50 องค์กรในไทยเสี่ยงปิดตัว หลังงบฯ หายไปกว่า 40% กระทบผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบางกว่า 200,000 คน คาดภายในปี 2030 ทั่วโลกอาจมีผู้ติดเชื้อใหม่อาจพุ่งสูงถึง 1.5 ล้านคนต่อปี หากไม่มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ แนะเพิ่มการสนับสนุนจากภาครัฐ-ขยายการมีส่วนร่วมของเอกชน
จากกรณี ปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โครงการความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุขกลับมาเดินหน้าต่อ หลังศาลแขวงสหรัฐฯ ในโรดไอแลนด์มีคำสั่งให้ US CDC ปลดล็อกคำสั่งระงับกิจกรรม อนุมัติค่าใช้จ่ายช่วงหยุดดำเนินการ และปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและความปลอดภัยทรัพย์สินตามระเบียบทุนสนับสนุน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา
วันนี้ (17 มี.ค. 2568) พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้าน HIV (IHRI) เปิดเผยว่าสถานการณ์การตัดงบสนับสนุนโครงการ HIV ทั่วโลกยังอยู่ในภาวะวิกฤต แม้ว่าศาลสหรัฐฯ จะมีคำสั่งระงับนโยบายของรัฐบาลกลางที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมาก
พญ.นิตยาระบุว่า ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลกตกอยู่ในความไม่แน่นอน โดยในช่วงแรกไม่มีใครทราบว่าจะต้องตอบสนองอย่างไร จนกระทั่งมีองค์กรใหญ่ในสหรัฐฯ หลายแห่ง รวมถึงองค์กรที่ถูกลดงบประมาณลงไปกว่าครึ่ง ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลว่าการกระทำของรัฐบาลนั้นผิดกฎหมายและอยู่นอกเหนืออำนาจที่สามารถทำได้
“ศาลพิจารณาแล้วว่าคำสั่งดังกล่าวผิดกฎหมาย และรัฐบาลต้องยุติการสั่งระงับงบประมาณให้กับองค์กรเหล่านี้” พญ.นิตยากล่าว พร้อมเสริมว่าหลังจากคำสั่งศาลออกมา ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะปฏิบัติตามคำตัดสิน
เธออธิบายว่า กลยุทธ์ขององค์กรภาคประชาสังคมตอนนี้คือการยื่นฟ้องต่อศาล ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ เลือกใช้แนวทางรอคำตัดสินในแต่ละชั้นศาล และอาจมีการอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งหมายความว่าสถานการณ์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน หรือมากกว่านั้น กว่าที่จะมีคำตัดสินสุดท้าย
“แม้ว่าเราจะคาดหวังว่าผลสุดท้ายจะออกมาในทางที่รัฐบาลทำเช่นนี้ไม่ได้ แต่ปัญหาคือจะมีการเยียวยาองค์กรที่ถูกปิดไปแล้วอย่างไร เพราะตอนนี้มีหลายหมื่นองค์กรทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงอีกหลายพันโครงการที่ถูกยกเลิก”
พญ.นิตยายังชี้ให้เห็นว่าถึงแม้บางโครงการจะยังไม่ได้ถูกยกเลิกทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้เนื่องจากไม่มีงบประมาณสนับสนุน และการรอ 90 วันตามที่เคยมีการกล่าวถึง ก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้จริง เพราะระบบการพิจารณาให้เงินสนับสนุนในรอบใหม่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับบริการโดยตรง
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลไม่ได้มาพิจารณาคุณค่าของโครงการว่าเป็นอย่างไร หรือจะส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้ติดเชื้อหรือชีวิตของผู้คนมากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นแค่กระบวนการที่ดูว่าคำถามที่กำหนดให้ตอบครบหรือไม่ และถ้าคะแนนไม่ถึงก็ถูกตัดออก” ผอ.IHRI กล่าว
ในทางปฏิบัติ พญ.นิตยาเผยว่า นับตั้งแต่มีคำสั่งระงับจากศาล รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้มีการคืนงบประมาณหรือแจ้งแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนใด ๆ ทำให้ในระดับองค์กรที่ให้บริการจริง ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“ไม่มีใครมาบอกเราว่าอะไรที่ถูกสั่งให้หยุดไปแล้วสามารถกลับมาได้ หรืออะไรที่เคยถูกระงับสามารถเบิกงบประมาณได้แล้ว ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม” พญ.นิตยา กล่าว
ในช่วงเกือบสองเดือนที่ผ่านมา IHRI และองค์กรอื่น ๆ พยายามหาทางออก แต่ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากภาครัฐหรือหน่วยงานใด ๆ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
พญ.นิตยายังกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า การตัดงบประมาณครั้งนี้กระทบทั้งในส่วนขององค์กรภาคประชาสังคมและภาครัฐ โดยงบประมาณจากสหรัฐฯ ที่เข้ามามีสองส่วน คือ งบที่เข้าสู่ภาคประชาสังคมโดยตรง และงบที่ไปยังหน่วยงานรัฐ เช่น CDC หรือกรมควบคุมโรค ซึ่งหมายความว่าผลกระทบเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย
ในฝั่งองค์กรภาคประชาสังคม กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเงินทุนสำหรับค่าบริการ ค่าจ้างบุคลากร ค่าเช่าสถานที่ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ในอีกสามเดือนข้างหน้า หากไม่มีแผนสำรองเรื่องรายได้ ส่วนภาครัฐได้รับผลกระทบในลักษณะของเงินสนับสนุนกิจกรรมเสริม เช่น การอบรม การพัฒนาศักยภาพ หรือการควบคุมคุณภาพ ซึ่งอาจไม่รุนแรงเท่าภาคประชาสังคม แต่ก็ยังเป็นปัญหา
“เราอยากให้ภาครัฐตระหนักว่ากว่า 30 ปีที่ผ่านมาของการทำงานด้าน HIV องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรมต่อประเทศ ภาครัฐคิดว่าไม่ต้องทำอะไรก็ได้หรือ ถ้าหากองค์กรเหล่านี้ค่อย ๆ หายไป แล้วช่องว่างที่เกิดขึ้นจะมีใครมาดูแล?”
นอกจากนี้ พญ.นิตยายังระบุว่า ประเทศอื่น ๆ และองค์กรสากลยังสอบถามมายัง IHRI ถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ว่าองค์กรต่าง ๆ ยังพอรับมือได้หรือไม่ แต่กลับพบว่าในประเทศเองกลับไม่มีการเคลื่อนไหวหรือการสื่อสารจากภาครัฐเลย
วันเดียวกัน ที่ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้าน HIV (IHRI) มีการจัดประชุมหารือหน่วยงานดำเนินงานด้านเอชไอวีประเทศไทย
สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เปิดเผยว่า ข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2567 พบว่าการดำเนินงานด้าน HIV โดยภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการให้บริการแก่ประชาชน โดยในมาตรการ RRTTPR มีผู้รับบริการรวม 694,192 คน ซึ่ง 85% หรือ 594,613 คน มาจากภาคประชาสังคม ขณะที่ภาครัฐให้บริการเพียง 99,579 คน นอกจากนี้ บริการเพร็พ (PrEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV กว่า 15,000 คนต่อปี หรือ 60% ของจำนวนผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศ (25,000 คน) ก็อยู่ภายใต้การดำเนินงานของภาคประชาสังคม รวมถึงการให้บริการยืนยันเพศสภาพที่ให้บริการมากกว่า 10,000 คนต่อปี
การลดงบประมาณสนับสนุนจาก USAID ลง 30-50% ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ 339 คน ที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าสำนักงานที่ถูกตัดลดลง 30-50% และการขาดแคลนเงินทุนและอุปกรณ์สำหรับให้บริการ เช่น ชุดตรวจ น้ำยาตรวจ และอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการโดยตรง
จากการตัดงบประมาณดังกล่าว คาดว่าผู้รับบริการตามมาตรการ RRTTPR จำนวน 93,186 คน อาจได้รับผลกระทบ โดยแบ่งเป็น MSM/TGW/SW 92,970 คน และ PWID 650 คน นอกจากนี้ ผู้รับบริการตรวจและรักษาโรค HIV, STIs และไวรัสตับอักเสบซี (Hep C) รวม 52,263 คน รวมถึงผู้รับบริการข้ามเพศ 4,372 คน ก็อาจเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ
แม้ว่าบริการเพร็พจะยังสามารถเบิกจ่ายผ่าน สปสช. ได้ แต่ค่าตอบแทนผู้ให้บริการในชุมชนเดิมที่ได้รับจาก USAID จะหายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการให้บริการเพร็พทั่วประเทศ โดยคาดว่าจำนวนผู้รับบริการที่อาจสูญเสียไปอาจสูงถึง 101,306 คน ในขณะที่ภาคประชาสังคมต้องเผชิญกับ ช่องว่างด้านงบประมาณกว่า 277.6 ล้านบาท (หรือประมาณ 8.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการให้บริการและการควบคุมการแพร่ระบาดของ HIV ในประเทศไทย
ด้าน อัจฉรา ภักดีพินิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบดูแลด้านจิตสังคม กองเอดส์ฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การทำงานด้านเอดส์ในประเทศไทยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ การลดอัตราการเสียชีวิต และการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ และตามแผนเอดส์ชาติ มีเป้าหมายยุติเอดส์ในปี พ.ศ. 2573
การดำเนินงานในด้านนี้ต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมาก โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุนจากต่างประเทศ ซึ่งใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการด้านเอดส์ในประเทศไทย โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการระดับชาติที่กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมโรค จากข้อมูลของกองเอดส์ พบว่ากว่า 85% ของงบประมาณที่ใช้ในงานด้านนี้มาจากแหล่งทุนต่างประเทศ หากมีการตัดงบหรือยุติการสนับสนุน จะส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้ติดเชื้อ การลดการเลือกปฏิบัติ และการสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
นอกจากผลกระทบต่อการดำเนินโครงการแล้ว การตัดงบประมาณยังส่งผลต่อสถานะการจ้างงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโครงการหลายตำแหน่ง เนื่องจากบุคลากรจำนวนมากได้รับค่าตอบแทนจากเงินสนับสนุนของแหล่งทุนต่างประเทศโดยตรง หากไม่มีงบประมาณมาทดแทน อาจทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องออกจากงานในส่วนของกองเอดส์มีลูกจ้างโครงการจำนวน 27 คน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการให้บริการลดลง และกระทบต่อเป้าหมายในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แนะนำว่าหนึ่งในแนวทางที่ถูกเสนอคือการมองหาแหล่งงบประมาณภายในประเทศ เช่น งบจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในอดีต กองเอดส์เคยหลีกเลี่ยงการขอรับงบจากแหล่งนี้ เนื่องจากมีงบสนับสนุนจากต่างประเทศเพียงพอ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การใช้ทรัพยากรในประเทศอาจเป็นทางเลือกที่จำเป็น
ด้าน พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการ UNAIDS ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในภาพรวม ประเทศที่พึ่งพางบประมาณจากสหรัฐฯ มากที่สุดสำหรับยารักษา HIV จากข้อมูลในตาราง มี 20 ประเทศที่พึ่งพางบประมาณจากสหรัฐฯ ในการจัดหายารักษา HIV โดยบางประเทศได้รับเงินทุนจากสหรัฐฯ สูงถึง 100% เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เฮติ โมซัมบิก แทนซาเนีย แซมเบีย และยูกันดา เป็นต้น ซึ่งการตัดงบประมาณอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้
การคาดการณ์ผลกระทบจากการไม่ต่ออายุโครงการ PEPFAR (2025-2029) UNAIDS คาดการณ์ว่าหากโครงการ PEPFAR ของสหรัฐฯ ไม่ได้รับการต่ออายุระหว่างปี 2025-2029 และไม่มีแหล่งงบประมาณอื่นมาทดแทน อาจนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรง ดังนี้
- มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์เพิ่มขึ้น 6.3 ล้านคน
- มีเด็กกำพร้าจากเอดส์เพิ่มขึ้น 3.4 ล้านคน
- มีเด็กติดเชื้อ HIV รายใหม่เพิ่มขึ้น 350,000 คน
- มีผู้ใหญ่ติดเชื้อ HIV รายใหม่เพิ่มขึ้น 8.7 ล้านคน
โครงการ PEPFAR (President’s Emergency Plan for AIDS Relief) เป็นโครงการสนับสนุนระดับโลกของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS และช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ปัจจุบัน หลายประเทศใกล้ถึงจุดที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยมีอัตราการตรวจพบเชื้อสูงถึง 95% อัตราการเข้าถึงการรักษา 95% และอัตราการกดเชื้อจนไม่แพร่ต่อให้ผู้อื่น 95% อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้ต้องหยุดดำเนินงาน จะส่งผลให้ความก้าวหน้าที่ใช้เวลาหลายสิบปีต้องสูญเสียไป
หาก PEPFAR ถูกระงับภายในปี 2025 (อีก 2 ปีข้างหน้า) การลดลงของอัตราผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก HIV ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจย้อนกลับไปเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นถึง 99% และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์อาจเพิ่มขึ้นถึง 17% ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขต้องเผชิญกับภาระที่เพิ่มขึ้นและทำให้ความสามารถในการควบคุมโรคลดลง
ภายในปี 2030 (อีก 7 ปีข้างหน้า) หากไม่มี PEPFAR ผลกระทบจะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นถึง 231% หรือมากกว่า 4 ล้านราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์อาจเพิ่มขึ้น 155% หรือมากกว่า 1 ล้านราย นี่หมายความว่าความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จะถูกลบล้างไปอย่างสิ้นเชิง และอาจทำให้สถานการณ์โรคเอดส์กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นทศวรรษ 2000
ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบในระยะสั้นของปี 2025 อาจรุนแรงยิ่งกว่าการคาดการณ์ โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ เนื่องจากระบบสาธารณสุขของหลายประเทศพึ่งพางบประมาณจาก PEPFAR หากการสนับสนุนนี้หยุดลง ระบบสาธารณสุขอาจประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การหยุดชะงักของบริการตรวจหาเชื้อ และการรักษาผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงอย่างรวดเร็ว

จากกราฟในสไลด์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่และผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากไม่มี PEPFAR เส้นกราฟที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเครื่องยืนยันถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก
ดร.พัชรา เสนอว่า การยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญคือการ เปลี่ยนแนวคิดการดำเนินงาน (Paradigm Shift) มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance) และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขในการตอบสนองต่อปัญหา HIV ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care) โดยเน้นบทบาทสำคัญของบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน และสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการด้าน HIV เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการ เพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันและการให้บริการ PrEP (ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมถึง การส่งเสริมบทบาทของชุมชน (Community Role) โดยขยายการเข้าถึงบริการตรวจ HIV ด้วยตนเอง (HIV self-testing) ให้สามารถดำเนินการได้สะดวกและครอบคลุมกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง
ขณะเดียวกัน การจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมและยั่งยืน ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน รัฐควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริการที่นำโดยชุมชน รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ
สุดท้าย การพัฒนา กลไกใหม่ (New Mechanism) เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมโดยรัฐบาลไทย จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถวางรากฐานที่มั่นคงในการยุติปัญหาเอดส์ในระยะยาว และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ พญ.นิตยา กล่าวสรุปทางออกของปัญหานี้ ในระยะเร่งด่วน รัฐควรให้การยอมรับ (recognize) ถึงบทบาทและความสำคัญของภาคประชาสังคม รวมถึงผลกระทบที่ภาคประชาสังคมได้สร้างขึ้นต่อระบบสุขภาพโดยรวม หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการปลดล็อกงบประมาณที่ติดค้างอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งเป็นค่าบริการที่ สปสช. ได้จ่ายไปแล้วให้กลับคืนสู่ภาคประชาสังคม สิ่งนี้จะช่วยให้ภาคประชาสังคมสามารถดำเนินงานต่อไปได้ในช่วงเวลาวิกฤต
ทางออกระยะกลางเพื่อให้งานเดินหน้าได้ ควรมีการปฏิรูปกฎระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ที่ขัดขวางไม่ให้ภาคประชาสังคมสามารถจัดบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ควรมีการปลดล็อกข้อบังคับที่จำกัดไม่ให้ภาคประชาสังคมเป็นหน่วยบริการสุขภาพอย่างเป็นทางการและสามารถรับงบประมาณเพื่อจัดบริการเหล่านี้ได้ หากสามารถดำเนินการแก้ไขในระดับนโยบายได้ จะช่วยให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทมากขึ้นในระบบสุขภาพของประเทศ
ทางออกระยะยาวเพื่อความยั่งยืน เครือข่ายภาคประชาสังคมต้องสามารถเข้าถึงงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนได้โดยตรง เพื่อใช้ในการพัฒนาบริการสุขภาพที่ครอบคลุมและเท่าเทียม การทำให้ภาคประชาสังคมกลายเป็นหน่วยบริการหนึ่งในระบบสุขภาพของประเทศอย่างถาวร (ไม่ใช่เพียงหน่วยสนับสนุนตามมาตรา 3) จะช่วยให้สามารถรองรับและตอบสนองต่อประเด็นสุขภาพในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน