องค์การอนามัยโลกเชิญชวนปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากภัยยาสูบ โดยพบว่า บุหรี่สร้างความเสียหาย 3.5 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่า ร้อยละ 2.1 ของ GDP ไทยพบก้นบุหรี่ 2.5 พันล้านชิ้นถูกทิ้ง ต้องใช้เวลา 10 ปีในการย่อยสลาย
วันนี้ (17 พ.ค. 2565) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย จัดการสัมมนาภาคีเครือข่ายและแถลงข่าวเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2565 โดยกระทรวงสาธารณสุข กำหนดคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2565 คือ “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ
พญ.โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การปลูกต้นยาสูบ การผลิต จัดจำหน่าย การสูบ และขยะจากบุหรี่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศ ประมาณการความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่ มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับ ร้อยละ 2.1 ของ GPD ดังนั้น มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จึงดีต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
รศ.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ยาสูบ ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม ยาสูบผลิตขยะพลาสติกและขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัว และสัตว์ทะเล 100,000 ตัว ตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี
จากการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะ พบว่า ร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม เช่น บนทางเท้า ชายหาด ฯลฯ ก้นบุหรี่เป็นเศษของตัวกรองบุหรี่พลาสติกที่มีสารก่อมลพิษและเป็นพิษอันดับต้น ๆ ที่พบในแหล่งน้ำต่าง ๆ เป็นของขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดในโลก ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการย่อยสลาย โดยก้นบุหรี่ถูกทิ้งทั่วโลก 4.5 ล้านล้านชิ้นต่อปี และขยะก้นบุหรี่ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในไทย
ด้านกระบวนการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบยังต้องแผ้วถางพื้นที่ 200,000 เฮกตาร์ (1.25 ล้านไร่) ต้องตัดต้นไม้จำนวนมากเพื่อเตรียมพื้นที่ทำไร่ยาสูบ รวมทั้งการเผาไม้เพื่อใช้ในการบ่มใบยาสูบหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหารและปัญหาด้านโภชนาการ รวมถึงการฟื้นฟูคุณภาพดินหลังการทำไร่ยาสูบมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่ขั้นตอนการเพาะปลูกยาสูบ ต้องใช้น้ำในปริมาณเท่ากับคนหนึ่งคนใช้น้ำตลอดทั้งปี วัฏจักรทั้งหมดของบุหรี่หนึ่งมวน นับตั้งแต่การปลูก การผลิต การกระจายผลิตภัณฑ์ การใช้และการกำจัด จะต้องใช้น้ำ 3.7 ลิตร ดังนั้น หากเลิกสูบบุหรี่จะสามารถประหยัดน้ำได้มากถึง 74 ลิตรต่อวัน การผลิตยาสูบทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 84 ล้านเมตริกตันต่อปี เทียบเท่ากับการปล่อยจรวด 280,000 ลำสู่อวกาศ ควันบุหรี่มีส่วนทำให้ระดับมลพิษทางอากาศสูงขึ้น โดยเกิดก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ซึ่งสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายในอาคารและกลางแจ้ง
“ยาสูบยังทำลายสุขภาพของเกษตรกรที่ทำไร่ยาสูบ โดยพบระดับความเข้มข้นของอะลูมิเนียมและสารหนูในเลือดสูงขึ้น เนื่องจากการสัมผัสยากำจัดศัตรูพืชบางชนิดสะสมเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ รวมทั้งความพิการแต่กำเนิด เนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงและร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ความผิดปกติทางระบบประสาท และการทำงานผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ยาสูบทำลายสุขภาพของเด็ก โดยปกติแรงงานเด็กในไร่ยาสูบเป็นกลุ่มเปราะบางและมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากน้ำหนักตัวเด็กสัมพันธ์กับสัดส่วนของนิโคตินที่ดูดซึมผ่านผิวหนังจากการสัมผัสกับใบยาสูบ ยุวเกษตรกรเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1 เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการผันตัวเองมาเป็นผู้สูบบุหรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะที่สตรี จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากอันตรายของการทำไร่ยาสูบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นของภาวการณ์มีบุตรยากและปัญหาด้านการเจริญพันธุ์”
รศ.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้าน อภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทางทะเล จึงได้สำรวจปริมาณและประเภทของขยะ พบก้นกรองบุหรี่กระจายเกลื่อนชายหาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งชายหาดแต่ละแห่งมีก้นกรองบุหรี่ตกค้างมากกว่า 1 แสนชิ้น จึงคิดโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ขึ้นมาโดยนำร่อง 24 ชายหาด 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล ที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่และทิ้งก้นกรองบุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทาง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ก้นกรองบุหรี่เป็นขยะที่พบได้บ่อยที่สุด มีการประมาณการว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีปริมาณการผลิตและใช้ก้นกรองบุหรี่มากถึง 4.5 ล้านล้านชิ้น เฉพาะในประเทศไทย มีก้นบุหรี่ผลิตขึ้นมากกว่า 100 ล้านชิ้น ที่กลายเป็นขยะไปตกอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ
“ขยะจากก้นกรองบุหรี่ ประกอบด้วย สารเคมี เช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็ง ทำให้น้ำทะเลและน้ำสะอาดมีพิษ และยังเป็นพิษต่อจุลินทรีย์และสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ส่วนสัตว์ขนาดใหญ่มักได้รับผลกระทบจากการกินขยะประเภทนี้ จนเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ในการผลิตก้นกรองบุหรี่ยังมีพลาสติกที่ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 2-12 ปี ปัจจุบันหลายประเทศตระหนักถึงปัญหาขยะจากก้นบุหรี่และรณรงค์ลดขยะด้วยวิธีต่าง ๆ จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทช. พร้อมที่จะขยายผลการดำเนินโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ ไปยังทุกชายหาดในโอกาสต่อไป”
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้าน รศ.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ในปี 2558 โดยการตรวจวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ที่บริเวณพักผ่อนใต้ร่มและเก้าอี้ พบว่า ทั้ง 2 ชายหาด พบปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าเฉลี่ย 260 และ 504 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และพบค่าสูงสุดถึง 716 และ 1,335 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณฝุ่นขนาดเล็กสูงกว่ามาตรฐานกำหนด 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ถึง 27 เท่า คุณภาพอากาศจึงไม่เหมาะสมกับการเป็นชายหาดมีชื่อเสียงซึ่งผู้คนมาพักผ่อน ที่สำคัญเป็นการแสดงถึงการได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างมาก
“เห็นด้วยกับมาตรการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด หรือชายหาดปลอดบุหรี่ เพื่อไม่ให้มีควันบุหรี่มาทำลายสุขภาพ เพราะนอกจากควันบุหรี่มือสอง มือสาม จะเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ตัวก้นบุหรี่ที่เหลือทิ้งเป็นเศษขยะและตัวก้นกรองที่ประกอบด้วยไมโครพลาสติก ก็เป็นอันตรายอย่างยิ่งในสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ทีมวิจัยได้ศึกษาก้นบุหรี่บริเวณชายหาดโดยได้ทุนสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และร่วมกับนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น”
รศ.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชมที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์ในปีนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ และหลาย ๆ หน่วยงานก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีนโยบาย มีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด เพราะในต่างประเทศมีการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาดมานานแล้ว ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ อย่างแคลิฟอร์เนียก็มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดชัดเจน เนื่องจากก้นบุหรี่เป็นขยะหมายเลขหนึ่งของชายหาด
“เรียกร้องให้ทุกหน่วยงาน รวมถึงผู้ที่ยังสูบบุหรี่อยู่ เลิกสูบ และหันมาร่วมกันทำสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ ปลอดบุหรี่ เพื่อทำให้มีโอกาสเลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น การสำรวจครั้งล่าสุดปี 2557 พบว่า มีคนไทยที่เป็นความดันสูงหรือเบาหวานที่ยังสูบบุหรี่มากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งคนที่มีโลกประจำตัวทั้ง 2 โรคนี้ที่สูบบุหรี่ จะเร่งให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองและไตเสื่อมเร็วขึ้น จึงขอให้ตัดสินใจมุ่งมั่นที่จะเลิกสูบบุหรี่ โดยขอให้แจ้งแก่แพทย์เวลามาติดตามรักษาโรคประจำตัวว่า ต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ เพื่อขอให้แพทย์ช่วยแนะนำวิธีปฏิบัติ รวมทั้งอาจให้ยารักษาเลิกบุหรี่ ขณะเดียวกัน ผู้สูบบุหรี่ต้องเริ่มต้นด้วยการไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ในรถ ซึ่งจะทำให้การเลิกสูบบุหรี่ง่ายขึ้น”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ด้าน นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนการดำเนินการดูแล ปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ปลอดบุหรี่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปกป้องทุกคนในสังคม แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราด้วย
ผู้ที่ต้องการร่วมรณรงค์ หรือขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพื่อขอรับสื่อได้ที่ www.smokefreezone.or.th หรือติดต่อที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2278-1828