ร้องยูเนสโก ตรวจสอบสัมปทานแหล่งหินอุทยานธรณีโลก จ.สตูล

เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ร้องยูเนสโกตรวจสอบโครงการให้สัมปทานแหล่งหินครอบคลุมเขา 3 ลูก อุทยานธรณีโลก ชี้ มีการรวบรัดขั้นตอนดำเนินการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.แร่

วันนี้ ( 22 มี.ค.65 ) ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จังหวัดสตูล ได้เดินทางมาที่หน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ก่อนจะร่วมกันอ่านแถลงการณ์ และยื่นเรื่องถึงองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  หรือ  UNESCO  โดยใจความสำคัญระบุว่า ตามที่ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้จังหวัดสตูล เป็น ”แหล่งอุทยานธรณีระดับโลก” หรือ Satun Geopark แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2562 ด้วยเป็นที่ประจักษ์ ว่าผืนดินแห่งนี้ มีบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่าอันเกิดจากการสร้างแหล่งออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น ต่อมาเมื่อมีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขาและถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณจนมาถึงยุคปัจจุบัน ที่ยังมีผู้คนดำรงชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ภายใต้การพึ่งพาฐานทรัพยากรอันทรงคุณค่า  และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

แต่ในขณะนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล อยู่ระหว่างดำเนินการอนุญาตให้มีการสัมปทานแหล่งหิน หรือระเบิดหินอุตสาหกรรมในจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นภูเขาจำนวน 3 ลูก คือ เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ในอำเภอทุ่งหว้า,  เขาจูหนุงนุ้ย ในอำเภอละงู และเขาโต๊ะกรัง ในอำเภอควนโดนถึงอำเภอควนกาหลง  ทั้งยังพบว่ากระบวนการดำเนินการดังกล่าวมีการรวบรัดขั้นตอนและมีความไม่ชอบในการดำเนินการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ และที่มากไปกว่านั้น คือจังหวัดสตูลถูกยกย่องให้เป็นเมืองอุทยานธรณีระดับโลก ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่กลับปล่อยให้มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอสัมปทานแหล่งหินได้อย่างปกติทั่วไป เสมือนไม่มีความหมายสำคัญที่ควรค่าแก่การดูแลรักษาเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของอุทยานธรณี ตามที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศไว้

“ ตอนนี้ที่มีการดำเนินการไปแล้วเรื่อง EIA 2 ฉบับ และพบว่าที่เขาโต๊ะกรัง มีการแอบจัดเวทีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ซึ่งในพื้นที่ไม่มีใครรู้เลย และเป็นช่วงที่ชาวบ้านไม่คาดคิดว่าจะมีการจัดเวทีแบบนั้นในช่วงการระบาดโควิด   และที่เห็นชัด คือเขาลูกเล็กลูกใหญ่ EIA ผ่านไปแล้ว มีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไปแล้วด้วย ทั้งๆที่ตอนชาวบ้านไปร่วมสำรวจกับนักวิชาการป่าไม้ในพื้นที่ได้มีการเซ็นรับรองว่าป่าแห่งนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำพื้นที่ซับน้ำ  เป็นพื้นที่ป่าโซน C หมายความว่า เป็นพื้นที่เข้าข่าย ห้ามดำเนินการ ตามมาตรา17 ในพระราชบัญญัติแร่ ถ้าเป็นป่าแหล่งน้ำซับซึม จะอนุญาตให้มีการสัมปทานไม่ได้  รวมถึงหากจะมีการใช้ประโยชน์ป่าโซน C ต้องเป็นมติ ครม.เท่านั้น  ไม่ทราบเหมือนกันว่ากรมป่าไม้อนุญาตได้อย่างไร “

สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

ด้านตัวแทนประชาชนในพื้นที่  ได้สะท้อนความกังวลต่อการออกสัมปทานแหล่งหินที่จะส่งผลต่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งการท่องเที่ยวชุมชนระบบนิเวศที่จะเสียหาย และผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะกับนักเรียนในพื้นที่

“ โรงเรียนในพื้นที่ คือโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ จ.สตูล ซึ่งมีนักเรียนชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 รวม2,000 คน มีทั้งนักเรียนประจำ และไป-กลับ  หากมีการระเบิดหินทำเหมือง มีฝุ่นละอองที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพนักเรียน ประชาชนในพื้นที่แน่นอน และภูเขาโต๊ะกรัง ยังเป็นกำแพงที่จะกั้น พายุลม ประชาชนละแวกนั้นจะได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศเสียหาย การท่องเที่ยวชุมชนซึ่งเป็นประโยชน์ของส่วนรวมจะผลกระทบไปหมด “ 

มูฮัมหมัด ปะดุกา ผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ จ.สตูล 


มูฮัมหมัด ปะดุกา  ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ จ.สตูล 

ขณะอยู่ระหว่างที่องค์กรยูเนสโกกำลังประเมินอุทยานธรณีโลกครั้งที่สอง การเรียกร้องและนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่เครือข่ายฯเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่จะได้สื่อสารไปที่รัฐบาลไทยและจังหวัดสตูล เพราะถ้ามีการระเบิดหินก็จะส่งผลกระทบต่ออุทยานธรณีโลกอย่างมาก ซึ่งทางเครือข่ายฯเห็นว่าจังหวัดนี้ ควรจะเป็นจังหวัดแรกด้วยซ้ำ ที่ต้องยกเลิกการสัมปทานแร่ทั้งหมด 

จากนั้นทางเครือข่ายฯได้มีการประชุมหารือกับผู้แทนยูเนสโกผ่านระบบซูม และในช่วงบ่ายจะเข้ายื่นหนังสือ ต่อคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ