แนะอัยการเป็นตัวแทนเจรจาซื้อขายที่ดินรอบเหมือง – ใช้กองทุนเหมืองแร่ฯเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ – มีหน่วยงานกลางพิสูจน์ผลกระทบ พร้อมเล็งตรวจสอบพื้นที่เหมืองอัคราฯ แปลง 2 อยู่ในแผนแม่บทจัดการแร่หรือไม่
วันนี้ (22 มี.ค. 2566) ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยกับ The Active ถึงข้อกังวลหลังจากเหมืองทองอัคราฯ กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้มีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองมายัง กสม. ก่อน คสช. มีคำสั่งปิดเหมืองทองตาม ม.44
6 ปีหลังเหมืองหยุดดำเนินกิจการ สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่บ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ยังเหลือชาวบ้านที่ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจำนวน 2 หลังคาเรือน ต้องการเจรจาขายที่ดิน เนื่องจากไม่ต้องการอยู่ในพื้นที่ใกล้เหมือง
กรณีนี้ได้หยิบมาพูดคุยเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางจังหวัดพิจิตร ได้เชิญหลายหน่วยงานเข้าไปหารือถึงการตรวจสอบการดำเนินกิจการของเหมืองทองคำแห่ง นี้ก่อนที่จะเปิดดำเนินการ ตาม พ.ร.บ. แร่ ที่กำหนดให้มีการตรวจสอบและมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น
โดย กสม.ได้มีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1. ขอให้อัยการจังหวัดช่วยเจรจาการซื้อขายที่ดินระหว่างชาวบ้านกับบริษัทเหมืองทอง ซึ่งไม่ควรเป็นไปตามราคากลไกตลาดเนื่องไม่ใช่การซื้อขายธรรมดา เพราะใต้ผืนดินที่มีการซื้อขายกรรมสิทธิ์อาจมีสินแร่อยู่ด้วย นอกจากในพื้นที่บ้านเขาหม้อ การขยายพื้นที่ทำเหมืองไปถึงแนวเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ยังทำให้มีชาวบ้านบางส่วนบริเวณนั้นต้องการเจรจาซื้อขายที่ดินในราคาที่เป็นธรรมเช่นกัน
2. กรณีปัญหาสุขภาพมีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 1 ครอบครัว ที่ติดขอบเหมืองทองร้องเรียนเข้ามาที่ กสม. จากแผลและอาการผื่นคัน ซึ่งชาวบ้านไม่ไว้ใจการตรวจของสาธารณสุขจังหวัด จึงขอให้ กรมอนามัย เก็บประวัติผู้ป่วยไปตรวจสอบ ขณะที่ผลตรวจน้ำประปาจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่ามีปัญหาจากระบบน้ำประปาที่เสื่อมเสีย แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าเกี่ยวข้องกับเหมืองทองหรือไม่ แผลที่เกิดขึ้นมาจากการใช้น้ำบาดาลที่ถูกนำมาใช้เป็นน้ำประปา กสม. จึงเสนอให้ใช้กองทุนจากเหมืองแร่ เข้าไปรับผิดชอบผู้ร้องเรียนในเบื้องต้นก่อน โดยไม่ต้องรอให้ผลออกมาว่าเกี่ยวข้องกับเหมืองหรือไม่
และ 3. ในระยะยาวหลังจากที่เหมืองได้ใบประทานบัตรกลับมาทำเหมืองอีกครั้ง แม้ล่าสุดในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบระดับจังหวัด 3 ฝ่ายไตรภาคี แต่หากเกิดปัญหาอาจไม่ได้ข้อยุติจากบทเรียนในอดีต ที่มีหน่วยงานตรวจสอบเก็บตัวอย่าง หลายหน่วยงาน ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายบริษัทเอกชน มีผลตรวจออกมาไม่ตรงกัน จึงเสนอว่าควรมีหน่วยงานที่เป็นกลาง (third party) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งชาวบ้านและบริษัเหมืองทองเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบ และทำฐานข้อมูลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เอาไว้เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ศยามล กล่าวอีกว่า ยังจะตรวจสอบพื้นที่การทำเหมืองของบริษัท อัคราฯ ที่ขยายไปสู่แปลงที่ 2 ว่าตรงกับ แผนแม่บทจัดการแร่ กับกรมทรัพยากรธรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือไม่ เพราะแผนดังกล่าวได้กำหนดพื้นที่การการทำเหมืองแร่เอาไว้ ซึ่งจะบริษัทจะต้องไม่ดำเนินนอกเขตตามที่ที่แผนแม่บทกำหนดไว้