UNESCO รับรองต้มยำกุ้งเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติซึ่งเป็นรายการที่ 5 ของไทย ลุ้นต่อ ‘เคบายา’ เสื้อสตรีภาคใต้ที่เสนอร่วม 4 ประเทศในอาเซียน
4 ธ.ค. 2567 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)ได้มีมติรับรองให้ ‘ต้มยำกุ้ง’ (Tomyum Kung) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) ประจำปี 2567
ที่ผ่านมาประเทศไทยก็เคยมีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโกแล้ว 4 รายการ คือ โขน นวดไทย โนรา และประเพณีสงกรานต์ของไทย เมื่อปี 2561 2562 และ 2564 ตามลำดับ และในปีนี้ 2567 รายการที่ 5 ล่าสุดคือ ต้มยำกุ้ง
ก่อนหน้านี้ เมื่อ พ.ศ. 2554 ต้มยำกุ้งได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ระบุว่า หลังจากที่มรดกวัฒนธรรมของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว วธ.มีแนวทางการส่งเสริมและต่อยอดตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหาร และด้านแฟชั่น โดยใช้เศรษฐกิจทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ
อาหาร คือ หนึ่งใน 11 อุตสหกรรมเป้าหมายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลด้วย นอกจากอาหารแล้ว ไทยได้เสนอ “เคบายา (Kebaya)” ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองของสตรีในภาคใต้ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ร่วมกับ 4 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์
- อ่านเพิ่ม : ย้อนรอยซอฟต์พาวเวอร์ กับ 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย