หวั่น ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ไร้มาตรการปกป้องสังคม-ฟอกเงิน

‘ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน’ เสนอเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจน ไม่ควรให้อำนาจคณะกรรมการกว้างเกินไป​​​​​​​​​​​​​​​​ ด้าน ‘จิรายุ’ เผย นายกฯ ให้ข้อสังเกต พิจารณาต้นแบบ พ.ร.บ. ยึดบทเรียนต่างประเทศที่ทำสำเร็จ ดูแลครบทุกมิติ

วันนี้ (13 ม.ค. 2568) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเพิ่มเติม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยไม่มีปัญหาในหลักการ แต่ควรพิจารณาข้อกฎหมายเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องการพนันและการท่องเที่ยว ซึ่งอาจต้องมีการปรับแก้ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ด้วย 

ขณะที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง ยืนยันถึงความจำเป็นของร่างกฎหมายนี้ เพื่อเสริมสร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ โดยมีคณะกรรมการดูแลเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเล่นพนันของคนไทย 

จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นั้น กฤษฎีกาไม่ได้เห็นแย้งหรือไม่เห็นด้วย เป็นเพียงข้อสังเกตที่ต้องนำเรียน ครม. และจะสามารถนำไปปรับแก้เพิ่มเติมในกฤษฎีกา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างแมนเมดเดสติเนชั่น หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ก็ได้ผ่าน คณะกรรมการกลั่นกรองของรองนายกฯ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และให้ความเห็นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งขอให้นำไปพิจารณาในการออก พ.ร.บ. และให้พิจารณาต้นแบบในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ทำศูนย์กลางท่องเที่ยวและเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในรูปแบบนี้ จนประสบผลสำเร็จ ทั้งในมิติสังคมและทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวข้องมาเป็นข้อศึกษา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทยที่ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบถึงผลดีที่คณะกรรมการศึกษามาว่ามีผลดีมากกว่า

ครม. ย้ำ สัดส่วนคาสิโน แค่ 10%

จิรายุ บอกด้วยว่า ที่ประชุม ครม. ยังได้แสดงความคิดเห็น โดยระบุว่า สัดส่วนของคาสิโน มีเพียงแค่ 10% เท่านั้น ที่เหลือก็จะเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และศูนย์ท่องเที่ยว บันเทิงครบวงจร ที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก เช่น การจัดการประชุม, การจัดนิทรรศการระดับโลก, การจัดคอนเสิร์ต หรือสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สวนน้ำสวนสนุกในรูปแบบสมัยใหม่ และถือว่า ประเทศไทยถึงเวลาที่จะต้องยอมรับความจริงหรือยังว่า วันนี้มีแหล่งการพนันทั้งบนดิน และใต้ดินทั้งในประเทศและรอบ ๆ ประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะเน้นไปที่ การสร้างเม็ดเงินจากธุรกิจการท่องเที่ยวให้กับประเทศ

จากนั้นที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ….. ตามที่ กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา โดยให้นำความเห็น และข้อสังเกตของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 5 รวมทั้งความเห็นไปประกอบการพิจารณา ก่อนที่รัฐบาลจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการ และวาระ 2 การตั้งแปรญัตติ และตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณารายมาตรา และจะเข้าสู่วาระที่ 3 เพื่อลงมติผ่าน พ.ร.บ. จากนั้นจะส่งต่อไปยังสมาชิกวุฒิสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งช

หวั่นไร้มาตรการปกป้องสังคม – ฟอกเงิน

ด้าน รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า รัฐบาลได้เสนอแนวนโยบายนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการที่รัฐบาลเสนอนโยบายดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการนั้น ยังไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้าย จำเป็นต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาให้ครบถ้วน

รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน

รศ.นวลน้อย ยังมองว่า ประเด็นเกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่ยังมีรายละเอียดและประเด็นอื่น ๆ ที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมในการพัฒนาให้เหมาะสม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แม้จะไม่มีปัญหาในภาพรวม แต่ในรายละเอียดมีข้อท้วงติงหลายประเด็นที่ควรพิจารณา 

“ดิฉันเห็นด้วยกับข้อท้วงติงเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการผลกระทบทางสังคม ที่ในร่างกฎหมายปัจจุบันดูเหมือนจะถูกลดทอนลงอย่างมาก”

รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์

จากการรายงานผลการศึกษาของสภาฯ พบว่า ในประเทศอื่น ๆ ที่มีการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ กฎหมายมักจะมีรายละเอียดชัดเจนเพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคม ไม่ใช่เน้นแต่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว การมอบอำนาจกว้าง ๆ ให้กับคณะกรรมการโดยไม่มีหลักประกันชัดเจน อาจทำให้เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะเกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบต่อสังคมให้น้อยที่สุด

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ระบุด้วยว่า อีกประเด็นสำคัญ คือ ผลกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของปัญหาการพนัน และกลุ่มเปราะบางที่อาจเข้าสู่วงจรนี้มากขึ้น การจัดการกับปัญหาเหล่านี้ควรถูกบรรจุไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน ไม่ควรถูกละเลย หรือกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและความยั่งยืนของโครงการในระยะยาว

ขณะที่อีกข้อกังวลอย่างมาก คือ เรื่องการฟอกเงิน เนื่องจากสถานคาสิโนมักเป็นเป้าหมายของการฟอกเงินจากอาชญากรรม แต่ในร่างกฎหมายปัจจุบันกลับไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจน ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกป้องกันการฟอกเงินที่เพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์ของประเทศไทยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว จากปัญหาที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน เช่น การค้ามนุษย์และธุรกิจสีเทาที่มักเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การละเลยเรื่องนี้อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงและยากต่อการควบคุมในอนาคต

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาว่าขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยังไม่ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอย่างเป็นทางการ การประเมินผลกระทบและการตรวจสอบตามหลักธรรมาภิบาลยังคงดำเนินอยู่ ดังนั้น การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังไม่ได้เกิดขึ้น และยังไม่มีเอกสารที่เป็นทางการออกมาให้พิจารณาอย่างละเอียด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active