‘นักเศรษฐศาสตร์’ ชวนย้อนดูบทเรียน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นต่างกับไทย แนะประชามติ ต้องทำควบคู่กัน น่าจับตากว่า คือ ใครจะมาลงทุน ? หวั่นเกี่ยวโยงทุนการเมืองไทย ขณะที่ ‘โฆษกพรรคประชาชน’ หนุนทำประชามติ หาข้อสรุป ด้าน ‘เลขาฯ กฤษฎีกา’ โยนรัฐบาลตัดสินใจ
วันนี้ (21 ม.ค. 68) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับหลักการ ว่า ก็ได้ดำเนินการแล้ว ทำให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมุ่งเป้าไปตามแนวทางรัฐบาล Man - Made Destination เป็นหลักเท่านั้นเอง ถ้าไปอย่างอื่นลำบาก
โยนรัฐบาลตัดสินใจ ‘ประชามติ’
เมื่อถามว่า ต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมความคิดเห็นนานหรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่า รัฐบาลแจ้งมาว่าใช้เวลาได้ไม่เกิน 50 วัน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็จะพยายามรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีการประชุมไปนัดหนึ่งแล้ว ก็ไปได้พอสมควรในเรื่องเค้าโครง ไม่ได้เน้นในเรื่องของกาสิโน หรือเรื่องอะไรอย่างที่พูดกัน เน้น Man-made Destination เป็นหลัก ส่วนการจะมีกาสิโนด้วยก็เป็นไปตามกฏหมายที่มีอยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นจะต้องมีการประชามติฟังเสียงจากประชาชนหรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุ แล้วแต่ฝ่ายบริหาร ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญหรือมีผลกระทบเยอะ ๆ รัฐบาลอาจจะทำได้ ทางกฤษฎีกาไม่ใช่ฝ่ายนโยบายจึงตัดสินใจไม่ได้
‘ประชาชน’ หนุน ประชามติ หวั่นสังคมได้ไม่คุ้มเสีย
ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกพรรค กล่าวถึงข้อเสนอของหลายฝ่ายให้มีการจัดการออกเสียงประชามติ เพื่อหาฉันทามติของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ของรัฐบาล ว่า การพูดถึงนโยบาย Entertainment Complex และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน จะต้องดูในรายละเอียดของร่างกฎหมาย และรายละเอียดของข้อเสนอด้วย เพราะปีศาจ มักจะอยู่ในรายละเอียด
พร้อมย้ำว่า พรรคประชาชน ไม่ได้ติดใจกับการนำสิ่งใต้ดินมาอยู่บนดิน เพื่อการบริหารจัดการกำกับดูแลให้ได้มาตรการ แต่รัฐบาลก็จะต้องพิจารณาว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะได้คุ้มเสียหรือไม่ เช่น ประโยชน์การกระตุ้นการท่องเที่ยว ก็จะต้องพิจารณาถึงสถานที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร, ประโยชน์การนำรายได้เข้ารัฐ ก็จะต้องมีความชัดเจนในรูปแบบการแบ่งรายได้ให้รัฐ และจะมีการจัดสรรรายได้บางส่วนให้ท้องที่ หรือท้องถิ่นที่ตั้งกาสิโนหรือไม่, ประโยชน์จากการจ้างงานของประชาชนในพื้นที่ กลไกประชามติ หรือประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนได้แสดงความเห็น ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลจะโน้มน้าวประชาชนได้หรือไม่
ส่วนข้อเสียที่รัฐบาลควรจะดำเนินการเชิงรุก เพื่อป้องกันนั้น พริษฐ์ เห็นว่า จะต้องป้องกันผลกระทบจากการพนัน ทั้งมาตรการในการกำหนดเกณฑ์ผู้เข้าใช้บริการ หรือการให้สมาชิกในครอบครัว สามารถตัดสิทธิ์คนในครอบครัวตนเองที่มีความเสี่ยงติดการพนันได้เหมือนประเทศสิงคโปร์ รวมถึงกลไกการป้องกันการฟอกเงิน และความโปร่งใส และเกณฑ์การประมูล เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
โฆษกพรรคประชาชน ยังระบุอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ขณะนี้ คาดว่า อยู่ระหว่างการปรับแก้ของคณะรัฐมนตรี และเมื่อส่งมาให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้ว จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นในรายละเอียดเนื้อหาได้มากขึ้น
ชี้จุดเริ่มต้น ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ ไทย ต่าง สิงคโปร์ – ญี่ปุ่น
ขณะที่ รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยเรื่องนี้กับ The Active ว่า ตามที่เคยศึกษาเรื่องที่ว่าด้วยธุรกิจการพนัน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ หรือ กาสิโน มีนัยสำคัญ คือเวลาทำเรื่องแบบนี้ ต้องเริ่มด้วย 2-3 ปัจจัยร่วมกัน หนึ่งในนั้น คือ การทำประชามติ ถือเป็นกลไกหนึ่งเพราะการลักษณะนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้คนในพื้นที่ หากยึดเอาโมเดลของประเทศญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ ก็ผ่านการทำประชามติมาแล้วทั้งสิ้น ประชาชนจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็ตามแต่บริบทของประเทศนั้น ๆ แต่การมีข้อเสนอทำประชามติ จะเป็นกลไกที่แสดงความชอบธรรมในแง่การขับเคลื่อนประเด็นนี้ในสังคม
รศ.รัตพงษ์ ชี้ให้เห็นด้วยว่า ประเด็นของเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ มีจุดเริ่มต้นมาจาก ฝ่ายนิติบัญญัติ ส่งต่อมายังรัฐบาลชุดนี้ และ ครม. ก็เห็นชอบหลักการ แต่คำถามคือ ประเทศไทยทำประชามติแล้วหรือยัง
“กรณีของไทย เริ่มต้นเรื่องนี้มาด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา มีฝ่ายการเมืองเต็มไปหมด เรียกคนนั้นคนนี้มาชี้แจง แต่สำหรับสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เขาทำต่างจากเรา คือ เอาคนที่เป็นฝ่ายวิชาการ เป็นคนกลางมาศึกษาข้อดีข้อเสีย และผลกระทบ พร้อมนำรูปแบบที่สังคมรับได้มาศึกษาวิจัย ในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น รัฐสภา ว่าจ้างให้องค์กร หน่วยงาน หรือสถาบันที่เป็นมืออาชีพมาทำการศึกษา พอเราไปดูงานวิจัยของญี่ปุ่น ก็ชัดเจนว่าให้มืออาชีพทำวิจัยเรื่องนี้เลย มันมีกระบวนการเหล่านี้ แต่ของเราเริ่มต้นจากฝ่ายการเมือง ดังนั้นนี่คือสิ่งที่แตกต่างกัน ในแง่ของการมีคำถามว่า ใครศึกษา”
รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ
รศ.รัตพงษ์ ย้ำว่า โลกความเป็นจริงไม่ได้มีอะไรเริ่มต้นเหมือนกัน แต่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ หลายคนมองว่าต้องการการมีส่วนร่วมตรวจสอบ ช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องความโปร่งใส ดูที่มาของกลุ่มทุนที่มาลงทุน ต้องให้ทุกฝ่ายเห็นฟ้องกัน กระบวนการตรวจสอบจึงสำคัญ
“เวลาเรามองเรื่องนี้ มองว่า จะเปิดดีไหม วันนี้มีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ที่รัฐบาลสนับสนุนธุรกิจประเภทนี้ กระบวนการได้มาซึ่งผู้ประกอบการเป็นเรื่องสำคัญ คำถามคือใครจะเข้ามาทำ ถ้าตอบในฐานะคนทำวิจัย ที่ดูงานมาในหลายประเทศ จะตกใจมาก ถ้าให้คนไทยมาทำเอง เพราะไม่รู้ว่าจะโยงใยการเมือง ทุนการเมืองหรือไม่”
รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ
รศ.รัตพงษ์ ยืนยันว่า การทำประชามติทำได้ และรัฐธรรมนูญ 60 ก็เอื้อให้ทำ แม้มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ไม่ใช่เรื่องยาก สำนักงานสถิติแห่งชาติทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่าสับสน อย่างน้อยที่สุดต้องทำให้ครบกระบวนการ ทำให้ครบถ้วน คนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ เวลาถกเถียงกันเรื่องนี้ ยอมรับว่า สังคมไทย เปิดรับเรื่องนี้ยาก แต่ในฐานะคนทำวิจัยเรื่องการพนัน อย่างน้อยที่สุด ไม่ต่ำกว่า 20 ปี รู้สึกว่า เมืองไทยไม่ได้ถกเถียงเรื่องข้อมูล แต่ถกเถียงกันที่ทัศนคติ เรื่องนี้จึงต้องเอาข้อมูลมาคุยกัน มาวิพากษ์วิจารณ์กัน ว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม
“ถ้าเรามองว่าเรื่องเหล่านี้เลวร้ายจนเกินไป เราก็อยู่ในวังวนตรงนี้ แต่การลงทุนมหาศาลระดับ 2 แสนล้านบาท ซึ่งก็มีขนาดคล้ายกับที่สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยใช้พื้นที่ 3% ทำกาสิโน ถ้ามองในเชิงธุรกิจ ก็คือการลงทุนของประเทศ คำถามคือแล้วใครจะมาลงทุน คนที่จะเข้ามาจัดการคือใคร ถ้าเป็นมืออาชีพ ก็จะรู้ว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหายกับสังคม มีกลไกป้องกันการฟอกเงิน มีความเข้มงวดในมาตรการป้องกันเด็ก เยาวชนเข้าถึงการพนัน แต่สิ่งเหล่านี้เราทำได้หรือไม่”
รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ