่ต่อไป ทำให้มรดกของปู่ย่า ตายายายที่ได้หวงแหนกันมาต่อเนื่อง ได้เผยแพร่ไปมากกว่านี้อีก
“ผมคิดว่าเรามีของดีอยู่แล้ว เรามีวัฒนธรรมที่ดีมากอยู่แล้ว ดังนั้นการสนับสนุนการต่อยอดไม่ใช่เรื่องยากเลย ทำอย่างไรที่จะทำให้เรามีโอกาสที่จะได้พบเพชรเม็ดงามเหล่านี้ แล้วมาเจียระไนให้กลายเป็นเพชรที่เปล่งประกายไปทั่วโลกให้ได้”
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี