เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ-รักษ์ระนอง จี้ นายกฯ ใหม่ ยุติ ‘แลนด์บริดจ์ – พ.ร.บ. SEC’

เตรียมบุกกรุง เรียกร้องรัฐบาลใหม่ ทบทวน ‘แลนด์บริดจ์’ นโยบายเรือธงรัฐบาลเศรษฐา พร้อมขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.SEC ทันที ย้ำ ประเคนที่ดินนับแสนไร่เอื้อทุน ทำลายวิถีชีวิตคนใต้ ชวนย้อนดูบทเรียน หวั่นซ้ำรอยผลกระทบพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก


เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จัดเวที “รู้ทันแลนด์บริดจ์ และ พ.ร.บ. SEC” ภายในเวทีมีป้ายแสดงข้อความสะท้อนความกังวลต่อโครงการแลนด์บริดจ์ เช่น แลนด์บริดจ์ = อุตสาหกรรม เคราะห์กรรมของชาวใต้, ไม่เอาแลนด์บริดจ์ No LANDBRIDGE, No LANDBRIDGE No SEC.ACT, ภาคใต้กำลังจะถูกยึด

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เชื่อว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะยกที่ดินนับแสนไร่ให้ต่างชาติใช้ประโยชน์ ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC กฎหมายฉบับนี้จะบริหารจัดการพื้นที่ใหม่ ให้อำนาจคณะกรรมการชุดหนึ่งสามารถทำได้ทุกเรื่อง เรียกว่าคณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ประธานคือนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการจากรัฐมนตรี 16 กระทรวง ตัวแทนนักธุรกิจ 5 คน ทำหน้าที่บริหารให้ประเทศที่มาลงทุน อำนาจจังหวัดอำนาจท้องถิ่นหายไป และยกเลิกกฎหมายในเขตนี้ เบื้องต้นประมาณ 19 ฉบับ เช่น กฎหมายที่ดิน อุทยานฯ แรงงาน การเงิน รวมถึงร่างกฎหมายใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนได้ทันที กฎหมาย SEC เสมือนเป็นระบบพิเศษ กลไกพิเศษให้พื้นที่ที่ประกาศสามารถอยู่แบบพิเศษได้ โดยกฎหมายไทยไม่สามารถไปบังคับ ในขณะที่ประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายปกติ

เจกะพันธ์ พันธ์มงคล สภาประชาชนภาคใต้  บอกว่า แลนด์บริดจ์เป็นการขนส่งสินค้าเชื่อม 2 ฝั่งทะเล จาก จ. ระนอง ไป อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีความกว้าง 175 เมตร ยาว 90 กิโลเมตร บางช่วงมีการเจาะภูเขาสร้างอุโมงค์ ท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล มีการถมทะเล ขุดร่องน้ำลึก 19 เมตร ยาว 11.5 กิโลเมตร สร้างกำแพงกันคลื่น และมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม รวมพื้นที่ประมาณ 1.5 แสนไร่ นอกจากนั้นยังอ้างงว่า พื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นแผ่นดินของนายทุนต่างชาติ โดยการสัมปทานอย่างน้อย 2 ครั้ง รวมเป็น 99 ปี ทำให้เกิดผลกระทบมหาศาลต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การเวนคืนที่ดินมี 2 ครั้ง คือ การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างแลนด์บริดจ์ และการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ได้ไร่ละประมาณ 2.4 แสนบาท ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์จะได้ค่าชดเชยผลอาสินเท่านั้น

ขณะที่ สมยศ ระวังผิด ชาวบ้าน อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ได้นำเสนอบทเรียนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยระบุว่า ตนอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมและขยะพิษ ทำให้น้ำฝนกินไม่ได้ นำมาทำอาหารไม่ได้เพราะมีมลพิษ สูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม ต้นไม้ตายหรือได้ผลผลิตน้อย บางแห่งทำนาไม่ได้ เขาสร้างเขื่อนขนน้ำผ่านท่อขนาด 2 เมตร นำน้ำจากจันทบุรีมาใช้ในอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร คนในพื้นที่ไม่ได้ทำงานในโรงงาน เขาขนแรงงานข้ามชาติ จากเมียนมา กัมพูชา มาทำงาน และใช้เครื่องจักร AI ทำงานแทนคน อุตสาหกรรมทำให้เราอยู่ยากขึ้น ไม่ได้มีรายได้มากขึ้น แต่มีรายจ่ายมากขึ้น ต้องซื้อน้ำดื่มน้ำอาบน้ำใช้

เครือข่ายฯ ยังได้ร่วมกันแถลงเจตนารมณ์ โดยขอยืนยันว่า

  1. ไม่ต้องการโครงการแลนด์บริดจ์ที่มาทำลายต้นน้ำ ป่าไม้ สายน้ำ การเกษตรและพื้นที่สีเขียว รวมถึงทรัพยากรทางทะเลซึ่งเป็นที่ทำกินหล่อเลี้ยงชีวิต

  2. ขอให้รัฐบาลยุติโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร

  3. ขอให้พรรคภูมิใจไทย และรัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) ออกจากสภาฯ มิเช่นนั้นจะเดินทางไปรัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติทั้ง พ.ร.บ. SEC และโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร

  4. สนข. ต้องยุติการสำรวจเส้นทาง รังวัดพิกัดของโครงการแลนด์บริดจ์ทั้งหมด

  5. ภาคใต้ทำการเกษตร ประมง ท่องเที่ยว มีกิน มีใช้ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องการแลนด์บริดจ์พ่วง พ.ร.บ. SEC

นอกจากนั้นเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และเครือข่ายรักษ์ระนอง ยังหารือจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เตรียมเข้ายื่นหนังสือให้รัฐบาลชุดใหม่ทบทวนนโยบายเรือธงโครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาลชุดเก่า พร้อมทั้งเสนอให้ยกเลิกการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC สู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2567 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวมาก่อนหน้านี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active