‘องค์กรผู้บริโภค’ ชำแหละจุดอ่อน FTA ไทย-อียู เข้มสิทธิบัตรยา ทำบัตรทองสั่นคลอน พร้อมรับเครื่องมือแพทย์มือสอง ขณะที่เกษตรกรแบกหนี้ รับสภาพอาจถูกแย่งสิทธิ์พันธุ์พืช ส่อขัดเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมพบผู้แทนเจรจาสหภาพยุโรป 28 พ.ย.นี้
จากกรณีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัด การเจรจาเอฟทีเอไทย – สหภาพยุโรป (อียู) รอบ 4 ระหว่างวันที่ 25 – 29 พ.ย. 67 ที่กรุงเทพฯ ทำให้เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคมไทย อาทิ เอฟทีเอ ว็อทช์ , เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรทางเลือก, สภาองค์กรของผู้บริโภค และ เครือข่ายนักวิชาการ ร่วมแถลงข่าว “เอฟทีเอไทย-อียู ขัดแย้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ยาแพง เกษตรหนี้เพิ่ม บัตรทองพัง”
หวั่น FTA กระทบบัตรทอง แบกภาระค่ายาเพิ่ม
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ระบุว่า สหภาพยุโรปเสนอข้อผูกมัดเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดกว่าความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก แทบไม่แตกต่างจากที่เคยเจรจาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ เพราะถ้าไทยยอมรับข้อผูกมัดแบบที่เข้มงวดกว่าความตกลงขององค์การการค้า หรือที่เรียกว่า “ทริปส์พลัส” (TRIPS+) ประเทศไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านต่อปี เพราะยาจะมีราคาแพงขึ้น และขัดขวางการแข่งขันของ “ยาสามัญ” ที่มีราคาถูกกว่า บีบบังคับให้ต้องใช้ “ยาต้น” แบบราคาแพงเท่านั้น ระบบหลักประกันสุขภาพจะมีภาระงบประมาณค่ายาเพิ่มมากขึ้นจนอาจแบกรับไม่ไหว
โดยสหภาพยุโรปเสนอให้ไทยยอมรับการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) การขยายอายุสิทธิบัตร (Patent terms Extension หรือ Supplementary Protection Certificate: SPC) และมาตรการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Enforcement) แม้ในการเจรจาจะปรับเปลี่ยนรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ ที่เสนอ เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรเฉพาะในกรณีที่พิจารณาและอนุมัติทะเบียนยาล่าช้า หรือเฉพาะสิทธิบัตรหลักที่คุ้มครองสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredient: AP) แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับการเข้าถึงยาของประชาชนยังคงรุนแรง และไม่อาจยอมรับได้ สหภาพยุโรปควรหยุดเรียกร้องให้มีข้อผูกมัดทริปส์พลัส และผู้แทนเจรจาของไทยควรรักษาจุดยืนที่ไม่ยอมรับข้อผูกมัดทริปส์พลัสเหมือนอย่างที่เจรจาเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศ EFTA
“ข้อตกลงจะห้าม อย. ขึ้นทะเบียนยาถ้ายังติดสิทธิบัตรอยู่ และจะขอขยายเวลาสิทธิบัตรยาจาก 20 ปี บวกเพิ่มไปอีก 5 ปี และถ้ายานั้นใช้รักษาเด็กได้ด้วย ก็จะขอเพิ่มเวลาสิทธิบัตรออกไปอีก คนไทยจะไม่ได้ใช้ยาราคาถูก ส่วนมาตรการ CL ซึ่งระงับสิทธิบัตรยา เพื่อให้เราสามารถถอดยาต้นแบบออกมาผลิตเองเป็นยาสามัญ ก็จะไม่สามารถทำได้อีก”
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล
เฉลิมศักดิ์ บอกด้วยว่า สหภาพยุโรปถือเป็นกลุ่มประเทศตลาดยารายใหญ่ ที่ส่งออกยารักษาโรคต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจที่พยายามผลักดัน และเข้มงวดเรื่องสิทธิบัตรยา เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของตัวเอง
FTA สร้างข้อจำกัด จัดซื้อยา – เวชภัณฑ์
นิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรเอกชน ด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรัง ระบุว่า ในการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปครั้งนี้ สหภาพยุโรปตั้งเงื่อนไขและเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ผ่านมาประเทศไทยมี พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐที่สนับสนุนการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ และยังมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์
“ถ้าไทยต้องเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาของประเทศไทยในระยะยาว เพราะไทยต้องยกเลิกกฎหมายหรือนโยบายที่สนับสนุนการใช้ยาและเวชภัณฑ์ภายในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาด้วย แล้วไปซื้อของจากเมืองนอกแทน ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างทั่วถึง เพราะยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ผลิตในประเทศ และประชาชนเข้าถึงได้ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางยาในระดับหนึ่ง ต่างจากประเทศอื่นที่ผลิตยาเองในประเทศไม่ได้ ซึ่งเห็นได้ชัดในวิกฤตโรคระบาดที่ สปสช. มีนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศ และได้เพิ่มแผ่นปิดกะโหลกไททาเนียมเป็นสิทธิประโยชน์ ซึ่งผลงานการวิจัยพัฒนาของบริษัทคนไทย ”
นิมิตร์ เทียนอุดม
แต่ถ้าไทยยอมรับเรื่องการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไทยต้องยกเลิกกฎหมายและนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศเหล่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมยาและการวิจัยและพัฒนาในประเทศ และความมั่นคงทางยาของประเทศ
ทริปส์พลัส สร้างเงื่อนไข ผูกขาด กระทบรับมือภาวะวิกฤต
อภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย แสดงความไม่ด้วย ที่สหภาพยุโรปยื่นข้อเสนอในการเจรจาเอฟทีเอให้ไทยยอมรับเงื่อนไขแบบทริปส์พลัส โดยมองว่า สหภาพยุโรปกำลังปากว่าตาขยิบและเลือกปฏิบัติ ตอนที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 บางประเทศในสหภาพยุโรปออกกฎหมายในภาวะฉุกเฉินเพื่อแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อจัดหายาและวัคซีนให้กับประชาชนได้โดยไม่มีเรื่องการผูกขาดด้วยสิทธิบัตรมาเป็นอุปสรรค แม้กระทั่งเมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายแล้ว มีการเสนอกฎหมายต่อสภายุโรปเกี่ยวกับการใช้มาตรการ CL ได้สะดวกขึ้นภายใต้ภาวะโรคระบาด แต่ในการเจรจาเอฟทีเอสหภาพยุโรปกลับยื่นเงื่อนไขให้กับประเทศไทยเต็มไปหมด
เกรงไทยแหล่งทิ้งขยะทางการแพทย์มือสอง
มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่น่าห่วงกังวลมากสำหรับผู้บริโภคอีกประการหนึ่งคือ ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้ แม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างตามโรงพยาบาลรัฐก็จะถูกบังคับห้ามปฏิเสธเครื่องมือแพทย์ re-manufacturing เหล่านี้ เกรงว่าในที่สุดไทยจะถูกเป็นที่ทิ้งขยะทางการแพทย์มือสอง
ห่วงเกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ราคาแพง
ขณะที่ นันทวัน หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มองว่า ผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องปฏิเสธการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ดังที่เคยยืนยันหนักแน่นมาแล้วในการเจรจากับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) เพราะ UPOV 1991 คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยให้สิทธิ์เด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งจะทำให้การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ มีความผิดตามกฎหมาย ทำลายศักยภาพนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและเกษตรกร ทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องจ่ายแพงขึ้น ซึ่งเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้น 2 – 6 เท่าตัว
ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมไทยได้นัดพบและหารือกับผู้แทนเจรจาของสหภาพยุโรปในไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ย.นี้ ซึ่งจะนำประเด็นในการแถลงครั้งนี้ไปนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป