ประกาศเจตนารมณ์ เร่งบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ให้กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อยุติการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเล พร้อมกำหนดโควต้าที่เป็นธรรมในการจับสัตว์น้ำ
วันนี้( 2 มิ.ย.65 ) ที่หาดทุ่งน้อย อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านทั้ง ฝั่งอ่าวไทย อันดามัน และชายฝั่งตะวันออก นำโดย ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ล่องเรือทางไกล “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยระบุว่า กระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย กำลังส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศ ต่อชุมชนชายฝั่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ เข้าถึงอาหารทะเลได้น้อยลง
การรณรงค์ครั้งนี้ ต้องการกระตุ้นให้ทุกคนทุกฝ่าย ได้ตระหนักถึงปัญหาการจับ – การซื้อ – การขาย – การบริโภค “สัตว์น้ำวัยอ่อน” ซึ่งทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาทต่อปี ทำร้ายชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กหลายแสนคน ที่สำคัญคือ ทำลายโอกาสการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ด้วยการปล่อยให้นำ “อาหารทะเล” น้ำหนัก มากกว่า 3 ร้อยล้าน กิโลกรัม ถูกป่นราคาถูก ๆ ผลประโยชน์ตกอยู่กับ กลุ่มทุนอุตสาหกรรมประมง และ กลุ่มประกอบการอาหารสัตว์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งชาวประมง ผู้ซื้อ ผู้ขายคนกลาง และผู้บริโภค ต้องตระหนักเรื่องนี้ และภาครัฐ ไม่ควรโยนภาระให้ชาวประมง ในฐานะผู้ผลิต ผู้บริโภคไม่ซื้อเท่านั้น แต่ต้องบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ที่มีกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ทันที
“อันนี้ระบุชัดเจนในกม.ทั้งมาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดขนาดและชนิดพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ส่วนอีกมาตรานึงเอะหากติดมา 1-2 ตัวจะผิดรึเปล่า ก็จะมีในมาตรา 71(2) ที่พูดถึงเรื่อง การออกข้อกำหนด ซึ่งรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะออกข้อกำหนด วิธีปฏิบัติกรณีที่จับสัตว์น้ำได้บังเอิญ ฉะนั้นรัฐมนตรีเกษตรสามารถออกประกาศได้เลย ในการป้องกันแก้ปัญหาการทำลายหรือจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากเกินไป“
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
ด้าน นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เห็นว่า รัฐควรต้องกำหนดสัดส่วนโควต้าการจับสัตว์น้ำที่เป็นธรรม เพราะตอนนี้ประมงพานิชย์ได้โควต้ามากถึง 82 % ในขณะที่ ประมงพื้นบ้านทั่วประเทศเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าแค่ 18% ต้องเผชิญกับความยากจน
“สัดส่วนนี้ ทำให้ประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก จับสัตว์น้ำได้แค่ 18% แม้จะไม่ได้กำหนดจำนวนวัน แต่เขาไม่มีโอกาส เพราะว่าเรือประมงพื้นบ้าน 50,814 ลำ เขารอจับสัตว์น้ำตัวเต็มวัย ต่อให้ประมงขนาดเล็กจับสัตว์น้ำทุกวัน ในรอบปีก็ไม่มีโอกาส เพราะสัตว์น้ำขนาดเล็กขนาดใหญ่จำนวนมากถูกกอบโกยจากประมงที่มีเครื่องมือศักยภาพสูงกว่าไปหมดแล้ว“
ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
จากนั้นทั้งหมดได้ตั้งขบวนริมหาดทุ่งน้อย ส่งตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านทั้งฝั่งอ่าวไทย อันดามันและตะวันออก ล่องเรือรณรงค์มุ่งหน้าทะเลปรานบุรี ตั้งเป้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ เทียบท่า ณ สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา และขอเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนและการกำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนต่อไป