‘ปลัดกระทรวงแรงงาน’ ยอมรับ ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ ไม่ยึดเป้า 400 บาท ปรับขึ้นไม่เท่ากันทั้งประเทศ ย้ำยึดตามตัวเลขที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอ พร้อมใช้สูตรคำนวณ พิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่
วันนี้ (12 ธ.ค. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 10/2567 ซึ่งในวันนี้ยังไม่มีการสรุปการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากข้อมูลตัวเลขที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดส่งเข้ามามีจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาพิจารณาตัวเลขทั้งหมดอีกครั้ง โดยจะมีการเปิดประชุมพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง วันที่ 23 ธันวาคมนี้
สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ จะไม่ยึดเป้าที่ 400 บาท แต่จะปรับขึ้นโดยยึดตามตัวเลขที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอเข้ามา ร่วมกับการใช้สูตรคำนวณ และการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ โดยไม่มีความชัดเจนว่า วันที่ 23 ธันวาคมนี้จะได้ข้อสรุปปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ แต่ทุกฝ่ายคาดหวังให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ใช้แรงงาน
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ จะไม่เท่ากันทั้งประเทศ และบางจังหวัดอาจจะไม่มีการปรับขึ้น ทั้งนี้ ต้องรอมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา โดย ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า ความเห็นของกรรมการทั้ง 3 ฝ่าย มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังไม่ได้เปิดเผยว่า การที่ยังไม่สามารถสรุปปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในวันนี้ได้นั้น เกี่ยวกับองค์ประชุมไม่ครบในวันนี้หรือไม่
ทั้งนี้ก่อนเริ่มประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายภาครัฐแจ้งลาการประชุม 2 คน คือ พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ และ วรวรรณ พลิคามิน ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากติดภารกิจเร่งด่วน
ส่วน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายภาครัฐที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ แทนกรรมการเดิมที่ยื่นลาออก คือ อัครุตม์ สนธยานนท์ ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง และ เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เข้าประชุมวันนี้ตามปกติ
ขณะที่ อรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง เปิดเผยว่า ไม่มีความกดดันในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งฝ่ายนายจ้างยินดีให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ขอให้เป็นไปตามรอบที่ควรจะเป็น และตัวเลขต้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ
ส่วน วีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง เปิดเผยว่า ยังหวังค่าจ้างขั้นต่ำที่ 400 บาท แต่ตัวเลขจะออกมาอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งตัวเลขที่ได้มาจากอนุกรรมการค่าจ้างรายจังหวัด ได้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จึงจำเป็นที่จะต้องนำตัวเลขทั้งหมดมาทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีการปรับเปลี่ยน